ปภ.แนะวิธีปฏิบัติตนกรณีเกิดอุบัติภัยทางน้ำ

ข่าวทั่วไป Tuesday June 3, 2014 14:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะวิธีปฏิบัติตนกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินขณะโดยสารเรือ อาทิ เรือเอียงหรือโคลงเคลง พลัดตกน้ำ พบคนพลัดตกน้ำ เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้สามารถเอาตัวรอดจากอุบัติภัยทางน้ำได้อย่างปลอดภัย นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อุบัติภัยทางน้ำ โดย เฉพาะเรือล่ม มักเกิดจากความประมาท สภาพเรือไม่ปลอดภัย การบรรทุกเกินพิกัดน้ำหนัก สภาพอากาศแปรปรวน คลื่นลมแรงและอุบัติเหตุเรือชนกัน การเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินนับเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ สามารถเอาตัวรอดจากอุบัติภัยทางน้ำได้อย่างปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะวิธีปฏิบัติตนกรณีเกิดอุบัติภัยทางน้ำ ดังนี้ กรณีเรือเอียงหรือโคลงเคลง ให้ตั้งสติ ไม่ตื่นตกใจ พยายามหาที่ยึดจับให้มั่นคง เพื่อป้องกันการเสียหลักไปทางกราบเรือที่เอียง ทำให้เรือล่มได้ ส่วนผู้โดยสารที่นั่งทางกราบเรือให้นั่งนิ่งๆ พร้อมขืนการเอียงตัวของเรือ จะช่วยมิให้เรือล่ม กรณีพบคนพลัดตกน้ำ ให้ตะโกนบอกนายท้ายเรือหรือคนขับเรือให้ทราบทันที พร้อมบอกจุดที่คนพลัดตกน้ำว่าอยู่บริเวณใดของเรือ เพื่อมิให้หันเรือไปชนหรือใบพัดเรือทำอันตรายต่อคนตกน้ำ จากนั้นให้โยนสิ่งของที่สามารถลอยน้ำได้ เช่น แกลลอนน้ำ ห่วงยาง เสื้อชูชีพ เป็นต้น ให้คนตกน้ำยึดเกาะลอยตัวรอการช่วยเหลือ กรณีพลัดตกน้ำ ให้ถอดรองเท้า เครื่องประดับที่ถ่วงน้ำหนักออกให้หมด พยายามคว้าหรือจับสิ่งของที่ลอยน้ำได้ เพื่อใช้พยุงตัวรอการช่วยเหลือ หากไม่มี ให้ถอดเสื้อหรือกางเกงออก สำหรับทำเป็นโป่งลอยน้ำพยุงตัวไว้ชั่วคราวแล้วปล่อยตัวลอยตามน้ำจนกว่าจะมีคนมาช่วยเหลือ หรือกระแสน้ำพัดเข้าใกล้ฝั่งที่ตื้น หรือมีสิ่งที่สามารถยึดเกาะอย่างมั่นคง จะได้สามารถช่วยเหลือตนเองขึ้นจากน้ำได้อย่างปลอดภัย รวมถึงให้ออกห่างจากเรือในระยะที่ปลอดภัยจากอันตรายของใบพัดเรือ พยายามลอยตัวตามน้ำ หลีกเลี่ยงการคว้าหรือจับกราบเรือที่กำลังแล่น เพราะจะถูกน้ำดูดเข้าไปใต้ท้องเรือ ที่สำคัญ ไม่ควรว่ายน้ำกลับเข้าฝั่งเอง เพราะอาจหมดแรงหรือเป็นตะคริว จมน้ำเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ การเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดอุบัติภัยทางน้ำ จะช่วยให้สามารถเอาตัวรอดจากเหตุฉุกเฉินได้อย่างปลอดภัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ