สคร.7 แนะ 5 วิธีบริโภคเห็ดอย่างปลอดภัย

ข่าวทั่วไป Thursday May 22, 2014 18:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 พ.ค.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.7)กล่าวว่า ในระยะนี้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน สภาพภูมิอากาศเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชตระกูลเห็ด ทำให้มีเห็ดป่าหลายชนิดที่เติบโตในสภาพธรรมชาติ ทั้งเห็ดที่รับประทานได้และเห็ดพิษโดยเฉพาะเห็ดที่มีพิษรุนแรงถึงชีวิต ที่พบได้บ่อยคือ เห็ดระโงกหิน เห็ดระงากหรือเห็ดสะงากและเห็ดไข่ตายซาก ซึ่งมีรูปร่างคล้ายกับเห็ดระโงกที่กินได้ แต่ละปีจะพบผู้ป่วยจากการรับประทานเห็ดเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจำนวนมาก รวมถึงพบผู้เสียชีวิตทุกปีเช่นกัน ข้อมูลจากกลุ่มระบาดวิทยาและข่าวกรอง สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 พบผู้ป่วยจากเห็ดพิษในพื้นที่รับผิดชอบแล้ว 11 ราย ยังไม่มีผู้เสียชีวิต โดยจังหวัดที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ จ.ศรีสะเกษ พบผู้ป่วย 5 ราย รองลงมา คือ จ.อุบลราชธานี 3 ราย จ.ยโสธร จ.นครพนม และจ.สกลนคร พบผู้ป่วยจังหวัดละ 1 ราย นายแพทย์ศรายุธ กล่าวต่อว่า สำหรับประชาชนที่ต้องการบริโภคเห็ดได้อย่างปลอดภัยควรปฏิบัติดังนี้ 1.อย่ารับประทานเห็ดที่สงสัย ไม่รู้จัก และไม่แน่ใจ ควรรับประทานเฉพาะเห็ดที่แน่ใจเท่านั้น 2.การรับประทานอาหารที่ประกอบขึ้นด้วยเห็ด ควรรับประทานแต่พอควร อย่ารับประทานจนอิ่มมากเกินไป เพราะเห็ดเป็นอาหารที่ย่อยยากอาจจะทำให้ผู้มีระบบย่อยอาหารที่อ่อนแอเกิดอาการอาหารเป็นพิษได้ 3. อย่ารับประทานอาหารที่ปรุงขึ้นสุกๆดิบๆ หรือเห็ดดิบดอง เพราะเห็ดบางชนิดยังจะมีพิษอย่างอ่อนเหลืออยู่ ผู้รับประทานจะไม่รู้สึกตัวว่ามีพิษจนเมื่อรับประทานหลายครั้งก็สะสมพิษมากขึ้น และเป็นพิษร้ายแรงถึงกับเสียชีวิตภายหลัง 4.ผู้ที่รู้ตัวเองว่าเป็นโรคภูมิแพ้เกี่ยวกับเห็ดบางชนิด หรือกับเห็ดทั้งหมด ซึ่งถ้ารับประทานเห็ดเข้าไปแล้ว จะทำให้เกิดอาการเบื่อเมา หรืออาหารเป็นพิษ จึงควรระมัดระวัง หรือหลีกเลี่ยงการรับประทานเห็ด 5 ระมัดระวังอย่ารับประทานเห็ดพร้อมดื่มสุรา เพราะเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันที ถ้าหากดื่มสุราหลังจากรับประทานเห็ดแล้วภายใน 48 ชั่วโมงเช่น เห็ดหิ่งห้อย เห็ดน้ำหมึกหรือเห็ดถั่ว แม้แต่เห็ดพิษอื่นทั่วไป หาดื่มสุรา เข้าไปด้วย ก็จะเป็นการช่วยให้พิษกระจายได้รวดเร็วและรุนแรงขึ้นอีก ส่วนประชาชนที่ยังมีความเชื่อแบบเดิม เช่น ถ้านำน้ำต้มเห็ดมาแตะกับช้อนเงินแล้วเป็นสีดำแสดงว่าเป็นเห็ดพิษ หากเป็นเห็ดเมาเมื่อใส่หัวหอมจะเป็นสีดำ เห็ดที่มีสีสวยเท่านั้นจะเป็นเห็ดพิษ หรือเห็ดที่มีแมลงกัดกินย่อมรับประทานได้ แท้จริงแล้ววิธีการทดสอบเห็ดพิษและความเชื่อเหล่านั้นไม่เป็นจริงเสมอไป อาจผิดพลาดได้ นอกจากนี้ ยังมีข้อควรระวังพิเศษที่พึงตระหนัก คือ เห็ดที่ไม่มีพิษ แต่เกิดในบริเวณที่มีสารเคมีรั่วไหลหรือปนเปื้อนอยู่ก็มีโอกาสเป็นเห็ดพิษได้หรือเห็ดที่มีรูปร่างลักษณะภายนอกเหมือนกัน เกิดในที่เดียวกัน แท้จริงแล้วอาจเป็นเห็ดคนละชนิดกันก็ได้ นายแพทย์ศรายุธ ยังกำชับอีกว่า หากพบผู้ได้รับพิษจากการกินเห็ด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืด ตาลาย ใจสั่น อ่อนเพลีย ปวดท้อง เวียนศีรษะ การช่วยเหลือเบื้องต้น ที่สำคัญที่สุด คือ ทำให้อาเจียนออกมาให้หมด โดยการล้วงคอหรือกรอกไข่ขาว แล้วรีบไปพบแพทย์หรือนำส่งสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามได้ที่ศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข โทร.1422 ตลอด 24 ชั่วโมง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ