โรคพิษสุนัขบ้า ปัญหาที่ทุกคนต้องตระหนัก

ข่าวทั่วไป Thursday April 17, 2014 12:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--โฟร์ พี แอดส์ โรคพิษสุนัขบ้าเป็นโรคติดต่อร้ายแรงป่วยแล้วตายทุกราย โรคพิษสุนัขบ้าเป็นภัยร้ายใกล้ตัว โดยเฉพาะผู้เลี้ยงสุนัข คนที่อยู่ในบ้านและเพื่อนบ้าน โดยผู้เลี้ยงสุนัขส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าเลี้ยงสุนัขอยู่ในบ้านไม่จำเป็นต้องฉีดวัคซีนเพราะเลี้ยงดูอย่างดี ซึ่งเป็นความเข้าใจผิด เพราะจากข้อมูลผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้าพบว่ากว่าร้อยละ 80เกิดจากถูกสุนัขที่เลี้ยงไว้ และสุนัขของเพื่อนบ้านที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ากัด ผู้ที่ถูกสัตว์สงสัยโรคพิษสุนัขบ้า เช่น สุนัข แมว กัดหรือข่วน ให้รีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา แล้วรีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพื่อรับการฉีดวัคซีนป้องกัน นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า จากรายงานการพบสัตว์ติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ในจังหวัดมหาสารคาม ทางสำนักงานปศุสัตว์อำเภอโกสุมพิสัย ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมหาสารคาม และสาธารณสุขอำเภอโกสุมพิสัยได้ดำเนินการสอบสวนโรค สุนัขที่พบเชื้อเป็นสุนัขเพศเมียพันธ์ผสมพุดเดิ้ล อายุประมาณ 3 ปี สุนัขคลอดลูกครอกแรก 5 ตัว เป็นตัวผู้ 3 ตัว ตัวเมีย 2 ตัว ลูกสุนัขเพศเมียจำนวน 2 ตัวถูกส่งมาที่กรุงเทพ และถูกส่งต่อไปที่บุรีรัมย์และพิษณุโลกตามลำดับ ปัจจุบันลูกสุนัขทั้ง 2 ตัวตายแล้ว ส่วนลูกสุนัขเพศผู้ 3 ตัว ถูกนำไปขายที่ตลาดข้างมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ไม่สามารถระบุผู้ซื้อ ทราบเพียงแต่เป็นนักศึกษา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งสำนักงานปศุสัตว์อำเภอโกสุมพิสัย ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอโกสุมพิสัย และองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบถึงการระบาด และดำเนินการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพิษสุนัขบ้า วิธีการปฏิบัติหลังสัมผัสสุนัข และแมวสงสัยในพื้นที่รอบจุดเกิดโรครัศมี 5 กิโลเมตร และขอความร่วมมือผู้นำและอาสาสมัครหมู่บ้านในการเฝ้าระวังโรค และขอเตือนประชาชนโดยเฉพาะผู้เลี้ยงสุนัข นายสัตวแพทย์ทฤษดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้จนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2557 กรมปศุสัตว์ ร่วมกับกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดให้มีโครงการรณรงค์การฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า และส่งเสริมการเลี้ยงสุนัขที่ถูกต้องทั่วประเทศ ดังนั้นเพื่อให้วัคซีนสามารถป้องกันโรคอย่างเต็มประสิทธิภาพสัตว์สุนัขอายุได้ 2 เดือนขึ้นไป ต้องนำไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า อย่างไรก็ตามนอกจากช่วงเวลาดังกล่าวควรนำสัตว์ไปฉีดวัคซีนกระตุ้นตามที่สัตวแพทย์กำหนด และฉีดซ้ำทุกปีไม่ต้องรอหน้าร้อนเพราะโรคพิษสุนัขบ้าเกิดได้ตลอดทั้งปี รวมทั้งการฉีดวัคซีนควรดำเนินการโดยสัตวแพทย์ ควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนโดยบุคคลแอบอ้าง นอกจากนี้หากสุนัขตายหรือมีอาการสงสัยป่วยด้วยโรคพิษสุนัขบ้าให้ทำการแจ้งหน่วยงานปศุสัตว์เพื่อส่งตรวจเพื่อยืนยันว่าไม่เป็นโรคพิษสุนัขบ้า ด้านนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุม กล่าวว่า โรคพิษสุนัขบ้าหรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากเชื้อไวรัสเรบี่ส์ สัตว์นำโรคได้แก่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิด เช่น ชะนี กระรอก กระแต กระต่าย ลิง ค้างคาว หรือแม้กระทั่งสัตว์เศรษฐกิจ วัว ควาย แพะ สัตว์นำโรคที่สำคัญที่สุดในประเทศไทย คือ สุนัข ผู้ป่วยโรคพิษสุนัขบ้ามากกว่าร้อยละ 95 มีสาเหตุมาจากสุนัขกัดหรือข่วน รองลงมาคือ แมว ซึ่งสามารถตรวจพบเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าในน้ำลายได้ 1-7 วัน ก่อนแสดงอาการโรคพิษสุนัขบ้า อาการของโรคพิษสุนัขบ้าที่พบในคน ระยะฟักตัวอาจสั้นมากคือไม่ถึงสัปดาห์ หรืออาจนานเกิน 1 ปี อาการในคนเริ่มแรก คือ เบื่ออาหาร เจ็บคอ มีไข้ อ่อนเพลีย มีอาการคันรุนแรงบริเวณที่ถูกกัด แล้วอาการคันลามไปส่วนอื่น ต่อมาจะมีอาการกระสับกระส่าย กลัวแสง กลัวลม ไม่ชอบเสียงดัง เพ้อเจ้อ กลืนลำบาก โดยเฉพาะของเหลว กลัวน้ำ ปวดท้องน้อยและกล้ามเนื้อขากระตุก แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หรืออาจชัก เร็ง อัมพาต หมดสติ และตายในที่สุด โอกาสที่จะเจ็บป่วยหลังถูกสัตว์ที่ป่วยหรือมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้ากัดหรือข่วนขึ้นอยู่กับ 1. จำนวนเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าที่เข้าไปในร่างกาย ซึ่งบาดแผลที่ถูกกัดมีขนาดใหญ่ ลึกหรือมีบาดแผลหลายแห่งจะมีโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายได้มาก 2. ตำแหน่งที่ถูกกัดหรือตำแหน่งที่เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าเข้าสู่ร่างกาย เช่น ศีรษะ หรือ บริเวณที่มีปลายประสาทมาก เช่น มือหรือเท้า เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ระบบประสาทได้ง่าย 3. อายุของคนที่ถูกสุนัขกัดหรือข่วน เช่น เด็กและผู้สูงอายุจะมีความต้านทานต่อโรคพิษสุนัขบ้าต่ำกว่าคนหนุ่มสาว และ 4. สายพันธุ์ของเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ถ้าเป็นสายพันธุ์จากสัตว์ป่า จะมีอาการรุนแรงกว่าสายพันธุ์จากสัตว์เลี้ยง อย่างไรก็ตามเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า ประชาชนควร 1.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้สัตว์เลี้ยง ครั้งแรกตั้งแต่อายุ 2-4 เดือน และฉีดซ้ำทุกปี แม้จะเป็นสุนัขที่เลี้ยงไว้ในบ้านเพราะอาจถูกสุนัขที่เป็นโรคพิษสุนัขบ้ากัดขณะที่เห่าบริเวณ ช่องรั้วบ้าน หรือถูกกัดขณะเจ้าของเปิดประตูบ้านโดยที่เจ้าของไม่ทราบ หรือจากสุนัขที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่ 2.ปฏิบัติตามคำแนะนำ 5 ย คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ และอย่ายุ่ง เพื่อป้องกันการถูกสุนัขกัด (อย่าแหย่ให้สุนัขโมโห อย่าเหยียบสุนัข (หาง, ตัว, ขา) หรือทำให้สุนัขตกใจ อย่าแยกสุนัขที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า อย่าหยิบชามอาหารขณะสุนัขกำลังกิน และอย่ายุ่งกับสุนัขนอกบ้านหรือที่ไม่ทราบประวัติ) และ 3.เมื่อถูกสุนัขกัดให้ล้างแผลให้สะอาด และรีบไปพบแพทย์ ส่วนสุนัขที่กัดให้ขังดูอาการเป็นเวลาอย่างน้อยเป็นเวลา 10 วัน “โรคนี้ไม่มีทางรักษาให้หายได้ หากติดเชื้อและมีอาการแล้ว เสียชีวิตทุกราย ป้องกันได้ด้วยการนำสัตว์เลี้ยงไปรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าตามกำหนด ใช้คาถา 5 ย ถ้าถูกสุนัขหรือสัตว์กัดข่วนให้รีบล้างแผล ใส่ยา กักหมาหาหมอ ประชาชนที่มีความสนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กลุ่มโรคติดต่อระหว่างสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป โทร 0-2590 3177-78 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเน้นย้ำในตอนท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ