ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสถาบันไทยพัฒน์ เผยทิศทาง CSR ปี 57 เน้นขับเคลื่อนธุรกิจคู่สังคม

ข่าวทั่วไป Tuesday February 25, 2014 16:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยร่วมกับสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ใน พระบรมราชูปถัมภ์ เผยทิศทาง CSR ปี 2557 เน้นบทบาทความเป็นพลเมืองของภาคธุรกิจ หรือ Corporate Citizenship เพื่อการปฏิรูปสังคมด้วยแนวทาง การเข้าใจ เข้าถึง และร่วมพัฒนาสังคม พร้อมนำแนวคิดการสร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจกับสังคม หรือ Creating Shared Value (CSV) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ CSR รูปแบบใหม่ โดยนำความเชี่ยวชาญของธุรกิจมาเป็นเครื่องมือในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานแถลงทิศทาง CSR ปี 2557 “Corporate Citizenship” วันนี้ (25 ก.พ. 2557) ว่าในปี 2557 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงมุ่งส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจให้แก่บริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่องทั้งในระดับ CEO และระดับผู้ปฏิบัติงาน ผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัด CEO Forum การจัดสัมมนา อบรมและ workshop ในหลักสูตรขั้นพื้นฐานและหลักสูตร Advance ในประเด็นที่เป็นประโยชน์และเหมาะสมต่อศักยภาพและลักษณะการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืนของกิจการของบริษัทจดทะเบียนทุกแห่ง เช่น การบริหารความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การจัดทำรายงานความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อช่วยเตรียมความพร้อมให้แก่บริษัทจดทะเบียนในการรายงานข้อมูลการดำเนินงานด้าน CSR เป็นต้น รวมถึงการจัดทำเอกสารเผยแพร่ต่างๆ เพื่อพัฒนาความรู้และแนวทางปฏิบัติที่ดี นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังได้ให้ความสำคัญต่องานส่งเสริมและเตรียมความพร้อมให้กับบริษัทจดทะเบียนที่มีศักยภาพเข้าสู่ตัวชี้วัดสากล Dow Jones Sustainability Index โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท RobecoSAM ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำการประเมินดัชนีความยั่งยืนให้แก่ S&P Dow Jones มาให้ความรู้และแนวทางในการทำแบบประเมิน รวมถึงการส่งเสริมการจัดทำรายงานความยั่งยืนตามกรอบการรายงานสากล GRI อีกด้วย “การดำเนินงานด้านการพัฒนาความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืนของกิจการของตลาดหลักทรัพย์ฯ มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียน มีความรู้ ความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ ที่สำคัญต้องสามารถผนวกเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเข้าไปในทุกกระบวนการธุรกิจ จนสามารถพัฒนาเป็นส่วนหนึ่งของขีดความสามารถขององค์กรได้ในที่สุด” นายจรัมพรกล่าว ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ ผู้อำนวยการสถาบันไทยพัฒน์ มูลนิธิบูรณะชนบทแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้กล่าวในงานแถลงทิศทาง CSR ภายใต้ธีม Corporate Citizenship ในปีนี้ว่า บทบาทของภาคเอกชนต่อการมีส่วนร่วมและพัฒนาสังคม เป็นเรื่องที่ถูกผนวกไว้เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นมากกว่าการสานสัมพันธ์กับ ผู้มีส่วนได้เสียในแง่ที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบจากการดำเนินงานขององค์กร แต่การมีส่วนร่วมกับสังคมในบทบาทนี้ อยู่ในฐานะของพลเมืองภาคองค์กรที่ธุรกิจถือเป็นผู้มีส่วนได้เสียหนึ่งในสังคม และมีผลประโยชน์ร่วมกับสังคม ทั้งนี้ การเข้าร่วมขบวนปฏิรูปที่กำลังก่อตัวขึ้นในสังคมไทยของภาคเอกชน สามารถใช้แนวทาง Engage-Enable-Empower ที่เริ่มจาก ‘สำนึก’ ขององค์กรที่ประสงค์จะเข้าร่วม (Engage) ปฏิรูปหรือแก้ไขปัญหาโดยใช้การทำงานในระดับจิตใจและสติปัญญา นอกเหนือจากเจตนารมณ์และทรัพยากรที่องค์กรมีให้ รวมถึงการจัดวางองค์ประกอบต่างๆ ขององค์กร เพื่อเปิดทาง (Enable) การเข้าร่วมปฏิรูป หรือทำให้เกิดสภาพที่เอื้อต่อการทำหน้าที่พลเมืองภาคองค์กร ตลอดจนการเสริมสร้างพลัง (Empower) ให้แก่บุคลากรในเครือข่ายที่องค์กรได้เข้าร่วมทำงาน โดยมีเป้าประสงค์ที่การสร้างความเข้มแข็งกับเครือข่าย ให้สามารถขับเคลื่อนงานต่อไปได้ เมื่อองค์กรถอนการทำงานออกจากเวทีหรือประเด็นปฏิรูปที่เข้าไปเกี่ยวข้อง เมื่อถึงเวลาอันเหมาะสม การเสวนาในหัวข้อ “CSV: กลยุทธ์สร้างคุณค่าร่วมระหว่างธุรกิจกับสังคม” นั้น วิทยากรได้ชี้ให้เห็นว่า การขับเคลื่อนการพัฒนาหรือแก้ไขปัญหาสังคมในบริบทของ Creating Shared Value (CSV) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ CSR ในรูปแบบใหม่ที่นำเอาศักยภาพและความเชี่ยวชาญของธุรกิจมาใช้ในการดำเนินความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีการนำประเด็นปัญหาสังคมดังกล่าวมาใช้เป็นโจทย์ร่วมในการคิดค้นและพัฒนาแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กร และให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกับภาคีหุ้นส่วนภายนอกที่มีความเชี่ยวชาญจำเพาะในประเด็นทางสังคมนั้นๆ สำหรับรายละเอียดการประมวลแนวโน้มความรับผิดชอบต่อสังคมของกิจการ ปี 2557 สามารถศึกษาได้จากรายงาน “6 ทิศทาง CSR ปี 2557: Corporate Citizenship” ซึ่งจัดทำขึ้นโดยสถาบันไทยพัฒน์ สอบถามเพิ่มเติม 0 2930 5227 info@thaipat.org หรือดูรายละเอียดได้ที่ www.thaipat.org

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ