กรมสุขภาพจิต ชูหลัก 2p ดูแลจิตใจพี่น้องชาวนา เผย ล่าสุด พบ ซึมเศร้า 6 ราย

ข่าวทั่วไป Monday February 24, 2014 14:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--โฟร์ พี.แอดส์ วันนี้ (24 ก.พ.57) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมคณะผู้บริหารกรมสุขภาพจิต ลงพื้นที่เยี่ยมพี่น้องชาวนาและผู้ปฏิบัติงาน ณ กระทรวงพาณิชย์ เผย ยึดหลัก เตรียมพร้อม ป้องกัน (2P) ล่าสุด พบผู้ชุมนุมเครียด ซึมเศร้า รวม 12 ราย โดยเครียดมากและมากที่สุด 4 ราย ซึมเศร้า 6 ราย และนอนไม่หลับ 2 ราย นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้จัดส่งทีมวิกฤตสุขภาพจิต (MCATT) จาก รพ.ศรีธัญญา สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา สถาบันราชานุกูล สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น และ รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ สับเปลี่ยนหมุนเวียนให้บริการประเมินภาวะสุขภาพจิต ให้คำปรึกษา ให้ยาคลายเครียด ตลอดจน จัดกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ให้กับพี่น้องชาวนาที่มาชุมนุมอยู่ที่กระทรวงพาณิชย์ นับตั้งแต่วันที่ 13 ก.พ. เป็นต้นมา ซึ่งล่าสุด จากการประเมินภาวะสุขภาพจิตพี่น้องชาวนาที่มาร่วมชุมนุม จำนวน 52 ราย เมื่อวันที่ 20 ก.พ. พบ ผู้ชุมนุม มีความเครียด ซึมเศร้า รวม 12 ราย โดยเครียดมากและมากที่สุด 4 ราย ซึมเศร้า 6 ราย และนอนไม่หลับ 2 ราย ทั้งนี้ ได้ให้การรักษาและให้ความรู้ในการดูแลจิตใจตนเองในเบื้องต้นแล้ว ขณะที่ผู้ได้รับยากลับไป ได้แนะนำให้พบจิตแพทย์และทีมสุขภาพจิตอีกในครั้งต่อไป อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า กรมสุขภาพจิต ได้ใช้แนวทางในการดูแลชาวนาผู้ชุมนุม ด้วยหลัก 2P คือ 1.Preparedness การเตรียมพร้อม เตรียมค้นหากลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต โดยการส่งทีมวิกฤตสุขภาพจิต (MCATT) จาก รพ. สังกัดกรมสุขภาพจิตในส่วนกลาง ลงพื้นที่ประเมินชาวนาผู้ชุมนุม เช่นเดียวกับ ทีมวิกฤตสุขภาพจิต (MCATT) ส่วนภูมิภาค ได้ร่วมมือกับ อสม. และศูนย์สุขภาพจิต ประเมินชาวนาในพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว โดย ใช้แบบประเมินความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งหากพบว่า ผู้ชุมนุมหรือชาวนาคนใดมีความเสี่ยง ก็จะให้การเยียวยาจิตใจและแนะนำวิธีดูแลตนเองในเบื้องต้น และ จะทำการประเมินความเครียดและภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย ร่วมด้วย ซึ่งหากพบว่า มีความเสี่ยง ก็จะให้คำปรึกษาแนะนำ และส่งต่อแพทย์ 2. Prevention การป้องกัน โดยเฉพาะ การป้องกันไม่ให้เกิดการฆ่าตัวตาย ซึ่งเมื่อพบกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายแล้ว ก็จะมีระบบส่งต่อกลุ่มเสี่ยงเหล่านั้นเข้าสู่กระบวนการรักษาและเฝ้าระวัง โดยมี ทีม MCATT ในพื้นที่และศูนย์สุขภาพจิตเป็นหน่วยงานเชิงรุกเข้าไปดูแลส่งต่อกลุ่มเสี่ยงให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาทางจิตเวชร่วมกับ สสจ. ตลอดจนติดตามอย่างต่อเนื่องจนกว่าอาการจะดีขึ้น ด้วยระบบนี้ จะทำให้พี่น้องชาวนาที่เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าและฆ่าตัวตายเข้าสู่การรักษาได้เร็วยิ่งขึ้น หากรู้สึกเครียดหรือเกิดภาวะวิกฤตด้านจิตใจ สามารถขอรับบริการปรึกษาได้ที่ สายด่วนสุขภาพจิต 1323 โทรฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ