ปลัดเกษตรฯ เผยปฏิบัติการฝนหลวงได้ผล อัตราความหนาแน่นหมอกควันภาคเหนือลด ชี้สภาพอากาศเอื้อเร่งแผนทำฝนเทียมแก้ผลกระทบช่วงแล้ง คาดภาคเหนือปีนี้พื้นที่เกษตรไม่กระทบมากหลังสำรวจพบพืชสวนพืชไร่เสียหายไม่ถึง 1 แสนไร่ สั่งหน่วยเกี่ยวข้องเร่งสำรวจพร้อมให้ความช่วยเหล

ข่าวทั่วไป Tuesday April 8, 2014 17:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 เม.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเเผยภายหลังการประชุมติตามการบูรณาการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อบรรเทาภัยแล้งและลดปัญหาหมอกควันในพื้นทึ่ภาคเหนือเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ ว่า เนื่องจากพื้นที่ภาคเหนือซึ่งถือเป็นพื้นที่ต้นน้ำที่กำลังประสบปัญหาภัยแล้งคุกคาม รวมถึงปัญหาไฟป่าและหมอกควันซึ่งส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่เป็นวงกว้าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงฯ ได้ร่วมบูรณาการกับกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมชลประทาน ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิด ทั้งในและนอกเขตพื้นที่ชลประทาน เพื่อเร่งแก้ไขปัญหาช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพื้นที่การเกษตร พร้อมแก้ปัญหาหมอกควันควบคู่กันไปด้วย ซึ่งจากผลการดำเนินงานพบว่าการปฏิบัติการฝนหลวงสามารถลดค่าความหนาแน่นของหมอกควันได้เกือบทุกจังหวัดเป้าหมาย และคาดว่าสถานการณ์ในช่วงตั้งแต่วันที่ 5 - 15 เมษายนนี้ ปัญหาหมอกควันจะไม่รุนแรงมากกว่าช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงฤดูแล้งทางภาคเหนือในปีนี้มีปริมาณความชื้นสัมพันธ์ในอากาศที่สามารถขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงได้อย่างต่อเนื่อง สำหรับสถานการณ์น้ำจากการรายงานของสำนักชลประทานที่ 1 พบว่า ปริมาณน้ำในปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบกับปี 2556 ในช่วงเวลาเดียวกันจะมีปริมาณมากกว่า 63.87 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือมากกว่าปี 2556 ประมาณ 25.6% ซึ่งทางกรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำได้เพียงพอ ยังไม่มีรายงานถึงผลกระทบทั้งการอุปโภค-บริโภค ระบบนิเวศน์ และการจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตร แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กระทรวงเกษตรฯ มีความกังวลต่อผลผลิตทางการเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือ คือ ในกลุ่มพืชสวน พืชไร่ และไม้ยืนต้นเช่น ลิ้นจี่ ลำไย ที่จะมีผลผลิตออกมาในช่วงเดือนมิถุนายน- กรกฎาคมนี้ ก็ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามสถานการณ์ผลกระทบภัยแล้ง พร้อมทั้งสำรวจความเสียหายเพื่อให้ความช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป ซึ่งทางกรมส่งเสริมการเกษตรได้คาดการณ์พื้นที่การเกษตรภาคเหนือที่คาดว่าจะเสียหายประมาณ 2 ล้านไร่ แต่ขณะนี้ในเบื้องต้นพบพื้นที่ทางการเกษตรทางภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งแล้ว 4 จังหวัด เป็นข้าว พืชสวน และพืชไร่ จำนวน 9 หมื่นไร่ คิดเป็นวงเงินช่วยเหลือประมาณ 140 ล้านบาท ด้านนายสุรสีห์ กิตติมณฑล รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาการอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้กรมฝนหลวงฯได้ประสานกับกรมส่งเสริมการเกษตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อจะได้ทราบข้อมูลพื้นที่การเกษตรที่ประสบภัยแล้งในช่วงฤดูแล้ง ทั้งยังติดตามข้อมูลภัยแล้งจากอาสาสมัครฝนหลวง และข้อมูลที่เกษตรกรร้องขอ แล้วนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ว่า สามารถขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงได้หรือไม่ เพื่อให้การปฏิบัติการฝนหลวงมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด และแก้ไขปัญหาให้ภัยแล้งและปัญหาหมอกควันเบาบางลงได้ “ปัจจุบันกรมฝนหลวงฯได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 8 หน่วย ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ นครสวรรค์ ระยอง จันทบุรีอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และสงขลา ซึ่งตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์-31 มีนาคม 2557 มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงรวมกว่า 550 เที่ยวบิน มีรายงานฝนตก 30 วัน รวม 43 จังหวัด ในส่วนของหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเชียงใหม่ ได้ขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง 124 เที่ยวบิน มีรายงานฝนตก 11 วัน ใน 9 จังหวัด ได้แก่ ลำปาง แพร่ พะเยา พิษณุโลก น่าน ลำพูน เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ และแม่ฮ่องสอน ขณะเดียวกัน กรมฝนหลวงฯ ยังมีหน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วตั้งอยู่ที่จังหวัดนครสวรรค์ สามารถขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวงได้ทั่วประเทศ ขึ้นอยู่สภาพความชื้นสัมพัทธ์ทางอากาศต้องมีความเหมาะสม และความพร้อมที่สามารถปฏิบัติการได้ ที่ผ่านมา หน่วยปฏิบัติการเคลื่อนที่เร็วได้ขึ้นบินปฏิบัติการไปแล้ว 2 โซน คือ โซนภาคเหนือที่จังหวัดลำปาง และแพร่ และโซนภาคกลางที่จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท และนครสวรรค์ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าและช่วยลดปัญหาหมอกควัน ถือเป็นการปฏิบัติการช่วงชิงในการทำฝนเพราะวันเวลาค่อนข้างน้อยมาก.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ