บีโอไอติวเข้มผู้ประกอบการภาคใต้ ย้ำกฎระเบียบ-ความรู้ด้านภาษี หวังใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด

ข่าวทั่วไป Thursday March 13, 2014 11:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มี.ค.--บีโอไอ บีโอไอภาค 6 จังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดติวเข้มเสริมความรู้ผู้ประกอบการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน หวังชี้แจงขั้นตอนข้อปฎิบัติ รวมถึงเงื่อนไข และข้อมูลที่จำเป็นในการชิ้สิทธิและประโยชน์ด้านภาษีอากรสำหรับผู้ประกอบการ ชี้ทิศทางลงทุนในพื้นที่ปี 57 เพิ่มต่อเนื่อง ทั้ง อุตฯผลิตน้ำมันปาล์มดิบ และยางพารา ขณะที่พลังงานทดแทนมาแรง ทั้งไบโอแก๊ส ไบโอแมส ขยะ ลม แสงอาทิตย์ นายสุวิชช์ ฉั่ววิเชียร ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ 6 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 2-3 เมษายน 2557 นี้ บีโอไอ มีกำหนดจัดอบรมให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน ซึ่งครอบคลุม 7 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา นครศรีธรรมราช ชุมพร ภูเก็ต และระนอง เพื่อให้ได้ทราบถึงขั้นตอนและข้อปฎิบัติที่ควรรู้หลังจากได้รับส่งเสริมการลงทุน กฎเกณฑ์และเงื่อนไขของโครงการที่ได้รับส่งเสริม รวมถึงให้ข้อมูลแก่ผู้ประกอบการให้สามารถใช้สิทธิและประโยชน์ด้านภาษีอากรได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้บีโอไอ จะจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้มีความเชี่ยวชาญเป็นผู้ร่วมให้ความรู้ ถึงระเบียบปฎิบัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการ อาทิ ระเบียบปฎิบัติตามคู่มือเกี่ยวกับเครื่องจักร/อุปกรณ์ (หรือ eMT ใหม่) การใช้สิทธิประโยชน์ด้านวัตถุดิบ ข้อควรรู้เกี่ยวกับการได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 31 ประเภทกิจการที่สามารถนำมาคำนวณใช้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมถึงข้อควรรู้ในการปฎิบัติตามเงื่อนไขการยื่นแบบขอใช้สิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น “ผู้ประกอบการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนแล้ว สามารถใช้โอกาสนี้ทำความเข้าใจ และจะได้รับความรู้และหลักปฎิบัติต่างๆ ได้อย่างเข้าใจมากขึ้น ซึ่งภายในงานยังจะเปิดโอกาสให้ผู้ที่ยังมีข้อสงสัยหรือข้อกังวลต่างๆ สามารถสอบถามเพื่อสร้างความเข้าใจจากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบได้โดยตรงอีกด้วย ” นายสุวิชช์ กล่าว นายสุวิชช์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนในพื้นที่จังหวัดภาคใต้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2556 มีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนรวม 72 โครงการ เงินลงทุนรวม 45,178 ล้านบาท โครงการเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11 จากปี 2555 ที่มี 65 โครงการ ขณะที่เงินลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 191 จากปี 2555 ที่มีเงินลงทุน 15,525 ล้านบาท ทั้งนี้ทิศทางของการลงทุน นอกจากจะมุ่งเน้นในด้านของอุตสาหกรรมผลิตน้ำมันปาล์มดิบ และอุตสาหกรรมยางพาราที่มีศักยภาพแล้ว การลงทุนในพื้นที่ยังเริ่มมีความหลากหลายในภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานทดแทน โดยคาดว่า ในปี 2557 นี้ การลงทุนจะเน้นในกลุ่มพลังงานทดแทนจากวัตถุดิบที่มีศักยภาพในภาคใต้เป็นหลัก เช่น ไบโอแก๊ส ไบโอแมส ขยะ ลม แสงอาทิตย์ และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากปาล์มน้ำมัน ยางพารา รวมทั้งกิจการขี้เลื่อยอัดเม็ด (Wood Pellet) อย่างไรก็ตามยังต้องติดตามปัจจัยสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนทั้งจากปัญหาสถานการณ์การเมือง ปัญหาด้านแรงงาน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศ เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ