“ลีซ อิท” ถึงเวลาอ้วน! เป้าสินเชื่อโตปีละ 30% เตรียมบุกตลาดปล่อยกู้เช่าซื้อ-ลีสซิ่ง ลูกค้าเอสเอ็มอี ครบวงจร ลุ้นจ่ายปันผล 50% ของกำไรสุทธิ-ชี้ "เอสวีโอเอ" ผู้ถือหุ้นใหญ่ลงทุนยาว

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 24, 2014 14:31 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มี.ค.--IR network “ลีซ อิท หรือ LIT” หุ้นน้องใหม่ป้ายแดง!ตลาดหลักทรัพย์ mai ประกาศลั่น...ถึงเวลาอ้วน หลังระดมทุนผ่านการขายหุ้นไอพีโอสำเร็จ เสียงตอบรับจากนักลงทุนท่วมท้น เตรียมนำเงินที่ได้กว่า 150 ล้านบาท ไปขยายธุรกิจ ตั้งเป้าสินเชื่อโตปีละไม่ต่ำกว่า 30% ดันพอร์ตสินเชื่อทะลุ 1 พันล้านบาท ภายในปี 2559 พร้อมรอลุ้นประกาศจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ ย้ำ “เอสวีโอเอ” ผู้ถือหุ้นใหญ่ถือลงทุนยาว เชื่อเทรดวันแรก 25 มีนาคมนี้ สร้างผลตอบแทนที่น่าประทับใจให้กับทุกคน นายสมพล เอกธีรจิตต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลีซ อิท จำกัด (มหาชน) หรือ (LIT) เปิดเผยว่า ภายหลังการขายหุ้นไอพีโอ จำนวน 90 ล้านหุ้น แบ่งเป็นหุ้นสามัญเพิ่มทุนเสนอขายโดยบริษัทฯ จำนวน 84 ล้านหุ้น และหุ้นเดิมเสนอขายโดย SVOA จำนวน 6 ล้านหุ้น ที่ราคาหุ้นละ 1.80 บาท โดยจำนวน 33.6 ล้านหุ้น เสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ SVOA และอีก 56.4 ล้านหุ้น เสนอขายให้แก่ประชาชนทั่วไปประสบความสำเร็จด้วยดี เนื่องจากนักลงทุนมีความมั่นใจพื้นฐานของบริษัท โดยเงินที่บริษัทฯ ระดมทุนได้ประมาณ 150 ล้านบาท จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนการดำเนินธุรกิจได้ตามแผน “หลังจากนี้ไปเราจะอ้วนขึ้น แข็งแรงขึ้น ทำให้สามารถปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ ลีสซิ่งและแฟคตอริ่งตลอดจนสินเชื่อบริการเสริมประเภทอื่นๆ ให้กับกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอีได้อย่างครบวงจรตามแผน โดยตั้งเป้าสินเชื่อขยายตัวไม่ต่ำกว่าปีละ 30% จากปัจจุบันมีพอร์ตสินเชื่อประมาณ 600-700 ล้านบาท โดยคาดว่าภายในปี 2559 พอร์ตจะขึ้นไปแตะระดับ 1,000 ล้านบาท” ทั้งนี้ “ลีซ อิท” ประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อกลุ่มลูกค้าที่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มีข้อจำกัดในการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน โดยสินเชื่อที่ปล่อยกู้แบ่งเป็น 3 ระดับคือ 1.สินเชื่อปลายน้ำในรูปของสินเชื่อสัญญาเช่าทางการเงินหรือลีสซิ่ง, สินเชื่อสัญญาเช่าซื้อ และสินเชื่อการรับโอนสิทธิเรียกร้องหรือแฟคตอริ่ง 2.สินเชื่อกลางน้ำในรูปของสินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการ และการให้บริการจัดหาสินค้าและ 3.สินเชื่อต้นน้ำในรูปของสินเชื่อเพื่อการจัดหาหนังสือค้ำประกันซอง ส่วนโครงสร้างการปล่อยสินเชื่อของ “ลีซ อิท” 80% คือลูกค้าที่ทำงานและมีหนี้กับภาครัฐ ส่วนที่เหลืออีก 20% เป็นงานของภาคเอกชน และหากแบ่งตามกลุ่มธุรกิจจะอิงกลุ่มธุรกิจที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษคือ กลุ่มธุรกิจไอที มีสัดส่วนมากกว่า 50% ทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นหนี้ที่ไม่ก่อเกิดรายได้น้อย นายสมพล กล่าวถึงแนวโน้มการทำธุรกิจในปีนี้ว่า คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากกรณีที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยกู้ลูกค้าเอสเอ็มอี ทำให้หันมาใช้บริการสินเชื่อจากบริษัทเพิ่มขึ้น โดยเห็นสัญญาณชัดเจน จากเดิมที่บริษัทปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่มีรายได้ต่ำกว่า 100 ล้านบาทลงมา แต่ปีนี้มีกลุ่มที่มีรายได้ระดับ 100 ล้านบาทขึ้นไปสนใจขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น สำหรับกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่คือ SVOA สัดส่วนการถือหุ้นจะลดลงจาก 86.21% เหลือ 47% ถือเป็นไปตามแผนดำเนินธุรกิจ ในอนาคตเชื่อมั่นว่ายังคงเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และลงทุนในระยะยาวเพราะได้วางตำแหน่งให้ “ลีส อิท” เป็นแหล่ง Investment สำหรับ SVOA เนื่องจากมีนโยบายจ่ายเงินปันผลสูงถึง 50% ของกำไรสุทธิ ดังนั้นหลังจากเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai กลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่จะยังคงสัดส่วนหุ้นต่อไป แม้ว่าจะพ้นระยะห้ามขาย (ไซเร็น พีเรียด) นายสมภพ กีระสุนทรพงษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) (FSS) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของบมจ. ลีซ อิท กล่าวว่า ราคาเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของ LIT ในราคาหุ้นละ 1.80 บาท ถือเป็นระดับราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐาน และมีส่วนลดให้แก่นักลงทุนผู้จองซื้อถึง 62.84% เมื่อเทียบกับค่า P/E ของตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) ในช่วงระยะเวลา 3 เดือนย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 14 พฤศจิกายน 2556 จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งอยู่ที่ 30.18 เท่า และมีส่วนลดประมาณ 24.24% จาก P/E Ratio เฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียนที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจคล้ายคลึงกับ LIT ในช่วงเวลาระยะเวลาย้อนหลัง 3 เดือนเช่นเดียวกัน ซึ่งเท่ากับ 14.80 เท่า สำหรับผลการดำเนินงานของ “ลีส อิท” รอบปี 2556 มีกำไรสุทธิ 32 ล้านบาท เมื่อคำนวณจากจำนวนหุ้นที่มีทั้งหมด 200 ล้านหุ้น ส่งผลให้มีกำไรต่อหุ้นที่ประมาณ 0.16 บาทต่อหุ้น และจากนโยบายการจ่ายเงินปันผล ที่กำหนดว่าจะจ่ายไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิต่อหุ้น ทำให้ในอนาคตมีโอกาสที่ LIT จะจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่า 0.08 บาทต่อหุ้น ให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท แต่ทั้งนี้ต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทและที่ประชุมผู้ถือหุ้นก่อน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ