สคร.12 สงขลา เผยนักเรียนป่วยโรคตาแดงเพิ่มขึ้น แนะครูหมั่นตรวจสุขภาพเด็ก-ส่งเสริมการล้างมือ

ข่าวทั่วไป Wednesday February 19, 2014 11:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา รายงานสถานการณ์โรคตาแดงในพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ตอนล่าง พบจำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเด็กนักเรียน พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เตือนประชาชนหมั่นล้างมือ เลี่ยงสัมผัสผู้ป่วย แนะนำครูจัดระบบการเฝ้าระวังในโรงเรียน ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 12 จังหวัดสงขลา (สคร.12 สงขลา) เปิดเผยว่า จากการรายงานสถานการณ์โรคตาแดงในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 6กุมภาพันธ์ 2557 พบว่าทุกจังหวัดในภาคใต้ตอนล่างมีจำนวนผู้ป่วยโรคตาแดงสูงขึ้น ซึ่งมีผู้ป่วยรวมทั้งสิ้นจำนวน 3,159 คน โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดที่จังหวัดพัทลุงจำนวน 1,108 ราย รองลงมาคือจังหวัดสงขลา 689 ราย จังหวัดปัตตานี 442 ราย จังหวัดนราธิวาส 374 ราย จังหวัดตรัง 279 ราย จังหวัดยะลา 146 ราย และจังหวัดสตูล 121 ราย ตามลำดับ ส่วนใหญ่พบผู้ป่วยในกลุ่มอายุ 0-14 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มเด็กนักเรียน และพบผู้ป่วยเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ซึ่งจากการเฝ้าระวังพบว่ามีทั้งการระบาดลักษณะกลุ่มก้อน การระบาดในครอบครัว การระบาดในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและการระบาดในโรงเรียน ซึ่งขณะนี้คณะเฝ้าระวังสอบสวนเคลื่อนที่เร็ว (SRRT) ในพื้นที่กำลังเร่งดำเนินการสอบสวนโรคเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุการระบาดของโรคดังกล่าว โรคตาแดงเป็นโรคติดต่อจากการสัมผัสที่ติดต่อกันได้ง่ายทั้งเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กเล็ก ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส แต่หากไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มเป็นอาจติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ การติดต่อเกิดจากการสัมผัสใกล้ชิดกับป่วย ได้แก่ การสัมผัสโดยตรงกับน้ำตา ขี้ตา น้ำมูกของผู้ป่วย หรือจากการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วย ซึ่งจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 1-2 วัน โดยเริ่มจากการระคายเคืองตา ปวดตา น้ำตาไหล กลัวแสง มีขี้ตามาก หนังตาบวม เยื่อบุตาขาวอักเสบแดง ระยะเวลาของโรคจะเป็นประมาณ 5-14 วัน ส่วนใหญ่มักระบาดในช่วงฤดูฝน หลังน้ำท่วม หรือก่อนโรงเรียนปิดเทอม และมักเกิดขึ้นในที่ที่มีคนอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก เช่น ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียน โรงอาหาร ค่ายทหาร หรือเรือนจำ เป็นต้น ดร.นพ.สุวิช ธรรมปาโล กล่าวเพิ่มเติมว่า การป้องกันควบคุมโรคตาแดงด้วยตนเอง สามารถทำได้โดยการหมั่นล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการใช้ของร่วมกัน ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วย ส่วนการป้องกันควบคุมโรคตาแดงในโรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็กนั้นควรจัดให้มีระบบการเฝ้าระวังในโรงเรียน โดยแนะนำให้ครูประจำชั้นตรวจสุขภาพเด็กนักเรียนเป็นประจำ หากพบมีเด็กนักเรียนป่วยด้วยโรคตาแดง ให้บันทึกในรายงานประจำวัน และให้เด็กนักเรียนหยุดเรียนทันทีเป็นเวลา 1 สัปดาห์ จากนั้นจึงแจ้งให้ผู้ปกครองพาไปรักษาที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหรือโรงพยาบาลใกล้บ้าน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ