เตือนภัยโรคใบจุดสีน้ำตาลข้าว

ข่าวทั่วไป Tuesday March 4, 2014 11:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 มี.ค.--สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม เตือนภัยโรคใบจุดสีน้ำตาลข้าว เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงนี้เหมาะสมต่อการระบาดของโรค และกรมการข้าวแจ้งว่าเริ่มพบการระบาดแล้วในหลายจังหวัด ว่าที่ ร.ต.จักรภัทร ผ่องโอภาส เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ได้รับแจ้งจากกรมการข้าวถึงการระบาดของโรคใบจุดสีน้ำตาล ในพื้นที่จังหวัดนครนายกและจังหวัดพิษณุโลก เนื่องจากสภาพอากาศเหมาะสมต่อการแพร่ระบาดของโรค เมื่อลมแรงจะช่วยให้โรคแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วในแปลงนาของเกษตรกร อาการของโรคจะแผลที่ใบข้าว พบมากในระยะแตกกอมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาล รูปกลมหรือรูปไข่ ขอบนอกสุดของแผลมีสีเหลือง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5-1 มิลลิเมตร แผลที่มีการพัฒนาเต็มที่ขนาดประมาณ 1-2 x 4-10 มิลลิเมตร บางครั้งพบแผลไม่เป็นวงกลมหรือรูปไข่ แต่จะเป็นรอยเปื้อนคล้ายสนิมกระจัดกระจายทั่วไปบนใบข้าว แผลยังสามารถเกิดบนเมล็ดข้าวเปลือก(โรคเมล็ดด่าง) บางแผลมีขนาดเล็ก บางแผลอาจใหญ่คลุมเมล็ดข้าวเปลือก ทำให้เมล็ดข้าวเปลือกสกปรก เสื่อมคุณภาพ เมื่อนำไปสีข้าวสารจะหักง่าย อาการใบจุดสีน้ำตาลที่ใบ การแพร่ระบาด เกิดจากสปอร์ของเชื้อราปลิวไปตามลม และติดไปกับเมล็ด เกษตรจังหวัดมหาสารคาม กล่าวต่อไปว่า การป้องกันกำจัดใช้พันธุ์ต้านทานที่เหมาะสมกับสภาพท้องที่ และโดยเฉพาะพันธุ์ที่มีคุณสมบัติต้านทานโรคใบสีส้ม เช่น ภาคกลางใช้พันธุ์ปทุมธานี 1 ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใช้พันธุ์เหนียวสันป่าตอง และหางยี 71 พร้อมกับการปรับปรุงดินโดยการไถกลบฟาง หรือเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ดินโดยการปลูกพืชปุ๋ยสด หรือปลูกพืชหมุนเวียนเพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค นอกจากนี้ก่อนปลูกให้คลุกเมล็ดพันธุ์ก่อนปลูกด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น แมนโคเซบ หรือคาร์เบนดาซิม+แมนโคเซบ อัตรา 3 กรัม / เมล็ด 1 กิโลกรัม ใส่ปุ๋ยโปแตสเซียมคลอไรด์ (0-0-60) อัตรา 5-10 กิโลกรัม / ไร่ ช่วยลดความรุนแรงของโรค รวมถึงการกำจัดวัชพืชในนา ดูแลแปลงให้สะอาด และใส่ปุ๋ยในอัตราที่เหมาะสม ถ้าพบอาการของโรคใบจุดสีน้ำตาลรุนแรงทั่วไป 10 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ใบในระยะข้าวแตกกอ หรือในระยะที่ต้นข้าวตั้งท้องใกล้ออกรวง เมื่อพบอาการใบจุดสีน้ำตาลที่ใบธงในสภาพฝนตกต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดโรคเมล็ดด่าง ควรพ่นด้วยสารป้องกันกำจัดเชื้อรา เช่น อีดิเฟนฟอส คาร์เบนดาซิม แมนโคเซบ หรือ คาร์เบนดาซิม+แมนโคเซบ ตามอัตราที่ระบุ เกษตรกรที่มีปัญหาด้านการเกษตร ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานเกษตรจังหวัดมหาสารคาม สำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือติดต่อสอบถามโดยตรงกับเกษตรจังหวัดมหาสารคาม โทรศัพท์หมายเลข ๐๘๑-๗๙๐๕๒๕๖ และหมายเลข ๐๘๘-๕๔๙๗๙๔๔

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ