พัฒนาเครือข่ายวิจัย “เภสัชพันธุศาสตร์” ลดผลกระทบจากการแพ้ยา

ข่าวทั่วไป Monday February 17, 2014 16:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาเครือข่ายด้านเภสัชพันธุศาสตร์ในการศึกษาพันธุกรรมของมนุษย์ ที่มีผลต่อการเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาหรือการตอบสนองต่อยา เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงวิธีการให้ยาผู้ป่วยในยาหลายชนิด ที่อาจเกิดผลข้างเคียงที่พบไม่บ่อยแต่อาจเกิดอาการแพ้ยารุนแรง ยาเหล่านี้เป็นยาที่มีราคาไม่แพงและเป็นยาที่ใช้กันแพร่หลาย เพราะให้ผลการรักษาที่ดี การพัฒนาวิธีการตรวจเพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงรุนแรงสำหรับยาเหล่านี้ทำให้ แพทย์สามารถใช้ยาเหล่านี้ได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้นซึ่งสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายทางสุขภาพของประชากรไทย และลดโอกาสที่จะเกิดการแพ้ยาอย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันได้มีการศึกษาด้าน “เภสัชพันธุศาสตร์” เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากช่วยเหลือให้ผู้ป่วยได้รับยาที่มีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพสูง มีผลข้างเคียงจากการใช้ยาน้อย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการจัดยาตามลักษณะพันธุกรรม (tailor made medicine) กำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของเวชปฏิบัติ ทั้งนี้ในประเทศยุโรปและสหรัฐอเมริกา ได้มีการศึกษาวิจัยเรื่องพันธุศาสตร์มานานแล้ว แต่ข้อมูลการศึกษาดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้กับคนไทยโดยตรง ด้วยเหตุที่ประชากรอาเซียน รวมถึงประชากรไทย มีลักษณะพันธุกรรมที่จำเพาะ และมีปัญหาจากการใช้ยาที่แตกต่างกัน ประเทศไทยจึงต้องมีการศึกษาลักษณะพันธุกรรมของคนไทย และจำเป็นต้องมีการพัฒนาเครือข่ายการวิจัยทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์ในประเทศไทย เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยงของการเกิดผื่นแพ้ยาและผลข้างเคียงอื่นๆ ของยาที่พบได้บ่อยในประเทศไทย เพื่อให้ได้ผลการวิจัยที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการให้บริการ การตรวจหาลักษณะพันธุกรรมในยีนที่มีความสำคัญทางคลินิกประเทศไทย เนื่องจากทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้มีความตระหนักในเรื่องนี้ จึงได้มีโครงการความร่วมมือกับ Center for Integrative Medical Sciences สถาบัน RIKEN ประเทศญี่ปุ่น โดยได้ดำเนินการร่วมวิจัยตั้งแต่ปี 2549 โดยความร่วมมือในระยะที่ 3 นี้จะไปสิ้นสุด ในปี 2561 เพื่อสนับสนุนนักวิจัยไทยทั้งภายในกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในการทำวิจัยเภสัชพันธุศาสตร์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำรวจพบปัญหาผื่นแพ้รุนแรงจากการแพ้ยาชนิดที่มีการหลุดลอกของผิวหนัง หรือ Stevens-Johnson Syndrome / Toxic Epidermal Necrolysis ในประเทศไทยสูงเป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ยิ่งทำให้การศึกษาวิจัยทางเภสัชพันธุศาสตร์เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เห็นถึงความสำคัญของการดำเนินการวิจัยและการให้บริการทางเภสัชพันธุศาสตร์ เพื่อประโยชน์ต่อการให้บริการสุขภาพในระบบสาธารณสุขของประเทศไทย ซึ่งแน่นอนว่าจำเป็นต้องมีการดำเนินการในรูปแบบเครือข่ายที่มีการประสานงานกันระหว่างโรงพยาบาล ที่มีการรักษาผู้ป่วย ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาและนักวิจัยจากสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์และสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และจากมหาวิทยาลัยต่างๆ จึงได้มีนโยบายสนับสนุนการดำเนินงานโครงการพัฒนาเครือข่ายการศึกษาทางเภสัชพันธุศาสตร์เพื่อการลดค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ โดยการใช้ยาเฉพาะบุคคลระยะที่ 2 ในปีงบประมาณ 2557–2559 โดยจัดให้มีการประชุมการพัฒนาเครือข่ายการศึกษาทางเภสัช พันธุศาสตร์ขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อสรุปผลการดำเนินการโครงการระยะที่ 1 ที่พบปัจจัยเสี่ยงทางพันธุกรรมสำหรับผู้ป่วยที่แพ้ยาต้านจุลชีพ Cotrimoxazole ยากันชัก Phenobarbital และอธิบายแนวทางการพัฒนาเทคนิควิธีการตรวจยีนเสี่ยงที่ได้จากผลจากการศึกษา ให้มีวิธีการตรวจที่เหมาะสมกับระดับความสามารถของห้องปฏิบัติการในประเทศไทย เพื่อนำผลการวิจัยมาใช้ในการดูแลผู้ป่วย ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ