บีโอไอมั่นใจ นักลงทุนจะทยอยยื่นขอส่งเสริมตามเป้าหมายยอดขอรับส่งเสริม 4 เดือนปี 57 ลดน้อยกว่าที่คาด

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday May 28, 2014 14:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--บีโอไอ บีโอไอมั่นใจ สถานการณ์ทางการเมืองลดระดับความขัดแย้งจะช่วยให้นักลงทุนที่ชะลอการยื่นขอรับส่งเสริมจะสามารถตัดสินใจยื่นขอบีโอไอเร็วๆ นี้ ขณะที่ยอดคำขอรับส่งเสริมในช่วง 4 เดือนแรกปี 2557 แม้จะลดลงแต่ก็น้อยกว่าที่คาดการณ์ และยังสูงกว่าช่วงความขัดแย้งทางการเมืองในปี 53 – 54 โดยกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วน และปิโตรเคมี ยังเดินหน้าขยายการลงทุน ส่วนการลงทุนของต่างประเทศ มูลค่าเงินลงทุนยังทรงตัว นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอมั่นใจสถานการณ์ทางการเมืองที่เริ่มคลี่คลาย และลดระดับความขัดแย้งจะช่วยให้นักลงทุนกลุ่มที่ชะลอการตัดสินใจยื่นขอรับส่งเสริมก่อนหน้านี้ มีความมั่นใจและตัดสินใจทยอยยื่นขอรับส่งเสริมเข้ามาในช่วงไตรมาสสองของปีนี้เป็นต้นไป และน่าจะมีมูลค่าเงินลงทุนตามเป้าหมายที่คาดไว้ประมาณ 7 แสนล้านบาท สำหรับสถิติการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2557 (มกราคม – เมษายน 2557) พบว่า มีจำนวนโครงการยื่นขอรับส่งเสริม 399 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 270,000 ล้านบาท โดยจำนวนโครงการลดลงร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีจำนวน 692 โครงการ ขณะที่มูลค่าเงินลงทุนลดลงร้อยละ 44.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งมีมูลค่า 488,900 ล้านบาท ทั้งนี้ แม้ยอดขอรับส่งเสริมในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้จะลดลง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2556 แต่เหตุผลสำคัญที่ทำให้ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกันก็คือ ในช่วง 4 เดือนแรกของปีที่ผ่านมา มีโครงการขนาดใหญ่จำนวนมากยื่นขอรับส่งเสริม ได้แก่ กิจการขนส่งทางอากาศของสายการบินไทย สายการบินไทยแอร์เอเชีย และสายการบินนกแอร์ รวมจำนวน 10 กว่าโครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 158,000 ล้านบาท กิจการผลิตรถยนต์ของฮอนด้า เงินลงทุนกว่า 33,200 ล้านบาท และกิจการเรือเดินทะเลมูลค่ากว่า 20,000 ล้านบาท จึงทำให้ยอดขอรับส่งเสริมในช่วง 4 เดือนแรกปีนี้ดูลดลงมาก นอกจากนี้ หากนำสถิติยอดขอรับส่งเสริมช่วง 4 เดือนแรกปีนี้เปรียบเทียบย้อนหลังกับช่วงเดียวกันของปี 2553 และ 2554 ซึ่งมีเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองด้วย พบว่าช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่าเงินลงทุนสูงกว่า โดยในช่วง 4 เดือนแรกปี 2553 มีมูลค่าเงินลงทุนเพียง 135,700 ล้านบาท และในช่วง 4 เดือนแรกปี 2554 มีมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 170,000 ล้านบาท สำหรับยอดขอรับส่งเสริมในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังมีการขยายการลงทุน ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเครื่องจักร มีมูลค่าเงินลงทุน 161,600 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 61 ซึ่งเป็นผลมาจากการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ระยะที่ 2 หรือ อีโคคาร์ 2 ตามด้วยกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี กระดาษและพลาสติก มีมูลค่าเงินลงทุนของโครงการทั้งหมดที่ยื่นขอรับส่งเสริม 24,500 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 75 เงินลงทุนจากต่างชาติใกล้เคียงปี 56 – หลายประเทศยังขยายลงทุน นายอุดมกล่าวถึงการยื่นขอรับส่งเสริมของโครงการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ ในช่วง 4 เดือนแรกที่ผ่านมา (มกราคม-เมษายน 2557) ว่า มีจำนวน 264 โครงการ เงินลงทุนทั้งสิ้น 219,932 ล้านบาท โดยมูลค่าเงินลงทุนลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีมูลค่าเงินลงทุน 224,314 ล้านบาท โครงการลงทุนจากญี่ปุ่นเป็นกลุ่มที่ยื่นขอรับส่งเสริมมากที่สุด จำนวน 126 โครงการ เงินลงทุน 67,321 ล้านบาท โดยโครงการและมูลค่าเงินลงทุนปรับลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุน 216 โครงการ เงินลงทุน 149,713 ล้านบาท หรือปรับลดลง ร้อยละ 41 และ ร้อยละ 55 ตามลำดับ นอกจากนี้ พบว่ามีการลงทุนของต่างชาติจากหลายประเทศ ที่มีมูลค่าการลงทุนรวมสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนค่อนข้างมาก ได้แก่ โครงการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าเงินลงทุน 41,090 ล้านบาท โครงการลงทุนจากเกาหลีใต้ มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 12,179 ล้านบาท และโครงการลงทุนจากจีน มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 9,344 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ