ฟิทช์คงอันดับเครดิต ปตท.; แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 20, 2014 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--ฟิทช์ เรทติ้งส์ ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (International Long-term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ที่ระดับ ‘BBB+’ อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินในประเทศ (International Long-term Local-Currency Issuer Default Rating) ที่ระดับ ‘A-’ และอันดับเครดิตสากลระยะสั้นสกุลเงินต่างประเทศ (International Short-term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ที่ระดับ ‘F2’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวที่ระดับ ‘AAA(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ระดับ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิที่ระดับ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ แม้ว่าสถานะเครดิตของปตท. เมื่อพิจารณาตัวบริษัทโดยลำพังน่าจะมีอันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ที่ ‘A-’ แต่อันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของปตท. ถูกจำกัดอยู่ที่ ‘BBB+’ ซึ่งเท่ากับอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของประเทศไทย เนื่องจากกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของปตท. โดยถือหุ้นอยู่ร้อยละ 51 ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแห่งชาติ – อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของ ปตท. ในธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในประเทศไทย ความสำคัญในเชิงกลยุทธ์และการเป็นตัวจักรสำคัญของรัฐบาลในการขับเคลื่อนนโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาและความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ ปตท. เป็นผู้ดำเนินการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติและเป็นผู้จัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติแต่เพียงรายเดียวในประเทศไทย โดยก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ นอกจากนี้ ปตท. ยังเป็นบริษัทชั้นนำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ธุรกิจน้ำมัน และธุรกิจปิโตรเคมีในประเทศไทยอีกด้วย กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง - สถานะทางการเงินของ ปตท. ได้รับประโยชน์จากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่มีความสม่ำเสมอ อันเป็นผลมาจากสัญญาการจัดจำหน่ายระยะยาวซึ่งมีการกำหนดปริมาณการซื้อขั้นต่ำจากคู่สัญญาในลักษณะ take-or-pay รวมถึงโครงสร้างราคาที่สามารถส่งผ่านต้นทุนการขายให้แก่ลูกค้าได้ อย่างไรก็ตาม ธุรกิจก๊าซธรรมชาติได้รับผลกระทบจากส่วนต่างกำไรที่อ่อนตัวลงจากการขายผลิตภัณฑ์ก๊าซจากโรงแยกก๊าซเพื่อเป็นวัตถุดิบในโรงงานปิโตรเคมี รวมถึงผลขาดทุนจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 23 ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) รวมของ ปตท. ในปี 2555 (ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2556 อัตราส่วนดังกล่าวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 19 เนื่องจากการปิดซ่อมแซมชั่วคราวของโรงแยกก๊าซธรรมชาติโรงที่ห้า) นอกจากนี้ในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 67 ของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่ายรวมของ ปตท. ในปี 2556 นั้น ร้อยละ 66 ของการผลิตเป็นการผลิตก๊าซธรรมชาติซึ่งจำหน่ายในประเทศเป็นส่วนใหญ่ แผนการลงทุนที่สูง – ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของปตท. และบริษัทย่อย จะเพิ่มขึ้นในปี 2557 เนื่องจากบริษัทฯ ยังคงลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม และธุรกิจก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ โดยเฉพาะในด้านก๊าซธรรมชาติเพื่อการผลิตไฟฟ้า ปตท. และบริษัทย่อยมีแผนการลงทุนประมาณ สองหมื่นแปดพันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในช่วงปี 2557-2561 โดยส่วนใหญ่จะลงทุนในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพื่อเพิ่มกำลังการผลิตและเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ดังนั้น ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิของบริษัทฯ ซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO adjusted net leverage) จะเพิ่มขึ้นในปี 2557 แต่น่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 2.0 เท่า อย่างไรก็ตามการเข้าซื้อกิจการโดยใช้เงินกู้ยืม ในจำนวนมากกว่าที่คาดไว้ ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่ออันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของปตท. บริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติครบวงจรขนาดกลาง - อันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของปตท. สะท้อนถึงการดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจรของบริษัทฯ โดยขนาดของธุรกิจ การดำเนินธุรกิจ และอัตราส่วนทางการเงินที่ใช้ในการจัดอันดับเครดิตของธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของปตท. เทียบเคียงได้กับบริษัทสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตสูงในกลุ่ม ‘BBB’ อย่างไรก็ตาม ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของปตท. ได้ลดลง โดยมีปริมาณสำรองสำหรับการผลิตประมาณ 7 ปี ณ สิ้นปี 2556 (จากประมาณ 10 ปี ณ สิ้นปี 2553) เนื่องจากปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่หามาทดแทน มีน้อยกว่าปริมาณการผลิตในช่วงสามปีที่ผ่านมา ฟิทช์คาดว่าการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาน่าจะช่วยเพิ่มปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้กับบริษัทฯ นอกจากนี้ บริษัทยังได้ปรับลดเป้าหมายการผลิตในปี 2563 ลงเหลือ หกแสนบาร์เรลต่อวันอีกด้วย ฟิทช์คาดว่า ปตท. จะเน้นการลงทุนในแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติขนาดกลางถึงขนาดเล็ก ที่มีการผลิตหรือจะเริ่มมีการผลิตในอนาคตอันใกล้ ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต ปัจจัยบวก: -การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของประเทศไทย ปัจจัยลบ: -การเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎระเบียบ การแก้ไขสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติและการปรับค่าผ่านท่อก๊าซที่ทำให้ ปตท.เสียประโยชน์ -การลงทุน/การเข้าซื้อกิจการจำนวนมากโดยใช้เงินกู้ยืม และ/หรือ กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาด ซึ่งทำให้อัตราส่วนหนี้สินสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งวัดจากอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน) (funds flow from operations adjusted net leverage) ที่สูงกว่า 2.25 เท่าอย่างต่อเนื่อง (ณ สิ้นปี 2555 อัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวอยู่ที่ 1.5 เท่า) -ปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง - EBITDA จากธุรกิจก๊าซธรรมชาติลดลงต่ำกว่าร้อยละ 20 ของ EBITDA รวมของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง -การปรับลดอันดับเครดิตของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่อันดับเครดิตโดยลำพัง (Standalone Rating) ของปตท. ต่ำกว่าอันดับเครดิตของประเทศไทย ฟิทช์จะพิจารณาให้อันดับเครดิตเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับจากอันดับเครดิต Standalone ของ ปตท. เพื่อสะท้อนถึงการสนับสนุนของภาครัฐ ต่อ ปตท. ในทางอ้อม (Implicit Support) ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทใหญ่กับบริษัทย่อย (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ