กรมป่าไม้ เปิดงานวันป่าไม้โลก ประจำปี 2557 ชู “ปกป้องไม้พะยูง ไม้มงคลหายาก”

ข่าวทั่วไป Tuesday March 25, 2014 11:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มี.ค.--กรมป่าไม้ นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ ทำพิธีปฏิญาณตน และดื่มน้ำสาบานของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้เพื่อป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะ “ไม้พะยูง” เผยคดีไม้พะยูงจังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่ปี 2551-2557 มีทั้งสิ้น 930 คดี จับไม้ได้จำนวน 27,215 ท่อน/เหลี่ยม/แผ่น/ชิ้น ปริมาตร 1,085 ลบ.เมตร จับผู้กระทำความผิดได้จำนวนมากถึง 395 คน ขณะเดียวกันกรมป่าไม้เปิดตัวเครื่องแบบภาคสนามลายพรางป่าไม้ใหม่ สีเขียวสลับกับสีน้ำตาลและลายต้นสัก นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพร้อมนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ อธิบดีกรมป่าไม้และผู้บริหารกรมป่าไม้ ตลอดจนข้าราชการในจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกันเปิดงาน “วันป่าไม้โลก ประจำปี 2557” ณ หน่วยป้องกันรักษาป่า ที่ อบ.16(ดงขุนคำ) ต.ขุนคำ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี โดยบรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ทั้งนี้ นายวิเชษฐ์และอธิบดีกรมป่าไม้ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของกรมป่าไม้ ต่างพากันสวมเครื่องแบบภาคสนามลายพรางป่าไม้ใหม่ สีเขียวสลับกับสีน้ำตาลและมีลายต้นสักซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกรมป่าไม้สวยงาม ทั้งนี้ นายวิเชษฐ์ เป็นประธานเปิดงานพร้อมทำพิธีปฏิญาณตน และดื่มน้ำสาบานของเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้กว่า 100 นายและกล่าวว่า ประเทศไทยและสังคมไทยของเราได้รับพระมหากรุณาธิคุณยิ่งใหญ่จากพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ ที่ทรงห่วงใยในกิจการด้านป่าไม้ นับตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานกำเนิดกรมป่าไม้ขึ้นจวบจนปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรป่าไม้มาโดยตลอด ให้คนไทยได้ช่วยกันรักษาป่า เพื่อรักษาน้ำ และความอุดมสมบูรณ์ของแผ่นดิน เช่น เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้มีพระราชเสาวนีย์ ทรงห่วงใยถึงสถานการณ์ด้านป่าไม้ ทรงร้องขอให้คนไทยช่วยประเทศไทย ด้วยการหาวิธีการที่จะรักษาป่าไว้เพื่อดูดซับน้ำ และประเทศของเราจะได้ไม่ขาดแคลนน้ำในอนาคต รวมทั้งการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะ “ไม้พะยูง” ซึ่งเป็นไม้มงคลที่หายาก และมีราคาสูง ซึ่งถูกลักลอบตัดโค่นเป็นจำนวนมากในท้องที่อุบลราชธานี นายวิเชษฐ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนองพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยมุ่งเน้นเร่งปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูง โดยบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทหาร ตำรวจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ในจังหวัดอุบลราชธานีร่วมปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้พะยูง จึงทำให้สามารถจับกุมผู้กระทำผิดได้จำนวนมาก “ในอดีตความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้ช่วยเกื้อกูลระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นอย่างดี เราไปทางไหนก็จะได้เห็นป่าไม้ มีน้ำตก มีลำธาร ที่มีน้ำใสไหลเย็นใช้ประโยชน์ได้ แต่ปัจจุบัน พื้นที่ป่าไม้ถูกบุกรุกทำลายไปมาก และถูกใช้ไปเกินขีดจำกัด ทั้งเพื่อการพัฒนาประเทศ และเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน เราจึงต้องเผชิญกับภาวะเสี่ยงภัยจากธรรมชาติหลายด้าน เช่น ปัญหาดินถล่ม น้ำหลาก โลกร้อน และน้ำแล้ง ผมคิดว่าถึงเวลาแล้วที่พวกเราทุกคนทุกฝ่ายที่จะต้องถือเป็นหน้าที่ของเราที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกันดูแลรักษาป่าไม้และฟื้นฟูป่า โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการทั้งในด้านการป้องกันรักษาป่า” นายวิเชษฐ์ กล่าว ด้านนายบุญชอบ กล่าวว่า วันป่าไม้โลก เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากการประชุมของสมาพันธ์การเกษตรแห่งยุโรป ครั้งที่ 23 เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 2514 โดยภาคีสมาชิกขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้เสนอให้วันที่ 21 มีนาคมของทุกปี เป็น “วันป่าไม้โลก” เพื่อเตือนใจชาวโลกให้เห็นถึงความสำคัญและคุณค่าของทรัพยากรป่าไม้ รวมทั้งปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ไม้พะยูง” ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะวิกฤตในปัจจุบัน ดังนั้นในปี 2557 กรมป่าไม้ จึงงานวันป่าไม้โลกโดยเน้นที่ “ไม้พะยูง” ซึ่งเป็นไม้มงคลที่หายาก และมีราคาสูง จึงทำให้ถูกลักลอบตัดโค่นทำลายเป็นจำนวนมาก เฉพาะที่จังหวัดอุบลราชธานี ตั้งแต่ปี 2551-2557 มีจำนวนคดีทั้งสิ้น 930 คดี จำนวน 27,215 ท่อน/เหลี่ยม/แผ่น/ชิ้น ปริมาตร 1,085 ม3 จับผู้กระทำความผิดได้จำนวนมากถึง 395 คน ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนทุกภาคส่วนควรจะต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาการลักลอบตัดไม้พะยูงกันอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า วันป่าไม้โลก ปีนี้ กรมป่าไม้ ยังจัดประกวดคำขวัญ ในหัวข้อไม้พะยูง เพื่อต้องการให้สังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของไม้พะยูง และช่วยกันประณามผู้ที่ตัดทำลาย หรือซื้อขายไม้พะยูง โดยผู้ชนะเลิศอันดับที่ 1 จะได้รับเงินรางวัล 20,000 บาท รางวัลที่ 2 จำนวน 10,000 บาท และรางวัลที่ 3 จำนวน 5,000 บาท พร้อมโล่ประกาศเกียรติคุณทุกระดับ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ