ทิสโก้ชี้ปีม้าตลาดหุ้น “ญี่ปุ่น-สหรัฐ-จีน-ยุโรป” มาแรง หลังสัญญาณเศรษฐกิจโลกฟื้น

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday December 26, 2013 17:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ธ.ค.--ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป ทิสโก้ประเมินกลยุทธ์การลงทุนไตรมาส 1 ปี 2557 ตลาดหุ้นต่างประเทศยังมาแรง หลังสัญญาณเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวชัดเจน แนะเพิ่มสัดส่วนลงทุนตลาดหุ้นญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน และยุโรป พร้อมแนะลดน้ำหนักหุ้นไทย หลังโดนพิษการเมืองป่วน ทิสโก้ เวลธ์ (TISCO Wealth) บริการที่ปรึกษาการเงินการลงทุนครบวงจรจากทิสโก้ โดยศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์กลุ่มทิสโก้ (TISCO ESU) ประเมินกลยุทธ์การลงทุนในไตรมาส 1 ปี 2557 ว่า การลงทุนในตลาดหุ้นจะยังคงให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจนขึ้น รวมถึงการที่ธนาคารกลางของสหรัฐฯ (Fed) ได้ลดปริมาณการอัดฉีดสภาพคล่อง ผ่านการซื้อสินทรัพย์ (QE) เป็นจำนวน 7.5 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ จาก 8.5 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อเดือน จากการฟื้นตัวที่ดีของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เป็นปัจจัยที่จะเริ่มส่งผลให้นักลงทุนมีแนวโน้มที่จะลดสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ และหันมาเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้น (Great Rotation) เพื่อหลีกเลี่ยงการขาดทุนจากการปรับตัวขึ้นของดอกเบี้ยที่จะเกิดขึ้นจากทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของ Fed โดยตลาดหุ้นที่น่าสนใจ TISCO Wealth ให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ จีน เอเชียเหนือ และกลุ่มประเทศหลักของยุโรป และแนะนำให้ลดน้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้น ไทย อินเดีย และ ละตินอเมริกา โดยภาพรวมของ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น คาดการณ์การเติบโตของกำไรในปี 2557 อยู่ในระดับถึง 14% ประกอบกับค่า P/B ที่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นพัฒนาแล้วและแนวโน้มค่าเงินเยนที่จะอ่อนค่าลงจากการลด QE ของ Fed ทำให้เชื่อว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่นยังมี Upside มากกว่า 20% ในปี 2557 จึงแนะนำให้ซื้อลงทุน ด้าน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงแนะนำซื้อ และ Selective Buy สำหรับ ตลาดหุ้นยุโรป (กลุ่มประเทศหลัก) แนะนำให้ซื้อลงทุนเช่นกัน แม้ Valuation ของทั้ง 2 ตลาด ในปัจจุบันจะสูงกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง โดยปัจจุบันค่า P/E 2014 ของ S&P500 อยู่ที่ 14.8 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 14.0 เท่า ส่วนค่า P/E 2014 ของ Euro STOXX 50 อยู่ที่ 12.5 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ย 5 ปีที่ 10.6 เท่า โดยเชื่อว่าตลาดหุ้นเหล่านี้ มีปัจจัยพื้นฐานแข่งแกร่งและมีความเสี่ยงจำกัดในการถูกปรับลดแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ ส่งผลให้ยังคงมองว่าตลาดดังกล่าวมี Upside ตามแนวโน้มการเติบโตของผลกำไรในปี 2557 ซึ่งอยู่ในระดับ 10-15% ส่วน ตลาดหุ้นจีน แนะนำซื้อลงทุน จากปัจจัยการส่งออกที่จะฟื้นตัวตามประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก (G3) การปฏิรูปเศรษฐกิจของจีน และ Valuation ที่ยังอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งในช่วงตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน ผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในดัชนี Hang Seng China Enterprise Index (HSCEI) มีการขยายตัวขึ้น 72% หรือคิดเป็นอัตราเฉลี่ย 14.5% ต่อปี ในขณะที่ดัชนี HSCEI ปรับตัวลดลงราว 20% ในช่วงเดียวกัน ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนมี Upside ที่ดี และการปฏิรูปเศรษฐกิจจะส่งผลให้จีนโตอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น และมีความน่าลงทุนมากขึ้นต่อนักลงทุนทั่วโลก สำหรับ ตลาดหุ้นเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมญี่ปุ่น) แนะนำซื้อเช่นกัน เนื่องจากคาดการณ์ผลกำไรที่มีแนวโน้มขยายตัวขึ้นตามการฟื้นตัวของการส่งออก ซึ่งได้รับประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ G3 และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และ Valuation ซึ่งยังอยู่ในระดับที่น่าสนใจ P/E ปี 2557 ที่ 11.4 เท่า ทางด้าน ตลาดหุ้นไทย อินเดีย และละตินอเมริกา “แนะนำให้ลดน้ำหนักและหลีกเลี่ยงการลงทุน” เนื่องจากหุ้นไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหาทางการเมืองยืดเยื้อ ที่น่าจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 1 ปี 2557 และส่งผลให้คาดการณ์ผลกำไรของหุ้นไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดลงอีกในอนาคต บวกกับภาพรวมเศรษฐกิจต่างที่เริ่มมีการชะลอตัวมากขึ้น ส่วนตลาดหุ้นอินเดีย และ ละตินอเมริกา Valuation ยังอยู่ในระดับที่แพง พร้อมทั้งยังคงถูกกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงและมุมมองทางเศรษฐกิจที่ยังไม่มีการฟื้นตัวที่ชัดเจน สำหรับปัจจัยที่น่าจับตามองต่อการลงทุน ประกอบด้วย 1. การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจในประเทศที่พัฒนาแล้ว (กลุ่มประเทศ G3) เช่น สหรัฐญี่ปุ่น และเศรษฐกิจหลักในกลุ่มประเทศยุโรป (European Core Countries) ซึ่งยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนการลงทุนในหุ้น 2. การส่งออกของเอเชีย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศหลัก เช่น สหรัฐยุโรป และ จีน ถือว่าเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจในตลาดเกิดใหม่ที่เริ่มมีการชะลอตัวลง ซึ่งเชื่อว่าเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่จะเริ่มกลับมาขยายตัวขึ้นจากการส่งออกที่ฟื้นตัวขึ้นและปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีแนวโน้มที่จะปรับตัวขึ้นตามไปด้วย และ 3. ความคืบหน้าในการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน ซึ่งในเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา ทางจีนได้แถลงนโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจในแผนพัฒนา 10 ปีของประเทศ ซึ่งเป็นนโยบายที่จะส่งเสริมเสถียรภาพในการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในระยะยาว ซึ่งหากมาตรการดังกล่าวมีความคืบหน้าในทางปฏิบัติก็จะช่วยเพิ่มแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชียที่มีความเกี่ยวข้องกับจีนเป็นอย่างมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ