สธ.จับมือ WHO ตั้งเครือข่ายเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพ

ข่าวทั่วไป Friday December 26, 1997 16:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--26 ธ.ค.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กระทรวงสาธารณสุข โดยการสนับสนุนจาก องค์การอนามัยโลก (WHO) จัดสัมมนาเรื่อง การจัดตั้งเครือข่ายการเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพ ในวันที่ 26 ธันวาคม 2540 ณ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี เพื่อเร่งดำเนินการให้มีระบบการเฝ้าระวังการดื้อยาของประเทศ ซึ่งจะทำให้ทราบสถานการณ์ปัจจุบันและแนวโน้มการดื้อยาของจุลชีพ ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อที่เป็นปัญหาใหม่ในอนาคต และลดการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่จำเป็นต่อไป
นายคำรณ ณ ลำพูน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยหลังจากเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนาว่า การใช้ยารักษาโรค โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ (antibiotics) อย่างไม่ถูกต้องและเกินความจำเป็น ทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อโรค และยังทำให้โรคติดต่อบางโรคที่สงบไปแล้วกลับมาระบาดใหม่ (Re-emerging diseases) เช่น วัณโรค เป็นต้น ทำให้การรักษาพยาบาลไม่ได้ผล ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาพยาบาลนาน และสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากโดยไม่จำเป็น นอกจากนี้ สภาพสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตของคนเราในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงไปมากทำให้เชื้อโรคหลายชนิดมีการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดด้วยเช่นกันอีกทั้งการคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วก็เป็นปัจจัยเสริมที่เอื้ออำนวยให้เชื้อโรค สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วมาก ฉะนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยของเราจะต้องมีระบบเครือข่ายการเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพที่ดี เพื่อให้สามารถดำเนินการป้องกัน และควบคุมโรคติดต่อที่อาจเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้ทันท่วงที
องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้ให้การสนับสนุนแก่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในการดำเนินโครงการเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพ โดยในเดือนมีนาคม 2540 ที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดอบรมให้แก่เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาล ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งเครือข่ายห้องปฏิบัติการและพัฒนาเทคนิคการตรวจวิเคราะห์การดื้อยาต้านจุลชีพให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและจัดระบบข้อมูล การรายงานโดยใช้โปรแกรม WHO-Network สำหรับการสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อระดมสมองระหว่าง ผู้บริหารโรงพยาบาล แพทย์ เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 100 คน จากหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุข ทบวงมหาวิทยาลัย และภาคเอกชน ในการสร้างระบบเครือข่ายการเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในระดับประเทศ สำหรับแพทย์ในการรักษาพยาบาลที่ถูกต้องต่อไป
นายคำรณ ณ ลำพูน กล่าวในตอนท้ายว่า ประเทศไทยมีการใช้ยาต้านจุลชีพเป็นจำนวนมาก คิดเป็นมูลค่าประมาณปีละหลายหมื่นล้านบาท และส่วนใหญ่เป็นยาที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นับว่าเป็นการสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมาก โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังประสบปัญหาอยู่ในปัจจุบัน ฉะนั้น การมีเครือข่ายระบบการเฝ้าระวังการดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศที่ดีมีประสิทธิภาพ จะช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคและรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดปริมาณการใช้ยาต้านจุลชีพของประเทศ นอกจากนี้ยังช่วยลดอัตราการดื้อยาต้านจุลชีพของเชื้อโรค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการควบคุมโรคติดเชื้อของประเทศในอนาคตต่อไป
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โทร.5910203-14 ต่อ 9017-9081 โทรสาร 5911707 มือถือ 01-9047721--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ