สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดนิทรรศการ “หูท่ง เอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองปักกิ่ง” และทรงบรรยายแนะนำพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน”

ข่าวทั่วไป Tuesday April 8, 2014 15:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--นานมีบุ๊คส์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯ ทรงเปิดนิทรรศการ “หูท่ง เอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองปักกิ่ง”และทรงบรรยายแนะนำพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน”ณ แกรนด์ฮอลล์ ชั้น 1 สยามดิสคัฟเวอรี่ พระอัจฉริยภาพด้านอักษรศาสตร์ การประพันธ์ และการแปล ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นที่ประจักษ์ชัด ดังเห็นได้จากพระราชนิพนธ์ และพระราชนิพนธ์แปลมากมาย ล่าสุดกับพระราชนิพนธ์แปลจากภาษาจีนเรื่อง “ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน” เป็นพระราชนิพนธ์แปลประเภทนวนิยาย สะท้อนค่านิยมและคุณธรรมของโลกยุคเก่ากับโลกยุคใหม่ เป็นการเผยแพร่พระอัฉริยภาพให้เป็นที่ประจักษ์ยิ่งขึ้น บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด จึงร่วมกับ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด จัดนิทรรศการ “หูท่ง เอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองปักกิ่ง” ขึ้น ในการนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงเปิดนิทรรศการ และทรงบรรยายแนะนำพระราชนิพนธ์แปลจากภาษาจีนเรื่อง “ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน” โดยมี นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ประธานกรรมการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ,นางสุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ตลอดจนคณะผู้บริหาร เฝ้าทูลละอองพระบาทรับเสด็จ ณ แกรนด์ฮอลล์ ชั้น 1 สยามดิสคัฟเวอรี่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาบรรยายแนะนำพระราชนิพนธ์แปล “ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน” ความว่า “การที่เราศึกษาประเทศในประเทศหนึ่งนั้น นอกจากที่เราจะศึกษาได้จากหนังสือตำราที่มีผู้เขียนไว้ เอกสารชั้นต้นในด้านต่าง ๆ ทางด้านประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ วิธีที่เราจะศึกษาได้อีกด้านหนึ่งคือ จากวรรณกรรมที่เขียนไว้ในลักษณะนวนิยาย การอ่านนวนิยายนั้นก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับความจริงทีเดียว ทุก ๆ อย่างเกิดจากจินตนาการของผู้เขียนที่อาจจะเอาเรื่องจริงมาเป็นแบ็คกราวด์และอาจจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปเพื่อให้เรื่องนั้นน่าสนใจเป็นไปตามที่ผู้เขียนต้องการ ผู้เขียนเป็นคนจีนคนหนึ่ง ทำให้เราได้เห็นคนจีน สังคมคนจีน ผ่านสายตาของคุณ ‘เถี่ยหนิง’ ซึ่งมีผลงานเป็นที่รู้จักทั่วประเทศและแปลมาแล้วหลายภาษา แต่ครั้งนี้เป็นเครั้งแรกที่แปลเป็นภาษาไทย นอกจากเราจะได้เนื้อหาความเพลิดเพลินแล้ว เราจะได้อารมณ์ความรู้สึกของคนจีนกลุ่มหนึ่ง มีโอกาสเรียนรู้วิถีชีวิต และประเพณีของสังคมจีน ผู้เขียนใช้กลวิธีการประพันธ์ที่น่าสนใจเพราะคนเล่าเรื่อง คือ ‘ฉัน’ ไม่ระบุชื่อแซ่ รู้เพียงแต่เป็นพี่สาวที่สนิทสนมกับนางเอก ในฐานะผู้แปล ข้าพเจ้าก็พยายามไปเสาะหาสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวถึงในนวนิยาย เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างถูกต้อง เช่น ลูกลิ้น เสาะหาจนพบว่าเป็นลูกบ๊วยชนิดหนึ่งนำมาทำเป็นหวานเย็นหรือแชมพูไข่ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นเวลายาวยาวนานตั้งแต่สมัยที่จีนปฏิวัติวัฒนธรรม โดยตัวเอกของเรื่อง อายุ 10 ปี เขาเป็นคนที่มีลักษณะพิเศษ คือเป็นคนดี ที่ชอบช่วยเหลือผู้อื่น โดยไม่นึกถึงตนเอง ซึ่งอาจจะทำให้ตัวเขามีปัญหา เพราะคนที่ช่วยแต่คนอื่น เอาคนอื่นเป็นหลัก ก็มักจะถูกเอารัดเอาเปรียบบ้าง ซึ่งเรื่องนี้ก็ถูกเอารัดเอาเปรียบ แต่เขาไม่เคยรู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบเลย รู้สึกสบายใจ มีความสุขที่ทำให้ผู้อื่น ซึ่งก็เป็นแกนของเรื่อง จนกระทั่งเรื่องก็ผ่านไป เมื่อโตขึ้น ทำงานก็ใช้ได้ดี แต่ไม่โชคดีเรื่องความรักนัก เวลาที่คิดว่าจะได้รับความรักก็มีอันเป็นไปทุกกรณี โดยยุคหลังเป็นเรื่องสมัยใหม่ ที่คิดว่าเกิดขึ้นเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจีนเปิดประเทศ เป็นเหมือนประเทศทั่ว ๆ ไป ซึ่งคนที่มั่งมี เกิดมาร่ำรวย มีการศึกษาดี ก็จะถูกดูถูกจนกระทั่งตัวเองต้องอับอาย ส่วนคนที่หาเงินได้น้อยถือเป็นคนที่น่ายกย่องและได้รับความช่วยเหลือ เรื่องนี้ได้มีการให้ปัญญาชนได้ออกไปยังถิ่นทุรกันดาน เพื่อให้เข้าใจความเป็นอยู่ของผู้ด้อยโอกาส ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ดีอย่างหนึ่งที่หลาย ๆ คนไม่มีโอกาส ในฉากนั้น เรื่องใหญ่ที่เกิดขึ้นในหูท่ง ซึ่งเป็นตรอกเล็ก ๆ สองข้างเป็นเรือนสี่ด้านเตี้ยๆ ต่อมาเป็นบ้านเมืองเจริญขึ้น ก็มีแรงดึงดูดที่คนจะเข้ามาในเมืองใหญ่ โดยเฉพาะปักกิ่ง จำนวนคนมากขึ้นขึงมีการสร้างที่อยู่อาศัยที่ทำงาน ต้องรื้อเรือนเตี้ยๆ ออกไป สร้างตึกสูง เหมือนกับเรื่องที่ปรากฎในเรื่องนี้ ปัจจุบันก็ยังมีหูท่งที่เหลือไว้เป็นการอนุรักษ์ ผู้อาศัยอยู่ที่มีทั้งหูท่งคนรวยและหูท่งคนจน ซึ่งได้มีการปรับเป็นเขตการค้า เขตท่องเที่ยว มีการขายของแปลกๆ ประหลาดๆ มีของกินลักษณะเฉพาะร้านอาหารต่างๆ ที่มีอยู่ในหูท่ง ให้พยายามไปและสั่งตรงมาจากปักกิ่ง” ภายหลังจากที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาบรรยายแนะนำพระราชนิพนธ์แปล “ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน” จบแล้ว ทรงพระดำเนินไปทรงเปิด นิทรรศการ “หูท่ง เอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองปักกิ่ง” โดยทรงลงพระนามาภิไธยเป็นภาษาจีนที่หนังสือจำลองขนาดใหญ่ จากนั้นทอดพระเนตรนิทรรศการซึ่งจัดขึ้นด้วยการจำลองตัวอย่างของ หูท่ง ซึ่งผู้ประพันธ์ได้ใช้หูท่งเป็นฉาก (หูท่ง คือคำเรียกถนนขนาดเล็ก และตรอก ซอย ในเมืองปักกิ่ง) การจำลองบรรยากาศร้านขายของชำซึ่งจำหน่ายสินค้าและอาหารต่างๆที่ได้มีการกล่าวถึงในพระราชนิพนธ์แปล เพื่อให้ผู้ชมได้เห็นและสัมผัสบรรยากาศในงานนี้ด้วย เช่น เสียวตู่ (xiaodu) ลักษณะคล้ายกุนเชียง, บ๊วยแดง , เครื่องกระป๋องต่างๆ, น้ำมัน , เกลือ , ซีอิ๊ว และจิ๊กโฉ่ว ขนมเปี๊ยะ และขนมจันอับ เป็นต้น ก่อนเสด็จฯกลับ นายธารินทร์ นิมมานเหมินท์ ประธานกรรมการ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทสำนึกใน พระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯมาทรงเป็นประธานเปิดนิทรรศการ “หูท่ง เอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองปักกิ่ง” และทรงพระกรุณาบรรยายแนะนำพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน” ในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และบริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการ “หูท่ง เอกลักษณ์โดดเด่นของเมืองปักกิ่ง” พร้อมทั้งนำอาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้ ที่กล่าวถึงในนวนิยายเรื่องนี้ น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย ประกอบการทรงบรรยาย และยังเป็นการเผยแพร่ความรู้ด้านจีนวิทยาแก่ชาวไทยด้วย นางสุวดี จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กล่าวว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระปรีชาสามารถยิ่งด้านอักษรศาสตร์ พระราชนิพนธ์แปลด้านวรรณกรรมจีนที่ทรงคุณค่าหลายเรื่องล้วนเป็นประจักษ์พยานแห่งพระอัจริยภาพด้านการประพันธ์และการแปล อีกทั้งพระราชนิพนธ์แปลเล่มล่าสุด เรื่อง “ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน” ของเถี่ยหนิง นักเขียนหญิงในแวดวงวรรณกรรมจีนร่วมสมัยใหม่เป็นพระราชนิพนธ์แปลจากพระวิริยภาพอีกเล่มหนึ่งที่ผู้อ่านจะได้ซึมซาบทั้งอรรถรสความงามด้านภาษา และความรู้ด้านวัฒนธรรมประเพณีของสังคมจีนยุคปัจจุบันผ่านเรื่องราวของตัวละครหลักนาม “ไป๋ต้าสิ่ง” ผู้มีชีวิตโลดแล่นอยู่ในหูท่งสายหนึ่งอันเป็นชุมชนย่านตรอกซอยดั้งเดิมของกรุงปักกิ่ง ซึ่งกำลังถูกค่านิยมของสังคมสมัยใหม่รุกไล่ เฉกเช่นเดียวกับคุณธรรมของสังคมยุคเก่าที่ถูกท้าทายจากความเปลี่ยนแปลงของโลกยุคใหม่ สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณพ้นพรรณนา เป็นเกียรติประวัติและสิริพิพัฒน์มงคลยิ่งที่สำนักพิมพ์จักเทิดทูนรำลึกไว้มิรู้ลืม สำหรับพระราชนิพนธ์แปล “ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน” เป็นพระราชนิพนธ์แปลประเภทนวนิยายใน สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ลำดับที่ 9 ที่จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ สะท้อนภาพสังคม วิถีชีวิต และประเพณีของสังคมจีนยุคปัจจุบันผ่านตัวละครเอกเป็นสตรีชาวจีนที่ใช้ชีวิตโลดแล่นอยู่ใน หูท่ง สายหนึ่งอันเป็นชุมชนย่านตรอก ซอยดั้งเดิมของกรุงปักกิ่ง ’ไป๋ต้าสิ่ง’ คือตัวละครหลักที่มีคุณธรรมเป็นเลิศ มีจิตใจงดงาม ซื่อสัตย์ ยอมเสียเปรียบทุกคน เธอจึงต้องทนทุกข์กับตัวตนที่เธอเป็นอยู่ ความทุกข์อันสาหัสของไป๋ต้าสิ่งคือความผิดหวังจากความรักที่ฝ่ายชายผู้ไม่จริงใจทิ้งเธอไปคนแล้วคนเล่า แต่เธอก็ยังคง ‘ตกหลุมรัก’ และ ‘รักอย่างหัวปักหัวปำ’ โดยมิอาจจะช่วยตัวเองได้เลย เพราะไป๋ต้าสิ่งเห็นว่าความรักเป็นสิ่งสูงส่ง และความรักคือการให้และเสียสละอย่างไม่สิ้นสุด “ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน” จึงเป็นนวนิยายที่สะท้อนค่านิยมและคุณธรรมของโลกยุคเก่ากับโลกยุคใหม่ ที่ยากจะมีศรัทธาเชื่อมั่นต่อ ‘ความดีตลอดกาล’ หรือ ‘ความรักตลอดกาล’ เป็นทั้ง ‘สัจจะ’ และ ‘มายา’ ที่มนุษย์ทุกสมัยต้องใคร่ครวญเรียนรู้ด้วยปัญญาไปตลอดกาล ร่วมสัมผัสค่านิยมและคุณธรรมของโลกยุคเก่ากับโลกยุคใหม่จาก “ตลอดกาลน่ะนานแค่ไหน” พระราชนิพนธ์แปลในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี หนังสือดีที่ควรอ่าน จำหน่ายราคาเล่มละ 135 บาท หาซื้อได้จากร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ