กนอ. มอบรางวัล Eco Champion 6 นิคมฯ มุ่งเน้นการพัฒนาใน 5 มิติหลัก 22 ด้าน

ข่าวทั่วไป Tuesday January 14, 2014 16:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ม.ค.--การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กนอ. ได้สนับสนุนให้นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ตั้งแต่ปี 2553 โดยมีนิคมฯ นำร่อง ปีละ 3 นิคม และภายในปี 2557 มีเป้าหมายยกระดับนิคมอุตสาหกรรม 15 แห่ง เข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และนิคมอุตสาหกรรมที่เปิดดำเนินงานแล้วทั้งหมดทั่วประเทศ จะเข้าสู่การเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ภายในปี 2562 กนอ. มีการประเมินผลเพื่อให้การรับรองการเป็น “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” ในระดับ Eco Champion จากนิคมฯ นำร่องในปี 2553 – 2555 จำนวน 9 แห่ง สำหรับเกณฑ์การประเมินมีองค์ประกอบหลักใน 3 ส่วน คือ มีความพร้อมทั้งด้านนโยบาย คณะทำงานและเครือข่าย ตลอดจนมีการบริหารจัดการ ISO 14001 การแสดงถึงความรับผิดชอบในผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินงานของนิคมฯ และเกณฑ์ Eco Champion จะพิจารณาใน 5 มิติ 22 ด้าน โดยคำนึงถึงความมุ่งมั่นในการที่จะยกระดับการพัฒนานิคมฯ มุ่งสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ และดำเนินการให้สอดคล้องครบถ้วน และสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการพัฒนาและบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมรวมถึงความท้าทายของประเด็นการพัฒนา (Business Model) ซึ่งเป็น Road Map ของการยกระดับพัฒนาการดำเนินงานของนิคมฯ นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานกรรมการ กนอ. เปิดเผยว่า การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีการพัฒนาพื้นที่แบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนตั้งแต่เริ่มพัฒนาโครงการ ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาใน 5 มิติหลัก 22 ด้าน บนพื้นฐานความสมดุลของเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สังคม ความสอดคล้องกับกฎหมาย และความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาในทุกๆ มิติควบคู่ด้วยกันไป โดยแนวทางดังกล่าวจะคำนึงถึงการยอมรับการพัฒนาจากชุมชน การไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า ร่วมไปกับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในด้านต่างๆ ด้วยการร่วมมือช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของผู้ประกอบการ เพื่อเข้าสู่ความยั่งยืนใน 5 มิติหลักได้แก่ 1. มิติกายภาพ มุ่งเน้นการออกแบบเชิงนิเวศ (Eco – Design) สำหรับการออกแบบ / วาง ผังก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคการให้สอดคล้อง กลมกลืนกับธรรมชาติ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีความพอเพียงคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และปลอดภัย 2. มิติเศรษฐกิจ การสร้างความเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพและเสถียรภาพให้กับท้องถิ่น จังหวัด ประเทศ พร้อมไปกับความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนโดยรอบ 3. มิติสิ่งแวดล้อม สร้างสมดุลของทรัพยากร กระบวนการผลิต ผลิตภัณฑ์ และการก่อเกิดของเสีย (Balance of Input – Production Process – Output) ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า และประหยัด (Eco – Efficiency) เพื่อมุ่งสู่สังคมที่มีการหมุนเวียนวัสดุกลับมาใช้ใหม่ โดยใช้หลัก 3Rs, อุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ และการสร้างครือข่ายของการเกื้อกูลและพึ่งพากันของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนทรัพยากรพลังงาน และวัสดุเหลือใช้ร่วมกันหรือการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเพื่อลดต้นทุนและความยั่งยืน 4. มิติสังคม พนักงานทั้งของ กนอ. และโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม รวมทั้งชุมชน มีคุณภาพชีวิตที่ดี ก่อให้เกิดความสุขขององค์กรและสามารถอยู่ร่วมกับชุมชน อย่างผาสุกและยั่งยืน 5. มิติการบริหารจัดการ นิคมอุตสาหกรรม และโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม มีการบริหารจัดการที่ดีโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ นายวิฑูรย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นิคมอุตสาหกรรมที่เป็น Eco – Champion จะต้องรักษาความเป็น Eco อย่างต่อเนื่องด้วยการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล และการมีส่วนร่วม พร้อมทั้งพัฒนายกระดับเข้าสู่การเป็น Eco ในระดับที่สูงกว่าต่อไป ซึ่งผลการประเมินปรากฏว่ามีนิคมอุตสาหกรรมนำร่อง จำนวน 6 แห่ง ที่ได้รับการรับรองการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ดังนี้ - นิคมอุตสาหกรรมหนองแค The Most Trusted Partnership มุ่งสู่ “เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ” โดยพัฒนาออกแบบระบบสาธารณูปโภคให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้มีความเพียงพอและมีประสิทธิภาพ ประสาน บูรณาการ และสร้างความสัมพันธ์กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้ามามีส่วนร่วมในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายชุมชนในพื้นที่โดยบูรณาการกับเครือข่าย CSR ของโรงงาน มุ่งสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ พัฒนาและรักษาระบบบริหารจัดการ BCM ตามมาตรฐานสากล - นิคมอุตสาหกรรมบางชัน มุ่งสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดย พัฒนาระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการอย่างยั่งยืน บริหารจัดการทรัพยากรและควบคุมภาวะอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและสนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชนและพนักงาน บริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมอย่างมีส่วนร่วมและยกระดับการกำกับดูแล - นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ (ลำพูน) มุ่งสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันแก่ชุมชนอย่างยั่งยืน เสริมสร้างขีดความสามารถของผู้มีส่วนร่วม ยกระดับการจัดการกากอุตสาหกรรม/วัสดุเหลือใช้ พัฒนาระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการอย่างยั่งยืน - นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ มุ่งสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดย บริหารจัดการน้ำทิ้งโดยนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปรับปรุงระบบวงจรและความปลอดภัยในพื้นที่ พัฒนานิคมฯ อมตะซิตี้เป็นนิคมอุตสาหกรรมสีขาว เสริมสร้างชุมชนและสังคมเข้มแข็ง มุ่งสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ - นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง มุ่งมั่นบูรณาการความร่วมมือ ยกระดับเครือข่ายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ พัฒนาระบบสาธารณูปโภคให้มีประสิทธิภาพอย่างยั่งยืน บริหารจัดการพื้นที่แบบมีส่วนร่วมด้วยเครือข่าย CSR / PR / ECO ยกระดับการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย พลังงาน และเสริมสร้างนวัตกรรม - นิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร มุ่งสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ โดย ปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค /สาธารณูปการอย่างยั่งยืน พัฒนาศูนย์เผยแพร่พัฒนาและบริหารจัดการเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ยกระดับการกำกับดูแลโรงงาน (ด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน และความปลอดภัย) ประยุกต์ใช้นวัตกรรมสำหรับเทคโนโลยีในการผลิตและการจัดการสิ่งแวดล้อม ขับเคลื่อนการบริหารจัดการนิคมฯ ด้วยกลไกการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ จะส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม และเศรษฐกิจของประเทศ ควบคู่กับการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างผาสุกบนหลักธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ด้วยการบริหารจัดการตามมาตรฐานและเกณฑ์ตัวชี้วัดการเป็นเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศใน 5 มิติ 22 ด้าน เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ