ซีพีเอฟ โชว์เทคโนโลยีฟาร์มกุ้งระบบโรงเรือนปิดครบวงจร ช่วยป้องกันโรค EMS เพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยง

ข่าวทั่วไป Thursday December 19, 2013 16:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--ซีพีเอฟ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหารจำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เปิดฟาร์มกุ้งระบบโรงเรือนปิดครบวงจรร้อยเพชร โชว์เทคโนโลยีการผลิตทันสมัยผ่านระบบการจัดการสุขาภิบาลฟาร์ม (Biosecure system) ป้องกันโรค มั่นใจผลผลิตโดยรวมของประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ผลผลิตของบริษัทปีหน้าเพิ่มเป็น 50,000 ตัน น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาสตร์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายงานเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและสายงานวิจัยและพัฒนาพันธุ์สัตว์และเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ กล่าวว่า สถานการณ์การผลิตกุ้งของไทยจะเห็นภาพชัดเจนขึ้นช่วงกลางปีหน้า เนื่องจากสถานการณ์โรค EMS (Early Mortality Syndrome) ในประเทศคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น โดยคาดว่าผลผลิตโดยรวมของประเทศน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 350,000 ตัน ขณะที่ผลผลิตของ ซีพีเอฟ จะเพิ่มขึ้นจาก 30,000 ตัน ในปีนี้ เป็น 50,000 ตัน ในปีหน้า “เราคาดว่ากลางปีทั้งผลผลิตกุ้งประเทศและราคาจะดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ฟาร์มต่างๆ สามารถแก้ปัญหา EMS ได้ เริ่มเลี้ยงกุ้งและมีผลผลิตออกมา” น.สพ.สุจินต์ กล่าว สำหรับฟาร์มร้อยเพชรแห่งนี้เป็นฟาร์มเลี้ยงกุ้งหนาแน่นสูงในโรงเรือนปิดด้วยระบบน้ำหมุนเวียน ซึ่งเป็นฟาร์มต้นแบบของบริษัท ซึ่งเป็นแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นสถานที่วิจัยและพัฒนาการเลี้ยงกุ้งด้วยเทคโนโลยีทั้งระบบ รวมทั้งเป็นฟาร์มสาธิตการเลี้ยงระบบโรงเรือนปิด เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตให้สูงขึ้น เลี้ยงกุ้งได้ตลอดทั้งปีด้วยระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ เพื่อนำไปสู่การเลี้ยงแบบยั่งยืนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตามมาตรฐานความปลอดภัยทางอาหารสากล ที่สำคัญระบบโรงเรือนปิดเป็นระบบที่ช่วยป้องกันความสูญเสียจากโรค EMS สู่การผลิตอาหารปลอดภัยแบบยั่งยืน นอกจากนี้ ฟาร์มร้อยเพชรยังมีระบบการจัดการฟาร์มที่ทันสมัย โดยการติดตั้งระบบอัตโนมัติ ทั้งการให้อาหารและการเติมอากาศ ทำให้การแลกเปลี่ยนอาหารของกุ้งดีขึ้น และสามารถเลี้ยงกุ้งได้ 3 ขนาด ตั้งแต่ลูกกุ้งจนถึงกุ้งขนาดใหญ่พร้อมจับขายภายในโรงเรือนเดียวกัน ทำให้สะดวกในการเคลื่อนย้ายที่สำคัญปราศจากการการติดโรคที่อาจะเกิดขึ้นระหว่างการขนส่งได้ โดยเฉพาะในช่วงที่มีการระบาดของโรค EMS ทำให้บริษัทมีผลผลิตลูกกุ้งเพิ่มขึ้นเป็น 6-7 รุ่นต่อปี เทียบกับฟาร์มระบบเปิดของเกษตรกรที่ผลิตได้ 4-5 รุ่นเท่านั้น ทั้งนี้ บ่ออนุบาลของซีพีเอฟ ยังสามารถเลี้ยงลูกกุ้งขาวได้ 2,200 ตัวต่อตารางเมตรและใช้เวลาเลี้ยงเพียง 20 วัน, บ่อกุ้งรุ่น สามารถเลี้ยงกุ้งได้ 850 ตัวต่อตารางเมตร ใช้เวลา 45 วัน และบ่อกุ้งใหญ่เลี้ยงกุ้งได้ 500 ตัวต่อตารางเมตร ใช้เวลา 40 วัน ทำให้ทั้งกระบวนการเลี้ยงจนสามารถจับกุ้งได้ประมาณ 100 วัน ซึ่งระยะเวลาเลี้ยงจะสั้นกว่าการเลี้ยงในระบบปกติที่ใช้เวลาประมาณ 120 วัน น.สพ.สุจินต์ กล่าวว่า ด้วยระบบเทคโนโลยีทันสมัยร่วมกับระบบการจัดการสุขาภิบาลฟาร์ม, การสร้างสมดุลในบ่อเลี้ยงและการบริหารการจัดการฟาร์มที่ดี ทำให้ฟาร์มแห่งนี้สามารถเลี้ยงกุ้งได้หนาแน่นได้ดีกว่าการเลี้ยงทั่วไป เปรียบเทียบฟาร์มเปิดทั่วไปที่ปล่อยลูกกุ้ง 80-100 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร แต่ในโรงเรือนปิดลักษณะนี้สามารถปล่อยลูกกุ้งได้สูงถึง 250 ตัวต่อลูกบาศก์เมตร “ด้วยองค์ประกอบต่างๆ ทั้งหมดทำให้บริษัทสามารถควบคุมปัจจัยการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้สามารถเพิ่มรอบการเลี้ยงและเพิ่มผลผลิตได้เป็นอย่างดี ระบบปิดยังเหมาะกับภาวะที่เกิดโรคระบาดกุ้ง” น.สพ.สุจินต์ กล่าว ฟาร์มร้อยเพชรเริ่มก่อตั้งเมื่อปี 2549 บนเนื้อที่ 3,000 ไร่ แบ่งพื้นที่ฟาร์มออกเป็นสองเฟส โดยเฟสแรกครอบคลุมพื้นที่ 1,400 ไร่ ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์เป็นระบบโรงเรือนปิดครบวงจร ส่วนเฟสที่สองบนเนื้อที่ 1,500 ไร่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2558 ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาวัสดุทดแทนในการก่อสร้างโรงเรือนและอุปกรณ์ติดตั้งภายในฟาร์ม เพื่อให้ต้นทุนต่ำกว่าในเฟสแรก อย่างไรก็ตาม บริษัทยังให้ความสำคัญกับการทำฟาร์มกุ้งทั้งระบบเปิดและโรงเรือนสาธิตระบบปิดควบคู่กันไป โดยบริษัทมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเลี้ยงในโรงเรือนระบบปิด เพื่อช่วยป้องกันโรคไปยังเกษตรกรด้วย น.สพ.สุจินต์ กล่าวว่า จากแนวคิดการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี Biosecure System ที่จัดการการเลี้ยงภายใต้สภาพแวดล้อมที่สามารถควบคุมได้ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านต่างๆ ควบคู่ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้การส่งออกกุ้งเป็นอุตสาหกรรมที่มั่นคงยั่งยืน และสร้างมาตรฐานความปลอดภัยในอาหารเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ความสำเร็จจากพัฒนาการเลี้ยงระบบปิด ทำให้บริษัทสามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีไปยังประเทศต่าง ๆ ที่บริษัทมีการลงทุน เช่น จีนและเวียดนาม มีการเลี้ยงกุ้งในระบบปิดเช่นเดียวกับในประเทศไทย แต่ขนาดของฟาร์มมีขนาดเล็กกว่า เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าผลผลิตของบริษัทมีความปลอดภัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ