ผู้บริโภคเสนอให้ใช้เงินค่าโฆษณาจ่ายสมทบค่าลิขสิทธิ์ให้กับ RS พร้อมขอ RS คืนเงินค่ากล่องให้กับผู้บริโภค

ข่าวเทคโนโลยี Thursday June 12, 2014 16:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--NBTC Rights นางสาวสารี อ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงกรณีถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 ว่า แน่นอนว่า มีทั้งคนดีใจและเสียใจ เมื่อศาลปกครองสูงสุดยืนยันตามศาลปกครองกลางให้อาร์เอส ชนะคดีนี้ ซึ่งหมายความว่าคนไทยจะได้ชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกผ่านทางฟรีทีวี 22 แม็ทช์ ตามแผนการตลาดเดิมของบริษัท อาร์เอส ส่วนผู้ที่ต้องการชมครบทั้ง 64 แม็ทช์ คงจะต้องไปชมผ่านทางกล่องรับสัญญาณต่างๆ ที่ถูกเข้ารหัสไว้ มีข้อเสนอให้ใช้เงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทสป.) จ่ายสมทบค่าใช้จ่ายให้กับอาร์เอส (RS) ให้ถ่ายทอดฟุตบอลโลกในสถานีโทรทัศน์ ช่อง 5 และช่อง 7 แต่มีคนคัดค้านกันมากว่า สมควรที่จะใช้เงินกองทุนฯ ในการจ่ายตอบแทนค่าลิขสิทธิ์ให้ RS หรือไม่ ผลที่เกิดขึ้นก็มีพอควร นอกเหนือจากต้องตัดสินว่า เงินกองทุนฯสามารถใช้เพื่อจ่ายสมทบค่าลิขสิทธิ์ในครั้งนี้ได้หรือไม่ และหากบังคับให้ถ่ายทอดทั้งหมดในช่อง 5 และ 7 จะเกิดปัญหากับผู้บริโภคที่ซื้อกล่อง RS ไป ว่า จะขอเงินคืนได้จากใครเพราะถึงไม่มีกล่องก็สามารถดูได้อยู่แล้ว ข้อเสนอทางออกเรื่องนี้ที่พอจะเป็นธรรมกับทุกฝ่ายในสายตาผู้บริโภค 1. ใช้งบโฆษณาที่ได้รับจากทั้งช่อง 5 และช่อง 7 จ่ายสมทบค่าลิขสิทธิให้กับ RS เพราะการถ่ายทอดสดที่เกิดขึ้น ย่อม มีผลประโยชน์เกิดขึ้น สัดส่วนของผลประโยชน์จะจัดสรรสมทบให้กับRS อย่างไร โดยไม่ต้องใช้เงินกองทุน ฯ 2.RS รับผิดชอบคืนเงินค่ากล่องให้กับผู้บริโภคที่ต้องการเอาเงินคืน 3. การหามาตรการป้องกันการทำสัญญาที่เกินเลยกฎหมายภายในประเทศ หรือ การจัดซื้อลิขสิทธิ์ร่วมกัน เหมือนอย่างที่เคยดำเนินการ 4. การปรับแก้ไขกฎหมายลิขสิทธิให้เกิดสมดุล ระหว่างการคุ้มครองเจ้าของสิทธิและการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาทั้งของไทยและต่างประเทศในปัจจุบัน ต่างกำหนดข้อยึดหยุ่นเพื่อไม่ให้การคุ้มครองสิทธิมาลุกล้ำสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารการศึกษาและประโยชน์ของสาธารณะ 5. พึงระวังในการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไม่ว่ากับทั้งยุโรป สหรัฐอเมริกา และ TPP ที่ต้องไม่เกินเลย WTO โดยเฉพาะ ไม่ให้การคุ้มครองความตกลงใหม่ ACTA (Anti Counterfeit Trade Agreement) เพราะละเมิดสิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารความรู้ของประชาชนผู้บริโภค ทั้งนี้ วัตถุประสงค์ของกองทุนวิจัยและพัฒนาฯ ตามมาตรา 52 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ประกอบด้วย 1. ดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ตลอดจนส่งเสริมชุมชนและสนับสนุนผู้ประกอบกิจการบริการชุมชน ตามมาตรา 51 2. ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งความสามารถในการรู้เท่าทันสื่อเทคโนโลยีด้านการใช้คลื่นความถี่ เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ หรือผู้ด้อยโอกาส ตลอดจนอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง 3. ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลาการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการดำเนินการขององค์กรซึ่งทำหน้าที่จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 4. สนับสนุน ส่งเสริม และคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม 5. สนับสนุนการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ โดยจัดสรรเงินให้แก่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ