ความเห็นของโครงการ NBTC Policy Watch ต่อการใช้เงินกองทุน กทปส. ซื้อลิขสิทธิ์บอลโลก

ข่าวเทคโนโลยี Friday June 13, 2014 16:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 มิ.ย.--NBTC Policy Watch จากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้มีมติอนุมัติการนำงบประมาณจากจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุน กทปส.) จำนวน 427 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จ่ายชดเชยให้กับบริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมแนจเมนท์ จำกัด เจ้าของลิขสิทธิ์ ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 ทั้ง 64 นัด ผ่านฟรีทีวีช่อง 5 ช่อง 7 และช่อง 8 เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2557 นั้น ทางโครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) เห็นว่าการกระทำดังกล่าวของ กสทช. และ กทปส. มีปัญหาทั้งในเชิงกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ และธรรมาภิบาล ดังนี้ 1. การใช้เงินกองทุน กทปส. ซื้อสิทธิ์ในการถ่ายทอดฟุตบอลโลกผ่านฟรีทีวีไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ข้อใดในการจัดตั้งกองทุน กทปส. ตามมาตรา 52 แห่ง พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2553 แม้ที่ประชุม กสทช. จะอ้างถึงมาตรา 52 (1) ที่ระบุให้กองทุน กทปส. ดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม อย่างทั่วถึง ทว่าวัตถุประสงค์ข้อนี้มุ่งหมายในเรื่องการเข้าถึงในเชิงโครงสร้างขั้นพื้นฐานมากกว่าการเข้าถึงในแง่เนื้อหารายการ เช่น การสนับสนุนการให้บริการอินเทอร์เน็ตทั่วถึงในพื้นที่ห่างไกล หรือการพิจารณาแจกคูปองในการซื้อกล่องเพื่อให้รับสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอลภาคพื้นดินได้อย่างทั่วถึง 2. การอนุมัติเงินของกองทุน กทปส. ซึ่งถือเป็นเงินสาธารณะครั้งนี้ ทำอย่างรวดเร็วโดยขาดกระบวนการที่รอบคอบและโปร่งใส โดยปกติแล้ว การใช้เงินสาธารณะของกองทุน กทปส. นั้นจำเป็นต้องผ่านเงื่อนไขและกระบวนการตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการใช้จ่ายเงิน การติดตาม และการประเมินผลเงินกองทุนฯ ซึ่งเป็นกลไกในการตรวจสอบการใช้เงินสาธารณะให้เป็นไปด้วยความรอบคอบและโปร่งใส การอนุมัติงบลักษณะนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและธรรมาภิบาลขององค์กรกำกับดูแลอย่างยิ่ง 3. การใช้เงินกองทุนเพื่อซื้อเนื้อหาจากบริษัทเอกชนมาเผยแพร่ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลที่พึงกระทำ เพราะฟุตบอลโลกเป็นรายการที่มีมูลค่าทางธุรกิจและสามารถเกิดขึ้นได้เองอยู่แล้วโดยกลไกตลาดอยู่แล้ว การอุดหนุนรายการควรจะทำในกรณีที่เกิดความล้มเหลวของระบบตลาดหรือเมื่อรายการที่ตอบสนองวัตถุประสงค์เฉพาะเจาะจงไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากไม่มีการอุดหนุน เช่น รายการที่ส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น รายการสำหรับคนกลุ่มน้อย ข้อถกเถียงในลักษณะเดียวกันเกิดขึ้นในกรณีของสิงคโปร์ ซึ่งหน่วยงานกำกับดูแลของสิงคโปร์ (MDA) ตัดสินใจที่จะไม่ใช้เงินกองทุน Public Service Broadcast เพื่ออุดหนุนรายการฟุตบอลโลก ด้วยเหตุผลว่าการอุดหนุนดังกล่าวไม่ได้ตอบสนองวัตถุประสงค์ในการปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภคหรือส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่นแต่อย่างใด 4. การอุดหนุนของ กสทช. เป็นการแทรกแซงการทำธุรกิจโดยปกติของภาคเอกชน ไม่เพียงแต่บิดเบือนกลไกตลาด แต่ยังสร้างความไม่แน่นอน และไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการทีวีรายอื่นด้วย นอกจากนั้น กสทช. ยังไม่มีความชัดเจนว่าเหตุใดจึงมอบสิทธิถ่ายทอดฟุตบอลโลกที่ใช้เงินสาธารณะซื้อมาให้กับช่อง 5 ช่อง 7 และช่อง 8 เท่านั้น รวมถึงจะมีวิธีจัดการอย่างไรกับผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการถ่ายทอดสิทธินั้น ไม่เช่นนั้นจะเป็นการนำเงินสาธารณะไปซื้อสิทธิเพื่อการประโยชน์ทางธุรกิจของสถานีโทรทัศน์บางรายเท่านั้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ