สพฉ.ตั้ง “ศูนย์ประสานงานสารสนเทศเพื่อความปลอดภัยของการปฏิบัติการฉุกเฉินในเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง”

ข่าวทั่วไป Tuesday January 14, 2014 15:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สพฉ.ตั้ง “ศูนย์ประสานงานสารสนเทศเพื่อความปลอดภัยของการปฏิบัติการฉุกเฉินในเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง” หนุนการทำงานทางการแพทย์ให้เกิดความปลอดภัย พร้อมสนับสนุนการลำเลียงผู้ป่วยทั้งทางบก-น้ำ-อากาศ แนะประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมจำสายด่วน 1669 ให้ขึ้นใจ และตรวจเช็คจุดปฐมพยาบาล นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ) กล่าวว่า สพฉ. ได้จัดตั้ง “ศูนย์ประสานงานสารสนเทศเพื่อความปลอดภัยของการปฏิบัติการฉุกเฉินในเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง” ขึ้น ระหว่างวันที่ 13-25 มกราคม พ.ศ.2557 เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมและสนับสนุน ประสานงานการปฏิบัติงานต่างๆ ให้เกิดความปลอดภัย และให้มีการจัดเก็บข้อมูลสารสนเทศที่เป็นประโยชน์ในด้านความปลอดภัยระหว่างสถานการณ์การชุมนุม โดยศูนย์ฯ ดังกล่าวจะมีการวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผลการดำเนินงาน ตลอดจนปัญหา ข้อขัดข้อง และแนวทางแก้ไขให้คณะกรรมการอำนวยการดำเนินงานทราบทุกวัน หรือตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับปรุงการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งจะต้อง.เตรียมความพร้อมระบบสื่อสารให้พร้อมใช้ตลอด24 ชั่วโมง และพิจารณาตัดสินใจการใช้รถสื่อสารสั่งการเคลื่อนที่โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นสำคัญนอกจากนี้ยังเป็นศูนย์ฯสนับสนุนการลำเลียงผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บทางบก อากาศยาน และทางน้ำประสานการปฏิบัติการของชุดปฏิบัติการ และผู้ปฏิบัติการภาคสนามให้เกิดความปลอดภัยในขณะปฏิบัติหน้าที่ สำหรับการทำงานของศูนย์ฯ จะส่งเจ้าหน้าที่ลงปฏิบัติการภาคสนาม โดยจะต้องประสานงานกับผู้บัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่ เพื่อขอข้อมูลด้านความปลอดภัย โดยผู้ปฏิบัติงานจะต้องใส่ชุดที่แสดงสัญลักษณ์ในการปฏิบัติการของชุดปฏิบัติการโดยมีอักษรคำว่าSafety Officerหรือ เจ้าหน้าที่ควบคุมความปลอดภัย และจะต้องทำหน้าที่ประมวลผลความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรง มีการบันทึกถ่ายภาพประกอบเพื่อความน่าเชื่อถือ นพ.อนุชา กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ปฎิบัติการในพื้นที่ ที่เป็นทีมกู้ชีพจะต้องสวมชุดแสดงตนให้ชัดเจน และสำหรับประชาชนที่ไปชุมนุมหรือจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ที่มีการชุมนุมควรจดจำหมายเลขสายด่วน 1669 ให้ขึ้นใจเมื่อมีเหตุบาดเจ็บฉุกเฉิน และหากมีโรคประจำตัวควรพกยาติดตัวสำรองยาไว้ด้วย อีกทั้งควรตรวจสอบจุดปฐมพยาบาลในพื้นที่ชุมนุมให้แน่ชัด หลีกเลี่ยงจุดที่ไม่ปลอดภัย และที่สำคัญจะต้องหลีกทางรถพยาบาลเพื่อให้ผู้บาดเจ็บ ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ