วันอาสาฬหบูชา

ข่าวทั่วไป Thursday July 22, 1999 12:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--22 ก.ค.--สวช.
มีคำสอนของผู้เฒ่าแก่ที่เราเคยได้ยินมาตั้งแต่เด็กแล้ว ซึ่งถ้าเราปฏิบัติตามก็จะช่วยให้การดำเนินชีวิตของเราประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง นั่นก็คือการดำเนินชีวิตโดยวิธีการ “เดินทางสายกลาง” เพราะถ้าใช้ชีวิตแบบหย่อนเกินไป หรือประมาทไม่มีความรอบคอบก็อาจก่อให้เกิดผลเสียตามมามากมาย และถ้าใช้ชีวิตแบบเกินไปหรือเครียดเกินไปโดยที่ไม่มีการยืดหยุ่นเลย ก็จะเกิดปัญหาตามมาเช่นกัน
ดังนั้นการใช้ชีวิตโดยวิธี “การเดินสายกลาง” จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด และเหมาะกับการดำเนินชีวิตทุกยุคทุกสมัย ซึ่งก็น่าแปลกใจที่คำสอนของคนโบราณเป็นจริงเสมอ แต่ในปัจจุบันคนส่วนใหญ่มักจะไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคำสอนเหล่านี้ เพราะคนรุ่นใหม่ในสังคมไทยปัจจุบันนี้ชอบใช้ชีวิตโดยยึดถือความสบายเป็นหลัก จึงก่อให้เกิดปัญหามากมายในปัจจุบันนี้
ความเป็นจริงแล้วการใช้ชีวิตโดยวิธีการ “เดินทางสายกลาง” นั้นมาจากการแสดงปฐมเทศนา (เทศน์กัณฑ์แรก) เนื้อหาว่าด้วยทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ของพระพุทธเจ้าซึ่งแสดงในวันเพ็ญเดือน 8 เมื่อครั้งบรรพกาล โดยพระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ธรรมจักกัปปวัตนสูตร เป็นผลให้เกิดมีพระสาวกรูปแรกขึ้นในพระพุทธศาสนา จนถือได้ว่าเป็นวันแรกที่มี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ควรเป็นองค์พระรัตนตรัย
โดยมีผู้ที่ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้าจบแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล แล้วทูลขอบวชเป็นพระสาวกรูปแรกที่เป็นประจักษ์พยานในการตรัสรู้ของพระพทุธเจ้า ทั้งนี้ประเทศไทยเป็นประเทศแรกในบรรดาประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา แล้วได้ประกาศให้วันขึ้น 15 ค่ำเดือนอาสาฬหะ หรือเดือน 8 เนื่องในโอกาสเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเข้าทรงประกาศพระศาสนาครั้งแรก ให้เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาคือ “วันอาสาฬหบูชา” ซึ่งในปีนี้ตรงกับ วันที่ 27 กรกฎาคม 2542
สำหรับการถือปฏิบิตในวันอาสาฬหบูชาในประเทศไทยนั้น ได้มีการกำหนดให้เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อพุทธศักราช 2501 โดยพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) ครั้งดำรงตำแหน่งสัฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษาได้เสนอคณะสังฆมนตรี ให้เพิ่มวันศาสนพิธีทำพุทธบูชาขึ้นอีกวันหนึ่งคือวันธรรมจักรหรือวันอาสาฬหบูชาด้วย เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมจักกัปวัตนสูตร คณะสังฆมนตรีลงมติรับหลักการให้เพิ่มวันอาสาฬหบูชาและให้ถือเป็นหลักปฏิบัติในเวลาต่อมา โดยออกเป็นประกาศคณะสงฆ์เรื่องกำหนดวันสำคัญทางศาสนา เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2501 และในวันเดีวกันนั้นได้มีประกาศสำนักสังฆนายกกำหนดระเบียบปฏิบัติในพิธีอาสาฬหบูชาขึ้นไว้ให้วัดทุกถือปฏิบัติทั่วกัน
ในส่วนของหลักธรรมที่ควรปฏิบัติก็มีอยู่หลายประการด้วยกันคือ มัชฌิมาปฏิปทา แปลงว่าทางสายกลาง หมายถึง ข้อปฏิบัติที่ทำให้บรรลุนิพพานไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป ซึ่งประกอบด้วยหลักธรร 8 ประการ คือ
1. สัมมาฑิฏฐิ แปลว่า ความเห็นชอบ
2. สัมมาสังกัปปะ แปลว่า ความดำรงชอบ
3. สัมมาวาจา แปลว่า การเจรจาชอบ
4. สัมมากัมมันตะ แปลว่า การทำงานชอบ
5. สัมมาอาชีวะ แปลว่า เลี้ยงชีพชอบ
6. สัมมาวายามะ แปลว่า เพียรชอบ
7. สัมมาสติ แปลว่า ระลึกชอบ
8. สัมมาสมาธิ แปลว่า ตั้งใจมั่นชอบ
ทั้ง 8 ประกานี้เป็นทางสายกลางทีดีที่สุด การปฏิบัตินี้นเริ่มด้วยการทำความเข้าใจเป้าหมายให้ ชัดเจนแล้วคิดหาทางไปถึงเป้าหมายนั้นให้ได้ ซึ่งก็พบว่าต้องเริ่มต้นด้วยการทำจิตใจให้สงบไม่เอนเอียงไปทางข้างตึงหรือข้างหย่อน โดยอาศัยการฝึกสติเป็นตัวนำ พร้อมทั้งเพียรระวังไม่ให้ความคิดที่ไม่ดีเกิดขึ้น เมือเกิดขึ้นแล้วก็เพียรละให้ได้ ขณะเดียวกันก็เพียรให้เกิดความคิดที่ดีขึ้น
ในวิถีชีวิตของปุถุชนนั้นย่อมมีความสำเร็จเป็นเป้าหมายของชีวิต ซึ่งย่อมแตกต่างกันไปตามความปรารถนาของแต่ละคน บางคนปรารถนาความร่ำรวยเป็นความสำเร็จ บางคนปรารถนาความีชื่อเสียงเป็นความสำเร็จ ความร่ำรวยและความมีชื่อเสียงเป็นองค์ประกอบให้ถึงความสำเร็จได้ 2 ส่วน ส่วนแรกเกิดจากผู้ปรารถนาเอง และส่วนที่ 2 เกิดจากสิ่งแวดล้อมสนับสนุน อันอาจได้แก่ บุคคล กาลเทศะ ผู้ปรารถนาต้องทำให้เกิดความพอดีระหว่างตนเองกับสิ่งแวดล้อมสนับสนุน
ความพอดีส่วนตนนั้นก็เริ่มจากทำความเข้าใจให้ชัดเจนว่าคืออะไร มีขอบเขตแค่ไหนแล้วคิดหาทางไปสู่ความสำเร็จนั้นได้อย่งไร เมื่อพบทางแล้วก็ประคับประคองความคิดนั้นให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องในลัษณะไม่เคร่งเครียดจนกร้าว หรือปล่อยเฉยจนเฉี่อยชาในขณะเดียวกันก็ประคับประคองการแสดงออกทั้งกายและวาจา ให้สอดคล้องกับความคิดจนเข้าได้กับบุคคล กาลเทศะ อย่างไม่เสียหลักธรรม
ความพอดีดังกล่าวมานี้เรียกได้ว่า “ทางสายกลาง” ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติส่วนตนที่เกี่ยวกับส่วนรวมก็มีทางนำมาประยุกต์ใช้ได้ คืนงานของหมู่คณะจะสำเร็จได้ก็ด้วยอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย หากทุกผ่านที่เกี่ยวข้องยึดถือ “ทางสายกลาง” ก็ย่อมทำให้งานดำเนินไปได้ด้วยดี แม้จะไม่ราบรืนและไม่เรียบร้อยในตอนแรกแต่ด้วยอาศัยการทำงานแบบทางสายกลาง ก็จะทำให้เกิดความคิดการกระทำและคำพูดที่พอดีต่อกันในกลุ่มผู้ร่วมงาน ซึ้งในที่สุดก็ยอมรับกันได้ไม่เกิดการแบ่งฝ่ายซึ่งทำให้เกิดอุปสรรคต่อการทำงานได้
กิจกรรมทางวัฒนธรรมในวันอาสาฬหบูชา
1. ทำความสะอาดบ้านเรือน สถานที่ราชการ และวัดวาอาราม
2. ตั้งมั่นในการดำเนินชีวิตโดยการใช้หลักธรรมที่ว่า “เดินทางสายกลาง”
3. ปฏิบิตธรรมที่วัด ทำบุญตักบาตร บริจาคทาน รักษาศีล สวดมนต์ฟังธรรม เวียนเทียน เจริญภาวนา
4. ร่วมกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ปลูกต้นไม้ บริจาคโลหิต ฯลฯ--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ