ซีพีเอฟ นำร่องโครงการ “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ที่ จ.ชุมพร

ข่าวทั่วไป Monday June 9, 2014 16:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 มิ.ย.--CPF บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จับมือกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) และเครือข่ายภาคประชาคม ดำเนินโครงการ “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” นำร่องในจังหวัดชุมพร เพื่อร่วมสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูฐานทรัพยากรป่าชายเลนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศไทย น.สพ.สุจินต์ ธรรมศาตร์ รองกรรมการผู้จัดการบริหาร สายเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซีพีเอฟ เปิดเผยว่าการดำเนินโครงการ “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” ในปีนี้ในพื้นที่ปะทิว จะครอบคลุมการบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลนในตำบลชุมโค ตำบลบางสน และตำบลทะเลทรัพย์ รวม 560 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ปลูกใหม่ จำนวน 40 ไร่ และพื้นที่อนุรักษ์ จำนวน 520 ไร่ โดยกิจกรรมในวันนี้จะเป็นการดำเนินการในพื้นที่ปลูกใหม่ จำนวน 10 ไร่ ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากจิตอาสามากกว่า 500 คน ซึ่งเป็นผู้แทนจากประชาคมในพื้นที่สามตำบล หน่วยงานราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้บริหารและพนักงานซีพีเอฟ ตลอดจนครูอาจารย์ นักเรียน และประชาชนในพื้นที่ปะทิว จังหวัดชุมพรซีพีเอฟ ในฐานะภาคเอกชน ขอยืนยันในเจตนารมณ์ที่จะร่วมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าชายเลน ซึ่งเป็นศูนย์รวมความหลากหลายทางชีวภาพที่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของทุกชีวิต ด้วยการสานต่องานปลูกป่าชายเลนที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2536 สู่การสร้างสรรค์และพัฒนาโครงการ “ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน” น.สพ.สุจินต์ กล่าว น.สพ.สุจินต์ กล่าวต่อไปว่า โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการให้สอดคล้องตามแผนแม่บทการจัดการป่าชายเลนประเทศไทย ซึ่งมีเป้าหมายในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าชายเลนไม่น้อยกว่า 1.52 ล้านไร่ ควบคู่ไปกับการสร้างเสริมเครือข่ายในการอนุรักษ์คุ้มครอง และป้องกันป่าชายเลน จึงเป็นที่มาของยุทธ์ศาสตร์ความร่วมมือระหว่าง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อร่วมสนับสนุนการอนุรักษ์และฟื้นฟูฐานทรัพยากรป่าชายเลนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ของประเทศไทย โดยกำหนดนำร่องในพื้นที่ยุทธศาสตร์ 5 แห่งของจังหวัดชุมพร จังหวัดระยอง จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัด สุราษฎร์ธานี และจังหวัดพังงา ทั้งนี้ ซีพีเอฟ ต้องการส่งเสริมความร่วมมือของเครือข่ายและภาคประชาสังคมในพื้นที่ โดยให้ความสำคัญในเรื่อง “ความเข้มแข็งของชุมชน” ที่จะนำไปสู่ “ความร่วมมือเชิงบูรณาการ” สร้างจิตสำนึกและในการร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูปาชายเลนเพื่อการรักษาสมดุลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ