ฟรอสต์แนะจับตาช่วงทดสอบ Digital TV หัวเลี้ยวหัวต่อประวัติศาสตร์วงการโทรทัศน์ไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday April 2, 2014 11:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน ประเทศไทย วันที่ 1 เม.ย. 57 นับเป็นวันแรกที่ระบบ Digital TV หรือ DTV ได้เริ่มต้นทดลองออกอากาศตามประกาศของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. ซึ่งการทดลองออกอากาศนี้จะเริ่มต้นตั้งแต่วันที่ 1 ไปจนถึงวันที่ 24 เมษายน 2557 นี้ ก่อนจะเริ่มออกอากาศจริงในวันที่ 1 มิถุนายน 2557 ตามที่ระบุในใบอนุญาต จุดประสงค์ของการทดลองออกอากาศในครั้งนี้คือเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอลภาคพื้นดิน ซึ่งได้แก่ อสมท ไทยพีบีเอส และสถานีกองทัพบกช่อง 5 ได้ตรวจสอบความพร้อมในด้านเทคนิคต่างๆของโครงข่ายและระบบทีวีดิจิตอล ร่วมกับผู้ให้บริการเชื่อมต่อสัญญาณไปที่ดาวเทียมและ 24 ช่องผู้ผลิตเนื้อหาเพื่อรองรับการออกอากาศจริงที่สมบูรณ์ในเดือนมิถุนายนที่กำลังจะถึงนี้ แม้ว่าการทดลองออกอากาศครั้งนี้จะไม่ได้เป็นการบังคับให้ผู้ประกอบการช่องรายการทุกช่องต้องเชื่อมต่อสัญญาณ และเนื่องจากเป็นช่วงทดลองก่อนที่ใบอนุญาตจะมีผลบังคับใช้จึงห้ามมิให้มีการหารายได้จากโฆษณาในช่วงนี้ แต่ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน เชื่อว่าช่วงทดลองออกอากาศนี้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำหรับการเปลี่ยนผ่านระบบทีวีอนาล็อกมาสู่ดิจิตอล ที่ผู้มีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด นายธีระ กนกกาญจนรัตน์ นักวิเคราะห์อุตสาหกรรมไอซีทีอาวุโส จากบริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน องค์กรให้คำปรึกษาและวิจัยระดับโลก ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า “ช่วงทดลองออกอากาศนี้มีความสำคัญมากในแง่ของการหาจุดอ่อนและความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นกับระบบก่อนเริ่มใช้งานจริง สำหรับผู้ประกอบการช่องรายการที่มีเนื้อหาออกอากาศในระบบอนาล็อกอยู่แล้วเช่น Voice TV หรือ ไทยทีวีสีช่อง 3 ช่วงทดลองออกอากาศจะเป็นการทดสอบการเข้าถึงของประชาชนและคุณภาพความคมชัดของช่องสัญญาณในระบบ HD ในส่วนของผู้เล่นใหม่เช่น ไทยรัฐ PPTV การทดลองออกอากาศจะเป็นโอกาสในการทดสอบผลตอบรับจากผู้ชม คุณภาพของสัญญาณและความพร้อมในด้านเทคนิค” “ในส่วนของหน่วยงานที่กำกับดูแลและผู้ให้บริการโครงข่ายการเชื่อมต่อ ช่วงทดลองออกอากาศนี้แม้ว่าจะเป็นเพียงการทดสอบใน 4 จังหวัดนำร่องคือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ นครราชสีมา สงขลา แต่สิ่งที่ได้คือบทประเมินการเข้าถึงของเครือข่าย คุณภาพของสัญญาณ จุดอับที่สัญญาณยังเข้าไม่ถึงหรือ Digital Cliff การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าทางเทคนิค คำร้องเรียนจากผู้ชม รวมถึงประเมินการเข้าถึงของสื่อประชาสัมพันธ์โครงการ เป็นต้น” นอกจากนี้ นายธีระได้กล่าวเพิ่มเติมว่า “ย้อนกลับไปเมื่อปี 2552 เมื่อ ประเทศสหรัฐอเมริกามีการเปลี่ยนแปลงจากระบบอะนาล็อคเป็นระบบดิจิตอล ในช่วงที่การเปลี่ยนผ่านของอเมริกานั้นทางรัฐบาลสหรัฐได้กำหนดให้เมือง Wilmington ในรัฐ North Carolina เป็นพื้นที่นำร่องสำหรับทดลองออกอากาศระบบทีวีดิจิตอล ซึ่งแม้ว่าทางคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร หรือ The Federal Communications Commission (FCC) ได้ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านในหลายช่องทางเป็นเวลาหลายเดือนก่อนช่วงทดลอง แต่ผู้ชมในพื้นที่นำร่องกว่าร้อยละ 7 ก็ยังประสบปัญหาการรับชมอันเกิดจากความขัดข้องทางเทคนิค อีกทั้งยังมีประชาชนในพื้นที่มากกว่า 1,800 รายโทรศัพท์เข้าไปยังศูนย์ช่วยเหลือของ FCC ซึ่งโดยมากเป็นปัญหาทางเทคนิคเกี่ยวกับเสาอากาศและกล่องรับสัญญาณ และมีจำนวนมากที่เกิดจากความไม่เข้าใจในระบบทีวีดิจิตอล ผลตอบรับนี้ได้กลายเป็นปัญหาใหญ่ถึงขนาดที่เรื่องถูกส่งกลับเข้าไปหารือในสภาสูงสหรัฐอีกครั้งเพื่อทบทวนเลื่อนกำหนดวันออกอากาศเลยทีเดียว” ช่วงทดลองออกอากาศระบบดิจิตอลทีวีในประเทศไทยนี้จึงนับได้เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของที่ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญและจับตาดูผลตอบรับอย่างใกล้ชิดทั้งจากฝั่งผู้ผลิตรายการและประชาชนผู้รับชม “การกระจายสัญญาณในระบบดิจิตอลทีวีนั้นมีแม้จะให้ภาพและเสียงที่มีความคมชัดมากขึ้น แต่ก็มีความเสี่ยงสูงในเรื่องการเข้าถึงของสัญญาณโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลในต่างจังหวัดซึ่งอาจตกอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า ‘Digital Cliff’ ในระบบอนาล็อกผู้ชมอาจพบว่าบางพื้นที่เสาอากาศสามารถรับสัญญาณภาพได้ชัด และในบางพื้นที่รับสัญญาณรับชมได้แต่ไม่ชัดตามความแรงของสัญญาณ แต่ในระบบดิจิตอลพื้นที่ที่รับสัญญาณแพร่ภาพได้ไม่ถึงระดับที่กำหนดจะพบปัญหาจอดำรับภาพไม่ได้เลย โดยเฉพาะเมื่อ 2 ใน 3 ของประชากรไทยอาศัยอยู่ในต่างจังหวัด ช่วงทดลองออกอากาศจึงมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านจากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล” ธีระกล่าวทิ้งท้าย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือติดต่อสัมภาษณ์ที่ ศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ ฝ่ายสื่อสารองค์กร ฟรอสต์แอนด์ซัลลิแวน ประเทศไทย โทร +66 2 637 7414 อีเมล์: sasikarn.watt@frost.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ