กรมสุขภาพจิต ชวนคนไทย เข้าใจให้โอกาส เปลี่ยนออทิสติกจาก “ภาระ” ให้เป็น “พลัง” สร้างสังคมไทย

ข่าวทั่วไป Thursday April 3, 2014 09:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 เม.ย.--กรมสุขภาพจิต วันที่ 2 เม.ย.57 ที่ รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วยคณะผู้บริหารกรมสุขภาพจิต เปิดงานรณรงค์เนื่องในวันออทิสติกโลก ประจำปี 2557 (World Autism Awareness Day 2014) ในหัวข้อ “Autism and work….Together we can” เปลี่ยนออทิสติกจาก “ภาระ” ให้เป็น “พลัง” สร้างสังคมไทย แนะ 3 หลักการส่งเสริมบุคคลออทิสติกมีงานทำ เผย ผู้ป่วยยังเข้าถึงบริการจำนวนน้อย คาดการณ์ทั่วประเทศสูงถึง 3.7 แสนราย อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงว่า ทุกวันที่ 2 เมษายนของทุกปี สหประชาชาติ (UN) ได้ประกาศให้เป็นวันออทิสติกโลก ซึ่งในปีนี้ รณรงค์ภายใต้หัวข้อ “Autism and work….Together we can” เนื่องจาก พบว่า บุคคลออทิสติกที่จบการศึกษาหรืออยู่ในวัยผู้ใหญ่ทั่วโลกมีอัตราการตกงาน มากกว่า ร้อยละ 90 จึงควรร่วมกันดูแลช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้ให้มีโอกาสในการทำงาน เช่น การส่งเสริมระบบการเตรียมความพร้อมด้านอาชีพ ทั้งโปรแกรมเตรียมพื้นฐานอาชีพ (Prevocational Program) โปรแกรมการสอนงาน (Job Coach Program) หรือ การสนับสนุนให้องค์กรเอกชนหรือองค์กรผู้ปกครองได้ร่วมดำเนินการกับสถานประกอบการ ส่งเสริมการจ้างงานบุคคลออทิสติกอย่างยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริมให้มีการจัดตั้งวิสาหกิจชุมชน (Social Enterprise) หรือโรงงานในชุมชนของกลุ่มบุคคลออทิสติก (Community Workshop) เพื่อการมีอาชีพและสามารถดำรงชีวิตได้ตามศักยภาพ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.2550 มาตรา 33 ได้กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการจะต้องรับผู้พิการเข้าทำงานในลักษณะงานในอัตราที่เหมาะสมกับผู้ปฎิบัติงาน จะช่วยส่งเสริมให้ผู้พิการมีความมั่นใจในตนเองและได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้น การมีงานทำของผู้พิการหรือผู้ป่วยออทิสติกเหล่านี้ จึงย่อมนำไปสู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน เปลี่ยนจาก “ภาระ” เป็น “พลัง” ของครอบครัว สังคมและประเทศชาติได้ ซึ่งการส่งเสริมให้บุคคลออทิสติกมีงานทำ ประกอบด้วย 3 หลักการ ได้แก่ 1.Choose เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่บุคคลออทิสติกเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในสังคม 2. Get ผลักดันส่งเสริมให้สามารถทำงาน โดยมีขั้นตอนของการประเมินความสามารถและความสนใจในการทำงาน การหางานให้ตรงกับความสามารถ (Job match) และการฝึกทักษะการทำงาน และ 3. Keep ติดตามผลและสนับสนุนให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการติดตามโรคออทิสติก ในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พบว่า มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก เห็นได้จากรายงานการสำรวจอุบัติการณ์กลุ่มอาการออทิสติกของประเทศสหรัฐอเมริกา ในปี พ.ศ. 2553 ที่พบความชุก 1 : 88 ขณะที่การสำรวจอย่างเป็นทางการของไทยในเด็กอายุ 0-5 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2547 พบ 1:1,000 (ร้อยละ 0.1) โดยคาดว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ป่วยออทิสติก ประมาณ 370,000 คน ซึ่งปัญหาที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนยังเข้าใจเรื่องนี้น้อย ทำให้การเข้าถึงบริการน้อยมากเพียงประมาณ ร้อยละ 15 โดยจากรายงานจำนวนผู้ป่วยทางสุขภาพจิตของประเทศที่กระจายตามเขตสาธารณสุขรายจังหวัด ปี 2555 มีผู้ป่วยออทิสติกเข้าถึงบริการจำนวน 25,537 ราย คิดเป็นอัตรา 39.74 ต่อประชากรแสนคน อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า โรคนี้ สามารถรักษาได้ เป็นโรคที่มีความผิดปกติของพัฒนาการทางสมองที่ล่าช้า 3 ด้าน คือ ด้านสังคม ภาษาและพฤติกรรม พบตั้งแต่กำเนิด สังเกตพบได้ก่อนอายุ 3 ขวบ สัญญาณเตือน ได้แก่ ไม่สบตา ไม่พาที ไม่ชี้นิ้ว ให้รีบพาไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน โดยเด็กออทิสติกที่มีความผิดปกติทางภาษาและสังคม จะแตกต่างกันที่ ไอคิว (IQ) ร้อยละ 40 มีไอคิวปกติใช้ชีวิตเหมือนเด็กปกติ ในจำนวนนี้ ร้อยละ 10 เป็นอัจฉริยะในบางด้าน เช่น การวาดภาพ หรือเล่นดนตรี อีกร้อยละ 20 มีไอคิวต่ำระดับน้อยถึงปานกลาง (50-69) สามารถเรียนร่วมและฝึกอาชีพได้ อาจมีปัญหาพฤติกรรมร่วมด้วย ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 40 มีไอคิวต่ำกว่า 50 เป็นเด็กที่ชอบแสดงอาการก้าวร้าวแบบรุนแรง ต้องได้รับการดูแลต่อเนื่อง ผู้ป่วยออทิสติกต้องการการช่วยเหลืออย่างถูกต้อง เหมาะสม และเข้มข้น โดยการผสมผสานวิธีการต่างๆ ทั้งในส่วนของการส่งเสริมพัฒนาการ การจัดรูปแบบการศึกษาที่เหมาะสม การส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำ ตลอดจนสวัสดิการสังคมและการดำเนินชีวิตในชุมชน ซึ่งกรมสุขภาพจิตได้มีนโยบายเพิ่มการเข้าถึงบริการให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้รับบริการคัดกรองหาความผิดปกติและบำบัดรักษา กระตุ้นพัฒนาการ ตลอดจนปรับพฤติกรรมอย่างมีมาตรฐาน ซึ่งการร่วมมือกันอย่างจริงจัง ของหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน ครอบครัว ชุมชน และสังคม ตั้งแต่การจัดระบบคัดกรองพัฒนาการที่มีประสิทธิภาพ การส่งเสริมพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง การจัดระบบการศึกษาที่เหมาะสม และที่สำคัญ การเข้าใจและให้โอกาสกับกลุ่มคนพิเศษเหล่านี้ ย่อมช่วยทำให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้ตามศักยภาพอย่างมีความสุข ทำกิจกรรมต่างๆ ได้เหมือนคนปกติทั่วไป อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ