สมศ. ปิ้งโมเดลจิตอาสาจัดกิจกรรมพัฒนาบุคลากรผ่านกิจกรรมค่ายอาสาฯ ชู“ซ่อม สร้าง เสริม สอน ศิลป์” หวังเป็นต้นแบบพัฒนาสถานศึกษาห่างไกล

ข่าวทั่วไป Wednesday May 28, 2014 16:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--คอร์ แอนด์ พีค สมศ. ปิ๊งไอเดียกิจกรรมพัฒนาบุคลากร นำเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนาสถานศึกษาในถิ่นทุรกันดาร ปลูกจิตอาสา รับผิดชอบสังคม นำร่องที่โรงเรียนบ้านปางไม้แดง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เป็นแห่งแรก พร้อมเชิญสถาบันอุดมศึกษาในจังหวัดเชียงใหม่ ผู้บริหารโรงเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม บูรณาการความร่วมมือโดยใช้ผลการประเมินไปพัฒนา ผ่านกิจกรรม“ซ่อม สร้าง เสริม สอน ศิลป์” หวังผลผลิตคู่มือจัดค่ายอาสาฯใช้เป็นแม่แบบ ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพสถานศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. กล่าวว่า สมศ. ได้จัดกิจกรรมพัฒนาบุคลากรโครงการค่ายอาสาพัฒนาสถานศึกษาในท้องถิ่นทุรกันดาร โดยมีแนวคิดจุดเริ่มต้นจากผลการประเมินคุณภาพภายนอกที่ผ่านมาทั้งสามรอบ พบว่าสถานศึกษาในท้องถิ่นทุรกันดารในหลายจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งมีประมาณ ๑๔,๐๐๐ แห่ง ที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานมีเป็นจำนวนมาก ด้วยข้อจำกัดและขาดความพร้อมทางด้านการศึกษาในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นจำนวนครูผู้สอนห้องเรียนที่ขาดแคลนสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอน หรือในบางโรงเรียนมีอุปกรณ์การเรียนการสอนแต่ชำรุดใช้การไม่ได้ หรือครูผู้สอนและผู้บริหารโรงเรียนยังขาดทักษะและความรู้ในการการบริหารจัดการพัฒนาโรงเรียนให้มีคุณภาพในทุกๆ ด้าน จึงเกิดแนวคิดกิจกรรมที่ส่งเสริมการทำงานแบบมีส่วนร่วมพัฒนากับหน่วยงานต่างๆ และให้เจ้าหน้าที่ของ สมศ. ทุกคนได้ร่วมในกิจกรรม เป็นการพัฒนาบุคลากร สมศ. ในด้านจิตอาสา รับผิดชอบสังคม และในมิติบูรณาการการใช้ผลประเมินไปพัฒนาสถานศึกษาให้เกิดผลสูงสุด “กิจกรรมค่ายอาสาพัฒนานี้ถือเป็นครั้งแรกของ สมศ. โดยนำมาผนวกกับกิจกรรมพัฒนาบุคลากร สมศ. เพื่อปลูกจิตสำนึกของการมีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคม ดังนั้น ในขั้นเริ่มต้นของโครงการได้คัดเลือกโรงเรียนในกลุ่มที่อยู่ห่างไกลถิ่นทุรกันดารจำนวน ๑ แห่งเป็นโรงเรียนนำร่อง คือโรงเรียนบ้านปางไม้แดง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนขนาดกลาง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานการศึกษาเชียงใหม่เขต ๒ โดยนำผลการประเมินมาวิเคราะห์และออกแบบการพัฒนา ผ่านกิจกรรม ๕ ฐานในโครงการนี้” ผู้อำนวยการ สมศ. กล่าวต่อว่า โครงการค่ายอาสาฯ ในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานราชการ หน่วยงานด้านการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชนต่างๆ สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่จากสมศ. เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิศิลปะเพื่อมวลมนุษย์ (Art for All Foundation) และองค์การนิสิต นักศึกษาของสถาบันการศึกษาต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพฯ โรงเรียนและสถานศึกษาในโครงการ 1 ช่วย 9 รวมถึงประชาชนในท้องถิ่น มาร่วมจัดกิจกรรมร่วมกันเป็นเวลา 3 วัน 2 คืน โดยจัดกิจกรรมแบ่งเป็นฐานกิจกรรม “ซ่อม สร้าง เสริม สอน ศิลป์” โดยกิจกรรมในแต่ละฐานจะมีความสำคัญ ที่แตกต่างกัน “ฐานซ่อม” คือการซ่อมแซม สิ่งปลูกสร้าง เช่นการทาสีรั้วโรงเรียน การปรับปรุงสนามเด็กเล่น ปรับปรุงห้องสุขาที่มีอยู่ให้กลับมาใช้ได้ดังเดิม โดยมีมหาวิทยาลัยแม่โจ้ดูแล “ฐานสร้าง” คือการทำซุ้มหน้าประตู สลับทางเข้าออก ปรับปรุงภูมิทัศน์ของโรงเรียนโดยรอบ กิจกรรมนี้ได้รับความร่วมมือจากคณาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา “ฐานเสริม” เป็นการระดมและจัดหาทรัยากรต่างๆ มาสนับสนุน เช่น คอมพิวเตอร์ หนังสือ อุปกรณ์กีฬา โดยได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีการให้บริการซ่อมคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่างๆ ให้กับทางโรงเรียนด้วย “ฐานสอน” คือการจัดห้องเรียน 3 ห้อง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้บริหาร ครูอาจารย์ได้เข้าร่วมรับฟังและเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ห้องเรียนแรกคือ แนวคิดทิศทางรอบสี่และการนำผลประเมินไปใช้ ซึ่งผมจะเป็นวิทยากรประจำห้อง ห้องเรียนที่สองคือ คุณธรรมจริยธรรมกับการเป็นครู ซึ่งจะมี ศ.กิตติคุณ ดร.อำไพ สุจริตกุล และคณะ ห้องสุดท้ายคือ คลีนิกประกันคุณภาพ โดย ดร.คมศร วงษ์รักษา ซึ่งท่านจะมารับฟังปัญหาและตอบข้อสงสัยว่าจะทำอย่างไรให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน และ “ฐานศิลป์” จะเป็นการจัดพื้นที่สอนงานปั้นและระบายสีให้กับเด็กนักเรียนให้เกิดจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างบรรยากาศสุนทรีย์ให้สถานศึกษา ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า การจัดค่ายอาสาฯ ของ สมศ. มีความแตกต่างจากหน่วยงานอื่นๆ ตรงที่ได้มีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน มีการคิดในเรื่องของการสร้างกรอบทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ การทำงานจะต้องสะท้อนให้ถึงวิถีชาวบ้านและวัฒนธรรมท้องถิ่นและการสร้างการมีส่วนร่วมให้กับครู นักเรียน รวมถึงผู้ปกครองและชาวบ้าน ให้เกิดความรู้สึกผูกพันเกิดความรักโรงเรียน และมองเห็นโรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงความสัมพันธ์และความสามัคคี โรงเรียนจะไม่ใช่เป็นเพียงแค่สถานศึกษาที่ให้การศึกษา แต่ยังเป็นสถานที่ ๆ ให้ความรู้กับบุคคลทั่วไป เราได้จัดทำห้องสมุดและพัฒนาห้องสมุดใหม่ โดยเติมเต็มเพิ่มหนังสือที่ดี ที่ได้รับการบริจาคและจัดสรรเพิ่มเติมจาก สมศ. เอง รวมถึงหน่วยงานต่างๆ อย่างพร้อมสรรพ “สมศ.ลงพื้นที่ครั้งนี้เหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว คือ หนึ่ง เราได้เชิญผู้บริหารโรงเรียนต่างๆ มาร่วมกิจกรรมและดูงาน พร้อมกับร่วมพูดคุยถึงปัญหาของแต่ละโรงเรียน โดยนำผลการประเมินมาวางแผนการพัฒนาสถานศึกษา ซึ่งการพูดคุยลักษณะนี้จะช่วยให้แต่ละโรงเรียนที่มีปัญหาต่างกันได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น นำสิ่งที่ดีที่เด่นของแต่ละที่ไปปรับปรุงโรงเรียนของตน สอง สมศ. มีความคิดที่จะจัดทำคู่มือ Best Practice ซึ่งจะเป็นคู่มือที่บอกวิธีการดำเนินงานจัดค่ายอาสาฯ อย่างละเอียด บอกทุกขั้นตอนว่าต้องทำอย่างไรบ้าง เพื่อแจกแก่สถานศึกษาทั่วประเทศ เพราะที่ผ่านมาไม่มีคู่มือแบบนี้ ใครอยากทำค่ายอาสาฯ ก็ทำ แต่ไม่มีคู่มือแนะแนว ผลที่ได้มันจึงไม่สามารถนำมาวัดประเมินอะไรได้ ถ้าเรามีคู่มือก็จะช่วยได้มาก และยังเป็นการเชิญชวนผู้มีจิตอาสาที่อยากจะทำกิจกรรมแบบนี้ ได้มีแนวทางการทำงานเป็นแบบแผนต่อไป” ศ.ดร.ชาญณรงค์กล่าวและว่า “อย่างที่ผมพูดมาตลอดว่า เราต้องการให้สถานศึกษาที่ยังไม่ผ่านการประเมินครั้งก่อน มีผลการประเมินที่ดีขึ้น ก็เท่ากับว่า สมศ.ได้บรรลุพันธกิจที่ตั้งไว้แล้ว”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ