ควบคุมความปลอดภัยในอาหาร ด้วยมาตรฐานการตรวจตามหลักสากล

ข่าวทั่วไป Thursday February 27, 2014 17:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.พ.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จัดทำวิธีมาตรฐานสำหรับการตรวจวิเคราะห์อาหาร เล่มที่ 1 พ.ศ. 2556 โดยรวบรวมวิธีมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับจากองค์กรนานาชาติไว้ 32 วิธี แยกเป็นทางด้านเคมีและจุลวิทยา กำหนดให้เป็น วิธีมาตรฐาน เพื่อนำมาใช้อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ ส่งผลดีต่อการควบคุมอาหารที่คนไทยบริโภคทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศให้มีคุณภาพมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้ประชาชนให้มีสุขภาพดีได้บริโภคอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการและปลอดภัยจากสารพิษสารอันตรายต่างๆ ทั้งนี้หน่วยงานหรือผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอรับเอกสารฉบับนี้ได้ นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า คุณภาพและความน่าเชื่อถือ ของผลการตรวจวิเคราะห์และการได้รับการยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องสร้างและรักษาไว้ เนื่องจากผลวิเคราะห์จากห้องปฏิบัติการเป็นหลักฐานสำคัญที่จะใช้ในการดำเนินคดีทางกฎหมายและใช้ในการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำระบบมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025:2005 ซึ่งเป็นระบบคุณภาพที่แสดงถึงความสามารถ ของห้องปฏิบัติการทดสอบมาใช้และได้รับการรับรองตามมาตรฐานนี้ นอกจากการเป็นห้องปฏิบัติการที่ให้บริการตรวจวิเคราะห์แล้ว กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังได้รับการยอมรับจากหน่วยงานที่มีอำนาจทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมอาหาร ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าเป็นห้องปฏิบัติการอ้างอิงในการด้านการตรวจวิเคราะห์อาหาร ภารกิจการวิเคราะห์อาหารของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ดำเนินการโดยหน่วยงานส่วนกลาง คือ สำนักคุณภาพและ ความปลอดภัยอาหาร และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 14 แห่ง ที่กระจายอยู่ทุกภาคของประเทศ จึงจำเป็นต้องมีมาตรฐาน การตรวจวิเคราะห์เดียวกัน อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวต่ออีกว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร จึงได้รับมอบหมายให้จัดทำวิธีมาตรฐาน สำหรับการวิเคราะห์อาหาร โดยนำวิธีวิเคราะห์ที่ได้รับการยอมรับ คือ Codex-adopted Methods หรือวิธีมาตรฐานขององค์กรนานาชาติอื่น ได้แก่ ISO, AOAC, BAM มาพิจารณาและกำหนดประเภทวิธี เพื่อให้นำมาใช้ อย่างถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการนำผลวิเคราะห์ไปใช้ ซึ่งในเอกสารฉบับนี้บรรจุวิธีมาตรฐานไว้ 32 วิธี แยกเป็นวิธีทางเคมี 24 วิธี และวิธีทางจุลวิทยา 8 วิธี แบ่งเป็นวิธี Type I Defining methods หรือ Empirical methods คือ วิธีซึ่งใช้ในการกำหนดค่ามาตรฐาน นั่นคือ ผลวิเคราะห์ (ปริมาณที่วัดได้) สอบกลับไปยัง (traceable to) วิธีวิเคราะห์ที่ใช้นี้ผลวิเคราะห์ที่ได้จากวิธีอื่นไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับผลวิเคราะห์จากวิธีนี้ ได้แก่ โปรตีน ไขมัน ของแข็งทั้งหมด เนื้อนมไม่รวมไขมัน ความชื้น เถ้าทั้งหมด เถ้าที่ละลายน้ำได้ สารสกัดได้ด้วยน้ำร้อน การตรวจหา (detection) การตรวจปริมาณ (enumeration) ของเชื้อก่อโรคในอาหารและน้ำ Bacillus cereus, Clostridium perfringens, Listeria spp., Listeria monocytogenes, Salmonella spp., Staphylococcus aureus และ Cronobacter sakasakii และวิธี Type II Reference methods คือวิธีซึ่งกำหนดเป็นวิธีอ้างอิงใช้ในการตัดสินกรณีที่มีข้อโต้แย้ง หรือใช้อ้างอิงในการเปรียบเทียบวิธี ผลวิเคราะห์ (ปริมาณที่วัดได้) สอบกลับไปยังวัสดุอ้างอิงรับรอง (CRM) ได้แก่ สารให้ความหวาน (Acesulfame K, Aspartame, Cyclamate และ Saccharin) โลหะ (ตะกั่ว แคดเมี่ยม ทองแดง สังกะสี เหล็ก ดีบุก และสารหนู) รวมทั้งสารพิษจากเชื้อรา อฟลาทอกซิน นอกจากยังได้จัดทำเกณฑ์ในการคัดเลือกวิธีวิเคราะห์อาหารทางเคมี เพื่อใช้ในการพิจารณาวิธีวิเคราะห์รายการอื่นที่ไม่มีวิธีมาตรฐาน โดยใช้ Numeric approach criteria เพื่อกำหนดเป็นวิธีมาตรฐานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ต่อไป ท่านผู้สนใจติดต่อขอรับเอกสาร “วิธีมาตรฐานสำหรับการตรวจวิเคราะห์อาหาร เล่มที่ 1 พ.ศ. 2556” ได้ที่ กลุ่มพัฒนาคุณภาพและวิชาการ สำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ 0-2951-0000 ต่อ 99526-7 หรืออีเมล์ pranee.c@dmsc.mail.go.th (มีจำนวนจำกัด)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ