กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--สพฉ.
การปฏิบัติการด้านการแพทย์ฉุกเฉินเป็นการให้บริการที่ปฏิบัติต่อบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บหรือป่วยกะทันหันซึ่งเป็นอันตรายต่อการดำรงชีวิตหรือการทำงานของอวัยวะสำคัญ ทั้งนี้การดำเนินการตามแผนหลักการแพทย์ฉุกเฉินยังประสบปัญหาอุปสรรคหลายประการ โดยเฉพาะระบบการสื่อสารสั่งการและการประสานงานที่เป็นไปอย่างยากลำบากในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีสภาพเป็นภูเขาสลับซับซ้อน จึงกลายเป็นช่องว่างของการให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่ห่างไกลของประเทศไทย
ด้วยเหตุนี้ในการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินระดับชาติประจำปี 2557 ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จึงได้มีการจัดประกวดผลงานทางวิชาการเพื่ออุดช่องว่างการแพทย์ฉุกเฉินไทยที่เกิดขึ้น โดยโรงพยาบาลระนองสามารถคว้ารางวัลผลงานวิชาการดีเด่น ประจำปี 2557 ประเภทนำเสนอด้วยนวัตกรรมด้วยผลงานเรื่อง “ชุดสื่อสารฉุกเฉินสำหรับศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ในพื้นที่ห่างไกล”
สุวรรณ ยอดแก้ว และ พนม วงศ์ท่าเรื่อ เจ้าหน้าที่ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการโรงพยาบาลระนอง เจ้าของผลงานวิชาการชิ้นนี้ร่วมกันเล่าถึงที่มาที่ไปของการผลิตชุดสื่อสารฉุกเฉินสำหรับศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ในพื้นที่ห่างไกลจนได้รับรางวัลในครั้งนี้ให้เราฟังว่า “ จังหวัดระนองเป็นพื้นที่หนึ่งที่ประสบปัญหาเรื่องการสื่อสารสั่งการ เพราะพื้นที่ของจังหวัดส่วนใหญ่เป็นภูเขาและเทือกเขาสูงทำให้สัญญานการสื่อสารไม่ทั่วถึง ส่งผลให้การช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินในบางกรณีเป็นไปอย่างยากลำบาก เพื่อการแก้ปัญหาดังกล่าวพวกเราจึงได้ออกแบบประดิษฐ์ นวัตกรรมชุดสื่อสารฉุกเฉินสำหรับศูนย์สั่งการในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลักๆ เลยก็เพื่อพัฒนาระบบเทคโนโลยีสื่อสารสั่งการของศูนย์นเรนทรโรงพยาบาลระนองให้ครอบคลุมพื้นที่การปฏิบัติงาน เพื่อให้ประชาชนทั่วทุกพื้นที่ในจังหวัดระนองจะได้รับการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึงด้วยครับ” เจ้าของผลงานวิชาการชิ้นนี้กล่าว
ทั้งนี้ นวัตกรรมชุดสื่อสารฉุกเฉินสำหรับศูนย์สั่งการในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินเป็นระบบถ่ายทอดสัญญาณผ่านคลื่นความถี่วิทยุสื่อสารจากศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการไปยังพื้นที่ที่มีปัญหาในการติดต่อสื่อสาร โดยมีส่วนประกอบหลัก ได้แก่ เครื่องวิทยุสื่อสารและอินเตอร์เฟส ชุดสายอากาศและสายนำสัญญาณ และชุดเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะชุดอินเตอร์เฟสที่ประดิษฐ์และพัฒนาขึ้น โดยใช้อุปกรณ์และวงจรแบบง่ายไม่ต้องใช้กระแสไฟจากภายนอก มีต้นทุนอุปกรณ์ 250 บาท เมื่อรวมกับส่วนประกอบอื่นแล้ว มีราคาแค่ 18,000 บาท ในขณะที่ ชุดอุปกรณ์ดังกล่าวที่มีขายในท้องตลาดมีราคาประมาณ 90,000 – 120,000 บาท
จากการทดลองนำไปใช้ โดยการนำไปติดตั้งในพื้นที่ที่มีปัญหาการติดต่อสื่อสารในพื้นที่อำเภอสุขสำราญ และอำเภอกระบุรีซึ่งเป็นพื้นที่ที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน ผลปรากฏว่าผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่สามารถติดต่อสื่อสารกับศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการได้ในระดับดี ส่วนที่ติดตั้งในพื้นที่อำเภอกะเปอร์และอำเภอละอุ่นซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดระนองสามารถติดต่อได้ในระดับดีมาก
ด้าน นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า “ผลงานวิชาการชิ้นนี้เป็นผลงานที่มีคุณค่าเหมาะสมจะได้รับรางวัลผลงานวิชาการดีเด่น เพราะนวัตกรรมชุดสื่อสารฉุกเฉินสำหรับศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่โรงพยาบาลระนองผลิตขึ้นมานี้ สามารถนำมาใช้ในการแก้ปัญหาด้านการสื่อสารระหว่างศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการกับผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่ยากต่อการติดต่อสื่อสารได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะส่งผลให้การปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีความรวดเร็ว ถูกต้องและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งนี้ ในประเทศไทยเกือบทั่วทุกภูมิภาคมีอีกหลากหลายพื้นที่ที่ห่างไกลและเป็นภูเขาทำให้สัญญาณในการสื่อสารเพื่อเข้าให้การช่วยเหลือด้านการแพทย์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างยากลำบาก หากมีการขยายผลการดำเนินการและนำไปใช้แก้ปัญหาด้านการสื่อสารของศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป จะเป็นการช่วยชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินได้มากขึ้นอีกด้วย” เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าว
ปัจจุบันนวัตกรรมชุดสื่อสารฉุกเฉินสำหรับศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการในระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ในพื้นที่ห่างไกลซึ่งจัดทำขึ้นโดยคุณสุวรรณ ยอดแก้ว และคุณพนม วงศ์ท่าเรื่อ เจ้าหน้าที่ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการโรงพยาบาลระนองได้ถูกนำไปกระจายติดตั้งยังศูนย์สื่อสารสั่งการหลากหลายพื้นที่ห่างไกลในจังหวัดระนอง ส่งผลให้สามารถลดช่องว่างทางด้านการแพทย์ฉุกเฉินและช่วยเหลือชีวิตของผู้ป่วยฉุกเฉินได้เป็นจำนวนมากอีกด้วย