สวทน.เร่งเครื่อง “ปฏิรูปประเทศไทยด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.)” ชวนเอกชนลงทุนเพิ่มด้านวิจัยและพัฒนายกระดับสู่องค์กรนวัตกรรมนำธุรกิจ กระตุ้นทุกภาคส่วนร่วมจับมือพาไทยก้าวข้ามหุบเหว Middle Income Trap

ข่าวทั่วไป Friday March 28, 2014 12:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 มี.ค.--B2U สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัด “เวทีเสวนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการปฏิรูปประเทศ ครั้งที่ 1” ขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างความตระหนัก การพูดคุย การแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเกิดข้อเสนอแนะในการปฏิรูปและขับเคลื่อนอนาคตประเทศด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ วทน.ร่วมกันจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย พร้อมเผยแนวทางการปรับโครงสร้างการลงทุนด้าน วทน. ทั้งเชิงกลไกและเชิงระบบเพื่อปฎิรูปประเทศสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ล่าสุด เผยผลสำรวจค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและพัฒนาของภาคเอกชนมีการลงทุนด้านนี้เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว จาก 8,000 ล้านบาท ในปี 2549 มาเป็น 20,680 ล้านบาท ในปี 2554 ส่งผลให้การงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของประเทศต่อ GDP ของประเทศเพิ่มขึ้นเป็นร้อย 0.37 ต่อ GDP หรือกว่า 41,000 ซึ่งถือเป็นสัญญาณเชิงบวกที่ภาคเอกชนจะเป็นผู้มีบทบาทนำในการใช้ วทน. เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เลขาธิการ สวทน.เปิดเผยว่า “ในขณะที่สังคมไทยเกิดภาวะความแตกต่างทางความคิดเห็นอย่างมาก กระนั้นคนส่วนใหญ่ยังคิดตรงกันว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปในหลากหลายมิติ ไม่เพียงแต่ในมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคมเท่านั้น ในอดีตที่ผ่านมา บทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อการพัฒนาประเทศมักถูกละเลยและประเทศไทยก็ติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (middle-income trap) ไม่สามารถเปลี่ยนสถานะจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นธรรมได้ การปฏิรูปประเทศให้มีสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาระหว่างเมืองและชนบท ประชาชนหลุดพ้นจากความยากจน และให้ประเทศมีขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก ประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่การเป็นสังคมฐานความรู้ (knowledge-based society) และเศรษฐกิจฐานความรู้ (knowledge-based economy) ดังนั้น ท่ามกลางสภาวะวิกฤตที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ ถือเป็นโอกาสให้ทุกภาคส่วนในประเทศหันมาตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ที่จะมีบทบาทอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศในทุกมิติอย่างยั่งยืน” ดร.พิเชฐ เปิดเผยเพิ่มเติมว่า “ปัจจุบันนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่เศรษฐกิจและสังคมไทยจะมีการปรับโครงสร้างไปสู่การใช้ความรู้เข้มข้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1 ต่อ GDP โดยภาคเอกชนมีสัดส่วนการลงทุนร้อยละ 70 ของมูลค่าการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาทั้งหมดในปี 2559 ตามเป้าหมายที่สำนักงานคณะกรรมนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (สวทน.) ตั้งไว้” ในการบรรลุเป้าหมายข้างต้น ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างและการดำเนินงานด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของประเทศ โดยพัฒนากลไกและระบบที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ทั้งนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกลไกที่เชื่อมโยงการตัดสินใจในระดับนโยบายไปจนถึงระดับปฏิบัติ เพื่อให้เกิดฉันทามติร่วมกันในการผลักดันให้มีการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาประเทศ กลไกที่สำคัญที่ต้องได้รับการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน ประกอบด้วย กลไกการให้คำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม กลไกงบประมาณ กลไลรัฐสภากลไกความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากกลไกข้างต้นแล้ว ประเทศไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบการดำเนินการที่รองรับการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อย่างรอบด้านและครบทุกมิติ โดยสิ่งที่ประเทศจำเป็นต้องมีการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน อาทิเช่น ระบบกฎหมาย ระบบแรงจูงใจ ระบบทรัพย์สินทางปัญญา มาตรการทางการเงินและภาษีโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้าน วทน. ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ