คร. ย้ำประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าวการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ แนะป้องกันตนเองได้ ด้วยการดูแลสุขภาพ มีสุขนิสัยที่ดี หมั่นล้างมือให้สะอาด

ข่าวทั่วไป Wednesday March 5, 2014 17:06 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 มี.ค.--โฟร์ พี แอดส์ กรมควบคุมโรค เผยช่วงนี้สภาพอากาศกำลังเปลี่ยนจากปลายฤดูหนาวเข้าสู่ต้นฤดูร้อนประชาชนกลุ่มเสี่ยง อาจป่วยด้วยอาการไข้หวัดได้ง่าย แนะประชาชนอย่าตื่นตระหนกกับข่าวการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ แท้จริงแล้วเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลเท่านั้น ย้ำป้องกันได้ด้วยการดูแลสุขภาพตนเองและการมีสุขนิสัยที่ดี หมั่นล้างมือให้สะอาด ไอจามปิดปากปิดจมูก หากมีอาการหวัดให้สวมหน้ากากป้องกัน หยุดเรียนหรือหยุดงานและรีบพบแพทย์ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าช่วงนี้สภาพอากาศในประเทศไทยกำลังเปลี่ยนจากปลายฤดูหนาวเข้าสู่ต้นฤดูร้อน ช่วงเช้าอากาศจะเย็นแต่ช่วงบ่ายอากาศจะร้อน บางวันอาจมีหมอกลงหรือมีฝนตก ประชาชนกลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ อาจเจ็บป่วยด้วยอาการไข้หวัด ได้ง่าย ทั้งนี้จากรายงานการเฝ้าระวังผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ตั้งแต่ 1 ม.ค.- 1 มี.ค. 2557 พบมีผู้ป่วยทั่วประเทศสะสม 11,513 ราย เสียชีวิต 6 ราย แต่ยังไม่พบการระบาดรุนแรงในประเทศไทย กลุ่มที่เสี่ยงมากที่สุดคือช่วงอายุ 10-14 ปี ร้อยละ 12.46 รองลงมา คือ อายุ 7-9 ปี ร้อยละ 12.02 และ อายุ 25-34 ปี ร้อยละ 10.35 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ลำปาง อุตรดิตถ์ พะเยา เชียงใหม่ และระยอง ส่วนช่วงนี้ที่มีข่าวโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ระบาดในหลายพื้นที่ จนมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากและมีผู้เสียชีวิต อาจทำให้ประชาชนวิตกกังวลและตื่นตระหนกได้ ในประเด็นนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรคมีการเฝ้าระวังโรคอย่างใกล้ชิดและตรวจสอบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันห้องปฏิบัติการของประเทศไทยสามารถตรวจวิเคราะห์โรคนี้ได้ และยังไม่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อหรือผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช7 เอ็น9 (H7N9) เอช10 เอ็น8 (H10N8) และ เอช5 เอ็น1 (H5N1)ในประเทศไทย แท้จริงแล้วเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาลหรือโรคไข้หวัดใหญ่ ชนิด เอ เอช1 เอ็น1 (H1N1) อย่างไรก็ดีกระทรวงสาธารณสุขได้เข้มงวดในมาตรการเฝ้าระวังโรคทั้งในคนและสัตว์ปีกอย่างต่อเนื่อง มอบหมายให้กรมควบคุมโรคและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด ตั้งทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วที่สามารถ ควบคุมการระบาดของโรคในพื้นที่และให้การดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างทันท่วงที นพ.โสภณ กล่าวอีกว่าผู้ที่ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ อาการมักนำด้วยเป็นไข้ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อมาก ในเด็กอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมีอาการไม่รุนแรง อาการจะทุเลาและหายป่วยภายใน 5 – 7 วัน แต่บางรายที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรงจะมีอาการหายใจเร็ว เหนื่อย หอบ หายใจลำบาก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ สำหรับการรักษาโรคไข้หวัดใหญ่นั้น จะใช้การรักษาตามอาการ หากมีไข้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว หากไข้ไม่ลดให้รับประทานยาลดไข้ เช่น พาราเซตามอล ห้ามใช้ยาแอสไพริน ให้นอนหลับพักผ่อนมากๆ ในห้องที่อากาศถ่ายเทดี ไม่ควรออกกำลังกาย ให้ดื่มน้ำเกลือแร่ น้ำผลไม้มากๆ และสวมหน้ากาก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรคไปสู่ผู้อื่น ส่วนประชาชนกลุ่มเสี่ยงซึ่งได้แก่ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุมากกว่า 65 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ผู้มีภูมิต้านทานโรคต่ำ และผู้มีโรคอ้วน หากมีอาการสงสัยเป็นไข้หวัดใหญ่ให้รีบพบแพทย์ ในกรณีที่มีผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่มากกว่า 1 คนในสถานที่ที่คนอยู่จำนวนมาก เช่น โรงเรียน สถานศึกษา โรงงาน สำนักงานต่างๆ แนะนำให้ผู้ป่วยหยุดเรียนหรือหยุดทำงาน จนกว่าจะหายเป็นปกติแล้วอย่างน้อย 1 วัน และให้ทำความสะอาดสถานที่ อุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆ อย่างเช่น ลูกบิดประตู ราวบันได โต๊ะอาหาร ฯลฯ ด้วยน้ำผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไปอย่างน้อยวันละ 1 – 2 ครั้ง “โรคไข้หวัดใหญ่เป็นโรคที่สามารถป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ได้ด้วยตนเอง ด้วยการล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือใช้แอลกอฮอล์เจลทำความสะอาดมือ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ หลอดดูดน้ำ ช้อนอาหาร ผ้าเช็ดมือ ผ้าเช็ดหน้าและผ้าเช็ดตัว ไม่คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัด หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่มีผู้คนแออัดและอากาศถ่ายเทไม่ดีเป็นเวลานานโดยไม่จำเป็น และติดตามคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด ส่วนผู้ที่ดูแลและคลุกคลีกับผู้ป่วย ควรสวมหน้ากากป้องกัน หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย สัมผัสตัวหรือข้าวของเครื่องใช้ผู้ป่วย ดูแลสุขภาพอนามัยตนเอง หลังจากดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากมีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ หายใจหอบเหนื่อย ภายใน 7 วัน ให้มาพบแพทย์และแจ้งประวัติการสัมผัสผู้ป่วยให้แพทย์ทราบ ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค โทร. 02-590-3159 หรือ เว็บไซต์http://beid.ddc.moph.go.th หรือ สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422" อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ