ผักปลอดสารพิษที่เชียงใหม่...กินได้ปลอดภัย

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday February 10, 1998 14:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--10 ก.พ.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
การบริโภคผักผลไม้เป็นอาหารเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับคนไทย เพราะนอกจากราคาค่อนข้างถูกแล้วผักผลไม้ยังมีคุณค่าทางโภชนาการครบเกือบทุกหมวดหมู่ แต่ในปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในขบวนการเพื่อเพิ่มผลผลิต เช่น การใช้ยาฆ่าแมลงในปริมาณสูงจนมีผลตกค้างและอาจเกิดอันตรายต่อผู้บริโภค
ดร.เรณู โกยสุโข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่หันมานิยมบริโภคผักผลไม้ที่ผลิตขึ้นเองภายในประเทศ จนผู้ผลิตหรือเกษตรกรต้องนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการเพิ่มผลผลิต เช่น การกำหนดระยะเวลาเพาะปลูก การใช้สารเคมีหรือการคัดเลือกสายพันธุ์ เพื่อประโยชน์ในการกำหนดราคาด้านการตลาด หรือการนำออกจำหน่ายที่รวดเร็วและถูกต้องตามฤดูกาล แต่ทั้งนี้ผลจากการใช้เทคโนโลยีดังกล่าว โดยเฉพาะการใช้สารเคมี อาจทำให้ผู้บริโภคหรือตัวเกษตรกรเองได้รับผลตกค้างของยาฆ่าแมลง ยากำจัดวัชพืชหรือสารเคมีทางด้านการเกษตรอื่น ๆ โดยเฉพาะยาฆ่าแมลงในกลุ่มคาร์บาเมต และออร์กาโนฟอสเฟต ซึ่งเกษตรกรนิยมใช้เพราะมีประสิทธิภาพสูงและออกฤทธิ์ได้รวดเร็ว เมื่อร่างกายได้รับสารนี้แล้วจะมีอาการคลื่นไส้ วิงเวียน อ่อนเพลีย อาเจียน ท้องเดิน หรือเมื่อได้รับมากจนเกินค่าความปลอดภัยแล้ว ก็อาจมีอาการตาพร่า กล้ามเนื้อกระตุก แน่นหน้าอก และอาจเสียชีวิตได้
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่อไปว่า จังหวัดเชียงใหม่เป็นแหล่งผลิตพืชผักผลไม้ที่สำคัญของประเทศ หลายหน่วยงานทางการเกษตรและองค์กรเอกชน รวมทั้งเกษตรกรเอง ได้ตระหนักถึงพิษภัยดังกล่าว ได้หันมาใช้วิธีการผลิตพืชผักผลไม้แบบปลอดสารพิษ ซึ่งกรรมวิธีนี้จะได้ผลผลิตน้อยกว่า จึงมีราคาสูงกว่าผักทั่ว ๆ ไปในท้องตลาด และขณะนี้พืชผักดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายมากขึ้น ในท้องตลาดของเชียงใหม่ พบว่ามีผักปลอดสารพิษผลิตจากจังหวัดเชียงใหม่และลำพูน รวม 8 แห่ง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาตร์การแพทย์เชียงใหม่ จึงดำเนินโครงการตรวจผักผลไม้เหล่านั้น โดยใช้ชุดทดสอบเบื้องต้นที่ผลิตโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งใช้ตรวจสอบยาฆ่าแมลงตกค้าง กล่มคาร์บาเมตและออกาโนฟอสเฟตบางตัว ในผักผลไม้ ซึ่งกลุ่มยาฆ่าแมลงดังกล่าวนี้เป็นที่นิยมใช้แพร่หลาย จากผลการตรวจสอบยาฆ่าแมลง ในผักปลอดสารพิษ 7 ชนิด รวม 28 ตัวอย่าง พบว่ามียาฆ่าแมลงตกค้างอยู่ร้อยละ 18 แต่ปริมาณที่ตกค้างอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยในการนำมาบริโภคตามข้อกำหนดของประเทศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 163 (พ.ศ.2538) เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง สำหรับสาเหตุการตกค้างศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์เชียงใหม่ จะได้ตรวจสอบและบันทึกไว้เป็นข้อมูลอ้างอิงต่อไป
ดร.เรณู โกยสุโข กล่าวในตอนท้ายว่า นอกจากชุดทดสอบที่ใช้ตรวจวิเคราะห์ หาสารเคมีตกค้างที่กรมฯ ผลิตขึ้นใช้เองแล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังมีโครงการที่จะจัดตั้ง ห้องปฏิบัติการที่มีประสิทธิภาพสูงในศูนย์วิทยาศาตร์การแพทย์ เชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นหน่วยงานหลักในการตรวจวิเคราะห์หาสารเคมีตกค้างในผัก ผลไม้หรืออาหารชนิดอื่น อย่างครบวงจร ซึ่งจะสามารถคุ้มครองผู้บริโภคให้ปลอดภัยจากการได้รับสารเคมีตกค้างได้ในระดับหนึ่ง--จบ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ