IPITEx’2014 หนุน “วิจัย – พัฒนา” เสริมศักยภาพเชิงพาณิชย์

ข่าวทั่วไป Monday May 26, 2014 16:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 พ.ค.--สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข องค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ หรือ คอบช. ที่ประกอบด้วย 7 หน่วยงาน คือ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร องค์กรมหาชน หรือ สวก. สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการนโนยายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และหน่วยงานพันธมิตร แถลงเตรียมจัดงาน “IP Innovation and Technology Expo – IPITEx. 2014” (ครั้งที่ 1) ณ ห้อง Meeting Room 2 โซนบี ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ศ.นพ.สมเกียรติ วัฒนศิริชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข และในฐานะผู้แทนจาก คอบช. กล่าวว่า ประเทศไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง แต่ไม่สามารถก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูงได้ โดยประชากรไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี ที่ 4,210 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ขณะที่การจะเป็นประเทศรายไดสูงนั้น รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีจะต้องอยู่ที่ประมาณ 12,500 ดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารโลก ได้ชี้แนะว่า การจะก้าวให้หลุดพ้นจากดักกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางให้กระโดดไปสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง คือ การทำวิจัยและพัฒนา หรือ Research and development (R&D) ในส่วนที่เป็นสินค้าและบริการ เพื่อเพิ่มมูลค่าในตลาด “ปัจจัยสู่ความสำเร็จของการดำเนินดังกล่าวได้ คือ การทำให้เกิดกลไกความร่วมมือภาครัฐ-ภาคเอกชน (Public Private Partnership: PPP) ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการนำเอางานวิจัยจากบนหิ้งมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ที่ผ่านมางานวิจัยในมหาวิทยาลัยจะมีการตีพิมพ์อย่างเดียว ยากมากที่จะดึงจากหิ้งมาใช้ คอบช. จึงเกิดแนวคิดในการนำงานวิจัยที่เป็นนวัตกรรมไปสู่ตลาดโลกให้ได้อย่างไร” ศ.นพ.สมเกียรติ กล่าว ฉะนั้น กลยุทธ์ที่สำคัญคือ จะต้องเปลี่ยนวิธีการเพื่อให้สามารถนำผลงานวิจัยเชิงนวัตกรรมไปสู่ภาคธุรกิจ, นักวิจัยที่มีผลงานสามารถขอตำแหน่งทางวิชาการได้, โจทย์วิจัยต้องมาจากภาคเอกชน ลูกค้า หรือผู้ใช้ เพราะทราบถึงปัญหาความต้องการ รวมถึงสิ่งที่ต้องการพัฒนา, ในประเทศไทยจะต้องมีการพัฒนาเครื่องหมายเพื่อรับรองคุณภาพสินค้าและบริการ ซึ่งปัจจุบันเรายังอาศัยการรับรองจากต่างประเทศ, รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณในการทำ R&D และเริ่มพัฒนาต้นแบบของการพัฒนาให้เกิดรูปธรรม เป็นต้น ทางด้าน นายกลินท์ สารสิน กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เราเห็นว่า R&D จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการไทย โดยทางสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มีคณะกรรมการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการเป็นตัวกลางที่จะทำหน้าที่หาลูกค้าให้ผู้ประกอบการ การหนุนการออกมาตรการเพื่อช่วยลดภาษี การส่งเสริมให้ภาคเอกชนเห็นความสำคัญของ R&D เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน รวมทั้งกระตุ้นให้ภาคเอกชนที่ทำ R&D อยู่แล้วได้นำมาต่อยอดพัฒนา นางกุลณี อิศดิศัย รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า งาน IPITEx นับเป็นการจัดครั้งแรกที่จะนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของคนไทย ตามนโยบายของรัฐที่ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยได้มารวมตัวกัน เปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจได้มาพบปะนักวิจัยหรือผู้คิดค้นนวตกรรม ซึ่งจะเป็นช่องทางในการเจรจาทางธุรกิจ รวมทั้งเกิดการต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไป สำหรับงาน “IP Innovation and Technology Expo – IPITEx. 2014” เป็นการแสดงนิทรรศการโดยนำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จากงาน “ตลาดนัดทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Fair)” “เทคโนมาร์ท (Technology and Innovation Mart)” “วันนักลงทุน (Investor’s Day)” “วันนวัตกรรมแห่งชาติ (Innovation Day)” “งานทรัพย์สินทางปัญญาเพื่ออุตสาหกรรม” “งานสิ่งประดิษฐ์เพื่ออุตสาหกรรมในงานวันนักประดิษฐ์” และ “งานวิจัยและพัฒนาธุรกิจเพื่ออุตสาหกรรม” มาจัดร่วมกันเป็นครั้งแรกเพื่อให้เห็นภาพรวมของการพัฒนาของกลุ่มธุรกิจ/อุตสาหกรรม และเกิดความสะดวกต่อผู้เข้าชมงาน และที่สำคัญคือการจับคู่ระหว่างเจ้าของผลงานวิจัย/ผลงานประดิษฐ์กับภาคเอกชน ในการนำผลงานวิจัย/ผลงานประดิษฐ์ไปใช้ประโยชน์ โดยการมีส่วนร่วมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย เน้นการนำเสนอผลงานทรัพย์สินทางปัญญาในรูปสิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรม และเทคโนโลยีที่สามารถนำสู่การพัฒนาสินค้าและบริการ สู่การผลิตเชิงการค้าระดับอุตสาหกรรม เพื่อหวังสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักธุรกิจที่จะใช้ฐานความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการจากนักวิชาการที่แสดงผลงานที่สามารถนำไปสู่การใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ในส่วนของเยาวชนและประชาชนจะได้รับความรู้เพื่อนำสู่การต่อยอดเชิงสังคม/ชุมชนต่อไป สำหรับตัวอย่างผลงานวิจัย ผลงานประดิษฐ์ที่มีศักยภาพและน่าสนใจ อาทิ ถุงเท้าลอกผิวที่ตายแล้วในผู้ป่วยเบาหวาน โดย รศ.ดร. พรอนงค์ อร่ามวิทย์ และคณะ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตาอาร์กอนอาร์คสำหรับหลอมโลหะผสมอุณหภูมิสูงระดับห้องปฏิบัติการ โดย ผศ.ดร. สิริพร โรจนนันต์ และ ผศ.ดร. สุรศิษฐ์ โรจนนันต์ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี การพัฒนาคุณภาพผ้าไหมไทยทอมือลายพื้นเมืองด้วยอุปกรณ์ม้วนเส้นไหมยืนที่ออกแบบและพัฒนาขึ้นใหม่ โดย ผศ.ดร. กิตติศักดิ์ อริยะเครือ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ยางสกิมคุณภาพสูง โดย ดร.สุรพิชญ ลอยกุลนันท์ และคณะ แห่งศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ระบบประเมินพฤติกรรมการขับขี่ด้วยโทรศัพท์ โดย ดร.เฉลิมพล สายประเสริฐ และนายธัญสิทธิ์ ผลประสิทธิ์ แห่งศูนย์อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เอนไซม์ดูโอสำหรับลอกแป้งและกำจัดสิ่งสกปรกบนผ้าฝ้ายแบบขั้นตอนเดียว โดย ดร.ธิดารัตน์ นิ่มเชื้อ แห่งศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ เครื่องมือและกระบวนการตรวจวัดความเผ็ดด้วยเทคนิคเคมี-ไฟฟ้าที่สามารถบ่งชี้ระดับความเผ็ด โดย นายวีระศักดิ์ สุระเรืองชัย และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ธัญพืชผสมถั่วที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุทั่วไปและผู้สูงอายุที่เป็นโรคเบาหวาน โดย นางวันทนีย์ เกรียงสินยศ และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยมหิดล ฯลฯ ทั้งนี้ งาน “IP Innovation and Technology Expo – IPITEx. 2014” มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 18 – 20 กรกฎาคม 2557 ณ Hall 103 – 105 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ