สสอป. เดินหน้าประเมินระบบคุณภาพงานอาหารปลอดภัยตามนโยบาย “สุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่”

ข่าวทั่วไป Wednesday April 30, 2014 18:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 เม.ย.--โฟร์ พี.แอดส์ เดินหน้าสานต่องานอาหารปลอดภัยของประเทศ สสอป. เสนอให้การพัฒนาระบบงานอาหารปลอดภัยของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเป็นตัวชี้วัด มีเป้าหมายเพื่อให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งพัฒนาระบบงานอาหารปลอดภัยในพื้นที่ให้มีความสอดคล้องเชื่อมโยงกันทั้งระบบ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตดี ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาล ลดการสูญเสียทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมของประเทศ นำไปสู่การลดอันตราย ลดป่วย ลดการเสียชีวิต การเกิดโรคติดต่อและไม่ติดต่อ พบลำปาง…ผ่านเกณฑ์ฉลุย!!! นางจงกลนี วิทยารุ่งเรืองศรี ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและสนับสนุนอาหารปลอดภัย (สสอป.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การดำเนินงานพัฒนาระบบคุณภาพงานอาหารปลอดภัยจังหวัด สสอป.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานกลางประสานความร่วมมือการดำเนินงานด้านอาหารปลอดภัย อาหารฮาลาล และความมั่นคงทางอาหารของประเทศจะทำหน้าที่ในการส่งเสริมสนับสนุนมาตรฐานวิธีการปฏิบัติงานอาหารปลอดภัยของสำนักงานสาธารณสุขทุกแห่ง เพื่อให้เกิดการบูรณาการการทำงานในองค์กร มีขั้นตอนกระบวนการทำงานอย่างเป็นระบบไม่ต่างคนต่างทำ รวมทั้งการตรวจติดตามประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อรองรับระบบงานอาหารปลอดภัยของหน่วยงานนั้นๆ ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 (IHR, 2005) เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนและการประเมินสมรรถนะตาม IHR จากองค์การอนามัยโลก ลำปางนับเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ทางคณะกรรมการได้ดำเนินการติดตามประเมินผลเพื่อรองรับระบบงานอาหารปลอดภัย ซึ่งพบว่าจังหวัดลำปางได้คะแนนรวมทุกหมวดเฉลี่ยในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง คือเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดไว้จะต้องได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 อย่างไรก็ตามลำปางยังมีบางประเด็นที่จะต้องพิจารณาเพิ่มเติมเพื่อให้เป็นแนวทางในการพัฒนาระบบคุณภาพงานอาหารปลอดภัยให้ดีมากยิ่งขึ้น เช่น ควรมีระบบการจัดเก็บข้อมูล กฎหมาย ประกาศ หลักเกณฑ์ในการควบคุมกำกับอาหารปลอดภัยของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกส่วน ซึ่งอาจจะเป็นตู้เก็บหรือ website ที่สามารถให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายสามารถนำไปใช้ได้ถูกต้องและรวดเร็ว อีกทั้งควรมีขั้นตอนการปฏิบัติ (SOP) ในการกำกับดูแลอาหารสด อาหารแปรรูปและอาหารปรุงสำเร็จที่สอดคล้องกับการปฏิบัติงานจริง ควรมีข้อมูลครบถ้วนทั้งประเภทและรายละเอียดของแต่ละเรื่อง และมีการนำไปปฏิบัติให้เป็นไปตามที่ระบุไว้ และควรมีการประเมินผล ติดตามผล หลังการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ เจ้าหน้าที่และเครือข่าย “ทั้งนี้ระบบคุณภาพงานอาหารปลอดภัยจังหวัดหมายถึงระบบงานในความรับผิดชอบของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในฐานะทำหน้าที่เป็นหน่วยงานควบคุมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอาหารปลอดภัยและการให้บริการเพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชนตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดตามนโยบาย “สุขภาพดี เริ่มต้นที่นี่”(Good Health Starts Here) และกฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 ซึ่งประกอบด้วย 4 ระบบ คือ 1. นโยบายและการบริหารจัดการ 2.การปฏิบัติการโดยจะต้องมี ระบบป้องกัน ระบบเฝ้าระวัง และระบบตอบโต้ 3. การทบทวนและการประเมินผล 4. เอกสารบันทึกและรายงานรวมทั้งการเก็บรักษา ซึ่งหน่วยงานที่ผ่านเกณฑ์การประเมินจะต้องได้คะแนนรวมไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80” ผอ.สสอป.กล่าวเพิ่มเติม ด้าน นายแพทย์ศิริชัย ภัทรนุธาพร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่าในการพัฒนาระบบคุณภาพงานอาหารปลอดภัยของจังหวัดลำปางจนสามารถผ่านเกณฑ์การประเมินได้นั้น ได้ใช้แนวทางการทำงานทั้ง 4 ระบบได้แก่ 1. นโยบายและการบริหารจัดการ จะมีคณะกรรมการอาหารปลอดภัย หรือผู้รับผิดชอบการจัดทำระบบคุณภาพงานอาหารปลอดภัย โดยบูรณาการงานร่วมกันทั้งหน่วยงานภายในและภายนอก เช่นเกษตรจังหวัด ประมงจังหวัด สำนักงานพื้นที่การศึกษา องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ประชาสัมพันธ์จังหวัด พาณิชย์จังหวัด สถานีพัฒนาที่ดิน พัฒนาชุมชนและอุตสาหกรรมจังหวัด โดยจะมีการติดตามและทบทวนระบบคุณภาพงานอย่างต่อเนื่อง มีการจัดการด้านข้อมูล มาตรฐาน ตามกฎหมายสาธารณสุข พัฒนาศักยภาพบุคลากรให้มีความรู้เรื่องอาหารปลอดภัย มีระบบควบคุม กำกับดูแลผลิตภัณฑ์อาหาร สถานที่จำหน่ายและแหล่งบริการให้ปฏิบัติตามกฎหมายสาธารณสุข รวมทั้งแผนงาน ขั้นตอนและวิธีการสื่อสาร กรณีเกิดภาวะฉุกเฉินด้านอาหาร 2. การปฏิบัติการจะดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดไว้ในนโยบายและการบริหารจัดการ คือ แนวทางการป้องกัน การสื่อสารความเสี่ยงและการตอบโต้ มาตรการป้องกัน การพัฒนา ควบคุมและกำกับดูแล ทั้งอาหารสด อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูปพร้อมจำหน่าย และอาหารปรุงสำเร็จ รวมทั้งมีการพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่ เฝ้าระวังความเสี่ยงที่จะเกิดจากอาหารและน้ำ มีหน่วยและรถโมบายเคลื่อนที่คอยให้บริการ สุ่มเก็บตัวอย่างมาตรวจสอบเป็นระยะ 3. มีการทบทวนและการประเมินผล โดยนำข้อมูลจากการปฏิบัติงานมาหมดมาใช้ประกอบการวางแผนและการป้องกัน เพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงความปลอดภัยของอาหารและป้องกันการเกิดซ้ำ และ 4. มีการบันทึก รายงาน และเก็บเอกสารอย่างเป็นระบบ ด้าน แพทย์หญิงวราลักษณ์ ตังคณะกุล นายแพทย์เชี่ยวชาญด้านโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ กรมควบคุมโรค ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการติดตามประเมินผลการดำเนินงานพัฒนาระบบคุณภาพงานอาหารปลอดภัย กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดลำปางถือได้ว่าประสบผลสำเร็จอย่างมากในการพัฒนาระบบคุณภาพอาหารปลอดภัย แต่อาจมีประเด็นที่ยังต้องดำเนินการเพิ่มเติม ได้แก่ การจัดทำแผน และดำเนินการซ้อมตามแผนรับมือภาวะฉุกเฉินความปลอดภัยด้าน อาหาร พร้อมทั้งมีการประชุมทบทวนบทเรียนจากอุบัติการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว รวมทั้งสร้างทีมตอบโต้ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อลดอันตรายและ ความไม่ปลอดภัยของอาหารในภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการสื่อสารให้ประชาชน รวมทั้งหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน ผู้ประกอบการ สมาคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักและต้องมีการบูรณาการร่วมกันเพื่อแก้ไข ถ้าทุกคนช่วยกันทำให้อาหารปลอดภัย ผู้บริโภคก็ปลอดภัย มีสุขภาพดีถ้วนหน้า และห่างไกลโรค
แท็ก สาธารณสุข  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ