กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปลุกครูยางทั่วประเทศ 12,000 คน เพิ่มศักยภาพดูแลกิจการยางพารากว่า 1.2 ล้านครัวเรือน

ข่าวทั่วไป Thursday March 6, 2014 16:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มี.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงเกษตรฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปลุกครูยางทั่วประเทศ 12,000 คน เพิ่มศักยภาพดูแลกิจการยางพารากว่า 1.2 ล้านครัวเรือน เพื่อก้าวเข้าสู่ประชาชมเศรษฐกิจอาเซียน หวังเพิ่ม GDP ให้กับประเทศภายใน 5 ปี ดร.จิราวรรณ แย้มประยูร รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธาน งานสัมมนาวิชาการเสริมความคิดธุรกิจครูยาง ครั้งที่ 2 ประจำปี 2557 ในหัวข้อ “เออีซีที่จะเกิดขึ้น ใครได้ใครเสีย เตรียมตัวอย่างไร” ในวันพฤหัสบดีที่ 6 มีนาคม 2557 ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม อาคารอิมแพคฟอรั่ม ศูนย์การประชุมอิมแพค เมืองทองธานี ว่า ที่ผ่านมา สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยศูนย์ผู้นำธุรกิจเพื่อสังคม เตรียมแผนการส่งเสริมและพัฒนาครูยาง จำนวน 12,000 คนจากทั่วประเทศ โดยในปี 2558 ได้เตรียมแผนพัฒนาศักยภาพครูยางเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ตามโครงการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจการเกษตรสวนยางเพื่อต่อยอดให้เป็น Smart Rubber Farmer เน้นการผลิต แปรรูป ออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการตลาด เพื่อเพิ่มปริมาณการใช้ยางและสร้างมูลค่าการส่งออก การบริหารจัดการเครือข่ายเพื่อการส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจเกษตรกรชาวสวนยาง รวมถึงการบริหารจัดการธุรกิจยางที่สร้างขึ้นมาให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนจนสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ไปยังเครือข่ายลูกค้าได้ทั่วโลก พร้อมกันนี้ยังสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารการเพาะปลูก การแปรรูปการผลิต และการตลาดได้ด้วยตนเอง สำหรับกิจกรรมภายในงานครั้งนี้ ช่วงเช้าเป็นการบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มาบอกเล่าถึงแนวนโยบายของสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ในการพัฒนาและเตรียมความพร้อมครูยางเพื่อรับมือกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมถึงแนวนโยบายด้านการนำเข้า-ส่งออกยางพาราของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนช่องทางธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพารา ขณะที่ช่วงบ่ายเป็นการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “จัดทัพอุตสาหกรรมยางไทยสู้ศึกตลาดเสรีอาเซียน” จากผู้เชี่ยวชาญทั้งจากอุตสาหกรรมยางพาราต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพื่อให้ครูยางและผู้เข้าร่วมสัมมนาได้ทราบถึงสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงไปเมื่อก้าวเข้าสู้ AEC ในปี 2558 และเพื่อเตรียมความพร้อมรับมือการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านได้ต่อไปในอนาคต ดร.จิราวรรณ กล่าวอีกว่า การส่งเสริมตามแผนงานดังกล่าวนั้น จะมีการประเมินสมรรถนะเกษตรกรชาวสวนยางเพื่อให้ได้แผนการพัฒนาเกษตรสวนยางอย่างยั่งยืนและมีการติดตามผลเพื่อประเมินความสำเร็จของธุรกิจผลิตภัณฑ์ยางพาราในทุก ๆ มิติ เพื่อผลักดันให้เป็นฐานธุรกิจยางพาราอย่างครบวงจรสู่ระดับโลกภายใน 5 ปี ทั้งนี้การส่งเสริมจะดำเนินการควบคู่ไปกับการประเมินผลจนส่งผลต่อชีวิตและความเป็นอยู่ ตลอดจนรายได้ของเกษตรกรที่ดีขึ้น รวมถึงการสร้างเครือข่ายธุรกิจทั้งการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การตลาด อย่างมีระบบและครบวงจร ส่งผลให้กิจการยางพาราของประเทศมีความเข้มแข็งและเป็นผู้นำในตลาดโลกอย่างยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ