วว. ผลิตปุ๋ยละลายช้า MAP เพิ่มมูลค่าน้ำเสีย ลดต้นทุนภาคเกษตร สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday March 17, 2014 14:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 มี.ค.--สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพิ่มมูลค่าน้ำเสียโดยนำแร่ธาตุที่มีประโยชน์ในน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์ “ปุ๋ยละลายช้า” ระบุคุณสมบัติเด่นมีอัตราการละลายต่ำ พืชสามารถนำแร่ธาตุไปใช้ได้ยาวนาน ส่งผลให้ปริมาณการใช้ปุ๋ยต่อพื้นที่ไร่น้อยกว่าปุ๋ยเคมีทั่วไป ชี้หากใช้แพร่หลายจะช่วยลดต้นทุนในภาคเกษตรกรรมได้ นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า ปัญหาน้ำเสียส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมอย่างมาก และเป็นหนึ่งในต้นทุนการผลิตซึ่งภาคอุตสาหกรรมจะต้องให้ความสำคัญในการบริหารจัดการ ด้วยตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ฝ่ายเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร วว. จึงได้ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาการเพิ่มมูลค่าน้ำเสีย โดยการผลิตเป็นปุ๋ยละลายช้า ให้อยู่ในรูปของเกลือ MAP (Magnesium Ammonium Phosphate) โดยใช้หลักการนำแร่ธาตุที่มีประโยชน์ในน้ำเสียกลับมาใช้ใหม่ได้สำหรับการเพาะปลูก “...ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น อินเดีย และประเทศในแถบยุโรป ได้หันมาสนใจปุ๋ยละลายช้า ในรูปของเกลือ MAP มากขึ้น ด้วยคุณสมบัติเด่นคือ เมื่อนำไปใช้เป็นปุ๋ยจะมีอัตราการละลายที่ต่ำ พืชสามารถนำแร่ธาตุไปใช้ได้ยาวนาน ซึ่งจะทำให้ปริมาณการใช้ปุ๋ยต่อพื้นที่ไร่น้อยกว่าปุ๋ยเคมีทั่วไป การใส่ปุ๋ยลงไปในดินเพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุด โดยพืชสามารถดึงดูดไปใช้ได้อย่างเต็มที่ และมีการสูญเสียน้อยที่สุด จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้หากมีการใช้ปุ๋ยละลายช้าอย่างแพร่หลายจะช่วยลดต้นทุนในภาคเกษตรกรรมได้...”ผู้ว่าการ วว. กล่าว นางพัทธนันท์ นาถพินิจ นักวิจัย ฝ่ายเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร กล่าวว่า การผลิตปุ๋ยละลายช้า หรือเกลือ MAP สามารถทำได้ง่าย เนื่องจากในน้ำเสียมีแร่ธาตุไนโตรเจน และฟอสฟอรัสอยู่สูง โดยเฉพาะน้ำเสียจากภาคอุตสาหกรรมการเกษตร เช่น อุตสาหกรรมผลิตเอทานอลจากโมลาส ฟาร์มสุกร และน้ำเสียชุมชน เป็นต้น ทั้งนี้การตกตะกอนเกลือ MAP จากน้ำเสียชุมชน หรือน้ำเสียจากฟาร์มสุกรได้มีการศึกษากันมากขึ้น เพื่อลดปริมาณแร่ธาตุที่มีประโยชน์ในน้ำเสีย และเพื่อป้องกันการเกิดปัญหาการบูมของสาหร่าย ในต่างประเทศ ได้แก่ ตรุกี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อังกฤษ กรีซ และสเปน นิยมใช้ปุ๋ย MAP ในการเพาะปลูก โดยมีอัตราการใช้ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดพืช และลักษณะ โดยเฉลี่ยอัตราการใช้ปุ๋ย MAP ของแต่ละประเทศทั่วโลกอยู่ที่ 116 กก./เฮกแตร์ ซึ่งมีร้อยละการนำเข้าเพิ่มขึ้นทุกปี สำหรับประเทศไทยในปี 2552 มีการนำปุ๋ยเคมีเข้าจากต่างประเทศ 3.9 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 42,000 ล้านบาท (กรมวิชาการเกษตร, 2553) โดยมีราคาซื้อขายปุ๋ยเคมีในประเทศประมาณ 10,500-10,700 บาท/50 กก. ขึ้นกับเกรดและอัตราส่วนของปุ๋ย (สมาคมการค้าผู้ผลิตปุ๋ยไทย, 2553) สำหรับมูลค่าทางการตลาดของปุ๋ย MAP จากการตกตะกอนออกจากน้ำเสียในต่างประเทศ พบว่าอยู่ที่ 275.47-2,254.71 ดอลล่าร์ต่อตัน โดยในต่างประเทศได้มีการตั้งโรงงานระดับเชิงอุตสาหกรรมในการตกตะกอนเกลือ MAP ออกจากน้ำเสีย “...การตกตะกอนเกลือ MAP นอกจากจะเป็นวิธีการกำจัดไนโตรเจน และฟอสฟอรัส ได้อีกทางหนึ่งแล้ว ยังสามารถเพิ่มมูลค่าน้ำเสียที่มีแร่ธาตุได้อีกด้วย ให้สามารถผลิตปุ๋ยที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง หรือนำไปผสมกับปุ๋ยอินทรีย์จาก filter cake ให้กลายเป็นปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูงได้ โดยเฉพาะนำมาผสมกันตามสูตรปุ๋ยที่เหมาะสมแก่พืชแต่ละชนิด ซึ่งจะสามารถเพิ่มช่องทางการตลาดได้มากขึ้น และที่สำคัญมีประโยชน์ต่อพืช และไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเฉกเช่นเดียวกับการใช้ปุ๋ยเคมีในปัจจุบัน สำหรับน้ำเสียที่ผ่านการแยกเกลือ MAP แล้ว จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา อีกทั้งคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สามารถนำไปใช้ในพื้นที่ทางการเกษตรได้ โดยไม่ก่อให้เกิดปัญหาการสะสมเกลือในดิน และวิธีการตกตะกอนเกลือ MAP นี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับน้ำเสียที่มีไนโตรเจน หรือฟอสฟอรัสสูงได้ เช่น น้ำเสียชุมชน หรือน้ำเสียจากอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ หรืออุตสาหกรรมห้องเย็น หรือน้ำเสียจากฟาร์มปศุสัตว์ได้…” นางพัทธนันท์ นาถพินิจ กล่าว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมในการผลิตปุ๋ยละลายช้า หรือปุ๋ย MAP ติดต่อได้ที่ ฝ่ายเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร วว. โทร. 0 2577 9000 ,02 577 9489 (พัทธนันท์ นาถพินิจ) ในวันและเวลาราชการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ