HIFU คลื่นเสียงความถี่สูง ทางเลือกใหม่ทำลายเซลล์มะเร็งได้โดยไม่ต้องผ่าตัด

ข่าวทั่วไป Wednesday May 14, 2014 16:32 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--โรงพยาบาลปิยะเวท HIFU คลื่นเสียงความถี่สูง ทางเลือกใหม่ทำลายเซลล์มะเร็งได้โดยไม่ต้องผ่าตัด โดย นพ.มนตรี กัณหรัตนชัย เจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท สถานการณ์ของโรคมะเร็งที่ทวีความรุนแรงและมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี ข้อมูลล่าสุดในปี 2554 มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง 61,082 ราย เป็นเพศชาย 35,437 ราย เพศหญิง 25,645 ราย อันดับ 1 คือ มะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งประเทศไทยมีอัตราการตายจากมะเร็งตับสูงที่สุดในโลก มะเร็งที่พบในเพศชาย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งเม็ดเลือดขาว ส่วนมะเร็งที่พบในเพศหญิง ได้แก่ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก นพ.มนตรี กัณหรัตนชัย เจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท กล่าวว่า มะเร็งเกิดจากเซลล์ของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมคือ เกิดการแบ่งตัวผิดปกติและเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยกลไกของร่างกายไม่สามารถควบคุมได้ ทำให้เกิดเป็นเนื้อร้าย เมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้นไปเบียดหรือกดหรือลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้ ถ้าเป็นอวัยวะที่สำคัญจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ปัจจุบันจำนวนผู้ป่วยมะเร็งได้เพิ่มมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเนื่องจากการที่คนเรามีอายุยืนยาวขึ้น จึงมีความเสี่ยงหรือมีโอกาสที่จะสัมผัสกับสารก่อมะเร็งเพิ่มขึ้น อาจเกิดจากมลภาวะทางอากาศ อาหารที่รับประทานมีสารก่อมะเร็ง หรืออาจเกิดจากพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมด้านการรับประทานอาหาร พฤติกรรมทางเพศ และพฤติกรรมการใช้สารเสพติด มะเร็งบางชนิดสามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ และปัจจัยหลายอย่างที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง เช่น การสูบบุหรี่ แสงอุลตร้าไวโอเลต การดื่มสุรา สารเคมีบางชนิด ฮอร์โมน รังสี เป็นต้น ผู้ป่วยมะเร็งจะแสดงออกได้หลายอย่าง เช่น มีอาการผิดปกติในอวัยวะ โดยที่มีการเปลี่ยนแปลงของสีและขนาด แผลเรื้อรังที่ไม่หาย ไอเรื้อรัง ระบบขับถ่ายผิดปกติไป กลืนลำบาก อาหารไม่ย่อย น้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุ เลือดหรือ สารคัดหลั่งออกผิดปกติ จึงควรพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุ และรับคำปรึกษาต่อไป การวินิจฉัยมะเร็ง อาศัยประวัติการตรวจร่างกาย การตรวจเลือด การถ่ายภาพรังสี การดูดหรือเจาะชิ้นเนื้อเพื่อตรวจหาเซลล์มะเร็ง ซึ่งมะเร็งหลายชนิดสามารถรักษาให้หายขาดได้ บางชนิดไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่จะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้ วิธีการรักษามะเร็งตามมาตรฐาน มี 3 วิธี ที่สำคัญคือ 1. การผ่าตัดเพื่อนำเอาก้อนมะเร็งออก 2. การฉายรังสี ใช้สำหรับมะเร็งที่ไม่สามารถผ่าตัดออกได้ หรือผ่าตัดออกได้ไม่หมด หรือร่วมกับการผ่าตัดแบบสงวนอวัยวะ 3. การให้เคมีบำบัด ซึ่งเป็นยาฆ่าเซลล์มะเร็งเพื่อยับยั้งหรือทำลายเซลล์มะเร็งที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ปัจจุบันการรักษาโรคมะเร็งจะผสมผสานหลายวิธีร่วมกันเพื่อเพิ่มโอกาสในการควบคุมมะเร็งให้มีประสิทธิภาพที่สุด เครื่อง HIFU ( High – Intensity Focused Ultrasound ) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เสริมการรักษาหลัก โดยทำลายเนื้องอกหรือก้อนมะเร็งในอวัยวะที่ตัน โดยไม่ต้องผ่าตัดและมีรังสีเข้ามาเกี่ยวข้อง ข้อดีของการรักษาด้วย เครื่อง HIFU คือ สามารถกำหนดจุดเฉพาะ ไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บขณะรักษา ไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ปลอดภัย ไม่มีรังสีที่ เป็นมลพิษ เซลล์ของเนื้องอกไม่กระจายไปสู่ส่วนอื่นๆ แต่ข้อจำกัดคือ การทำงานของคลื่นเสียงอัลตร้าซาวด์ความถี่สูง ไม่สามารถผ่านกระดูก หรืออวัยวะที่มีอากาศอยู่ภายในได้ เช่น ปอด ลำไส้ เป็นต้น HIFU เหมาะสำหรับรักษาเนื้องอกหรือมะเร็งที่ยากต่อการผ่าตัด เช่น ตับ ตับอ่อน หรือคนไข้ที่รักษาด้วยเคมีบำบัดแล้วไม่ได้ผลแต่ยังมีก้อนอยู่ อย่างไรก็ตาม HIFU ไม่สามารถรักษามะเร็งระยะลุกลามหรือแพร่กระจายให้หายขาดได้เพียงแค่บรรเทาอาการปวด และเพิ่มคุณภาพชีวิตเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยควรรักษาตามวิธีมาตรฐานก่อน โรคมะเร็งที่รักษาด้วยวิธีนี้แล้วได้ผลดี คือ มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งต่อมลูกหมาก ที่ก้อนไม่ใหญ่เกินไป ผลข้างเคียงของการรักษาคือ ความร้อนจากการทำ HIFU อาจทำให้ผิวหนังบวมแดงเหมือนโดนน้ำร้อนลวกประมาณ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งจะหายได้เอง ซึ่งมีโอกาสเกิดราว 20 % ผลข้างเคียงที่รุนแรง เช่น ภาวะเลือดออกในก้อนมะเร็ง เลือดออกในช่องท้อง เส้นเลือดอุดตัน ซึ่งมีโอกาสเกิดน้อยกว่า 1 % ในต่างประเทศมีการใช้ HIFU มา 10 กว่าปีและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ทำให้ในสหรัฐอเมริกาหรือในยุโรปให้การยอมรับ เป็นการรักษาหรือเพิ่มความหวังและเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผลการรักษาจะได้ผลดีในมะเร็งระยะเริ่มต้นเท่านั้น ส่วนใหญ่ยังต้องใช้ร่วมกับการรักษาวิธีมาตรฐานอื่นๆ เช่น การผ่าตัด เคมีบำบัด และการฉายรังสีรักษา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ