กรณีลูกซื้อเพชรคุกกี้ 2 แสน หมอลี่แนะ “อย่ายอมจ่าย” เป็นเรื่องหน่วยงานรัฐต้องกำกับดูแล

ข่าวเทคโนโลยี Monday June 23, 2014 15:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--กสทช. กรณีที่ผู้บริโภคถูกเรียกเก็บค่าบริการแพงลิบ เหตุจากลูกชายใช้โทรศัพท์มือถือแม่ซื้อเพชรเล่นเกมคุกกี้รันร่วม 2 แสนบาท หมอลี่เผย หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ทั้งแบงค์ชาติ กระทรวงไอซีที และ กสทช. ต้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายโดยเร่งด่วน พร้อมแนะผู้บริโภคอย่าเพิ่งจ่ายเงิน แต่ให้บอกเลิกนิติกรรม เพื่อรอหน่วยงานรัฐตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนก่อน กรณีนี้ไม่เพียงแต่เป็นบทเรียนเตือนใจบรรดาผู้ปกครองทั้งหลาย แต่ยังสะท้อนช่องโหว่ในการกำกับดูแลธุรกิจเกมผ่านแอพพลิเคชั่น โดยเรียกเก็บค่าบริการผ่านผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เหตุเกิดจากการมีผู้บริโภครายหนึ่งได้รับบิลค่าโทรศัพท์มือถือเรียกเก็บค่าบริการร่วม 2 แสนบาท ภายหลังตรวจสอบรายการค่าใช้จ่ายในบิล พบว่าเป็นค่าสินค้าและบริการสูงถึง 203,150.71 บาท ซึ่งโทรศัพท์เครื่องดังกล่าวได้ให้ลูกชายไว้ใช้งาน โดยลูกชายได้นำไปใช้เล่นเกมคุกกี้รัน ซึ่งแต่เดิมก็ไม่ได้มีปัญหา จนกระทั่งไปพบคลิปใน youtube แนะนำวิธีการซื้อเพชรฟรี และได้ทำตาม จนเกิดเป็นกรณีดังกล่าวขึ้น นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา หรือ “หมอลี่” กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า การเล่นเกมผ่านแอพพลิเคชั่น โดยมากจะสามารถดาวน์โหลดมาเล่นได้ฟรี แต่หากต้องการอัพเลเวลหรือต้องซื้อชีวิตเพิ่ม ก็ต้องเสียค่าบริการเพิ่ม ซึ่งแรกเริ่มเดิมที การซื้อไอเท็มเหล่านี้จะผูกกับบัตรเครดิตเท่านั้น แต่ปัจจุบันธุรกิจทางด้านนี้ขยายตัวมากขึ้น โดยเฉพาะโทรศัพท์มือถือในระบบแอนดรอยด์จะผูกกับบริการของ google play store ซึ่งในประเทศไทยมี AWN ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ AIS เพียงเจ้าเดียวที่เป็นตัวแทนหักเงินให้กับ google play เมื่อผู้ใช้บริการซื้อของในเกม AWN ก็จะเรียกเก็บเงินผ่านใบแจ้งหนี้ อย่างไรก็ตาม กรณีนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุใดไม่มีการจำกัดวงเงินในการให้บริการ เนื่องจากทาง google play เองก็มีการกำหนดเงื่อนไขต้องซื้อบริการไม่เกินขีดจำกัดการใช้บริการต่อเดือนหรือเครดิตลิมิตของผู้ใช้บริการ กรณีนี้จึงน่าประหลาดใจว่า AWN มาเรียกเก็บค่าบริการถึง 2 แสนบาทได้อย่างไร “โดยปกติถ้าเป็นบริการโทรออกรับสาย ใช้อินเทอร์เน็ต จะถูกควบคุมผ่านระบบเครดิตลิมิตอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อใช้บริการใกล้หมดวงเงิน เมื่อใกล้ครบ บริษัทก็จะแจ้งเตือน สมมติว่าผู้ใช้บริการกำหนดไว้ที่ 5,000 บาท ประมาณ 4,500 บาทก็ต้องแจ้งแล้ว ซึ่งถ้าผู้ใช้บริการไม่ได้ตอบรับการเพิ่มวงเงิน บริษัทก็จะตัดบริการ ซึ่งผู้ใช้บริการจะสามารถรับสายได้อย่างเดียว แต่กรณีนี้ไม่ใช่ทั้งการโทรออกรับสาย หรือการใช้บริการอินเทอร์เน็ต แต่เป็นการซื้อบริการผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่ทาง google play และ AWN ไม่ได้ประสานงานกัน เลยไม่รู้ว่าได้มีการคิดค่าบริการเกินวงเงินแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เป็นประเด็นข้อกฎหมายที่ผู้ใช้บริการสามารถหยิบยกมาต่อสู้ได้” กสทช. ประวิทย์กล่าว กสทช. ประวิทย์ เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นได้สอบถามอย่างไม่เป็นทางการไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงค์ชาติ ถึงข้อกฎหมายและบทบาทในการกำกับดูแล เพราะโดยหลักการแล้วแบงค์ชาติต้องเข้ามาควบคุมการทำธุรกิจประเภทนี้ เพราะถือเป็นการรับชำระเงินข้ามประเทศ ซึ่งถ้าหากไม่มีการควบคุมหรือกำกับดูแล เชื่อว่าในอนาคตจะเป็นปัญหาใหญ่ เช่นเดียวกัน กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ก็ต้องตรวจสอบด้วยเช่นกันว่า การให้บริการในลักษณะนี้ของ AWN ถูกต้องตามกฎหมายของ กสทช. ด้วยหรือไม่ เพราะการให้บริการต้องได้รับอนุญาตจาก กสทช. เช่นการให้บริการอินเทอร์เน็ต การให้บริการโทรออกรับสาย การให้บริการโครงข่าย เป็นต้น แต่ได้รวมถึงบริการการรับชำระเงินแทนด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ ตามข่าวระบุว่าเด็กได้ดูวิธีการซื้อเพชรฟรีจากคลิปใน youtube ซึ่งหากเด็กทำตามวิธีการทุกอย่าง คนที่โพสต์คลิปดังกล่าวก็ถือว่ามีความผิดด้วย เพราะถือว่าเป็นการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จ ดังนั้นผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นเรื่องที่กระทรวงไอซีทีต้องเข้ามาร่วมตรวจสอบ “ผู้บริโภคอย่าเพิ่งไปรับปากว่าจะชดใช้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน รวมถึงเรื่องการผ่อนชำระ เพราะถือว่าเป็นการยอมรับการเป็นหนี้โดยปริยาย สิ่งแรกที่ผู้บริโภคควรทำในกรณีนี้ คือแจ้งบอกเลิกนิติกรรมที่เกิดขึ้นในทันที โดยอ้างว่าเป็นโมฆียะ เพราะนอกจากประเด็นเรื่องผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือคิดค่าบริการเกินวงเงินจำกัดแล้ว ยังมีข้อสงสัยว่าเยาวชนอายุ 12 ปี สามารถทำนิติกรรมลักษณะนี้ได้หรือไม่ โดยผู้บริโภคควรรอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบเรื่องนี้ให้ชัดเจนก่อน” กสทช. ประวิทย์ฝากคำแนะนำถึงผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ทางสำนักงาน กสทช. ยังได้เชิญผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างๆ มาร่วมประชุมเกี่ยวกับกรณีดังกล่าว โดยมีนายประวิทย์เป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งทางบริษัท AWN ที่เป็นคู่กรณีได้แจ้งว่า ได้เปิดเป็นช่องทางในการชำระเงินตั้งแต่ เม.ย. ที่ผ่านมา แต่พบว่าหลังจากเปิดให้บริการเพียงไม่กี่วันก็ปัญหา ผู้บริโภคบางรายที่สมัครแอคเคาน์กับ google เพียงไม่กี่วัน ก็มีค่าใช้จ่ายเป็นแสน ทางบริษัทจึงตัดสินใจระงับการให้บริการไว้ก่อนตั้งแต่เมื่อ 30 พ.ค. ก่อนที่กรณีของผู้บริโภคคนดังกล่าวจะกลายเป็นข่าว และขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการระงับบริการ เพื่อวางมาตรการป้องกันให้แน่ชัดก่อน คงใช้ได้แต่ระบบ prepaid เท่านั้น เนื่องจากระบบจะเปิดให้ซื้อได้ไม่เกินจำนวนเงินที่มีเท่านั้น ส่วนกรณีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายผู้บริโภค ทางบริษัทยินดีเจรจาเพื่อรับผิดชอบทั้งหมดหากเป็นการซื้อโดยไม่ได้ตั้งใจ ขณะที่ทางด้านบริษัท DTAC มีการให้บริการเช่นเดียวกัน โดยกำหนดมาตรการ 3 ข้อ คือ 1) จำกัดวงเงินการซื้อ 1,000 บาท/ครั้ง 2) วงเงินรวมค่าซื้อสินค้าและบริการต้องอยู่ในวงเครดิตลิมิต และ 3) ใช้ผ่านช่องทาง wifi ไม่ได้ ต้องใช้ผ่านทาง mobile network เท่านั้น เพื่อให้บริษัททำการตรวจสอบได้ ขณะที่บริษัททีโอที, กสท. โทรคมนาคม และบริษัททรู ยังไม่มีบริการ โดยทางทรูอยู่ระหว่างการเจรจากับ google

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ