มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) ชมรมนักวิจัยไทยความสุขชุมชน เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องประเมินทัศนคติอันตรายว่าด้วยการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ และความพอใจของสาธารณชนต่อการจัดระเบียบสังคม

ข่าวทั่วไป Monday June 23, 2014 21:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 มิ.ย.--มาสเตอร์โพลล์ มาสเตอร์โพลล์ (Master Poll)ชมรมนักวิจัยไทยความสุขชุมชนเสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องประเมินทัศนคติอันตรายว่าด้วยการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ และความพอใจของสาธารณชนต่อการจัดระเบียบสังคมโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ: กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานคร ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมนักวิจัยไทยความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ (Master Poll) เรื่อง ประเมินทัศนคติอันตรายว่าด้วยการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นแต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์และความพอใจของสาธารณชนต่อการจัดระเบียบสังคมโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,215 ตัวอย่าง ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 19-21 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมา พบว่า หลังจากมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.2 ไม่ยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น ถึงแม้ตนเองได้ประโยชน์ ในขณะที่ร้อยละ 31.8 ที่ยังมีทัศนคติอันตรายต่อการยอมรับรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่น ถ้าตนเองได้ประโยชน์ด้วย เมื่อจำแนกตามเพศ พบว่า หญิงไม่ยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น มากกว่าชาย คือร้อยละ 72.9 ต่อร้อยละ 61.6 และเมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่า หลังจากมี คสช. ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่หรือร้อยละ 78.6 ไม่ยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่นถึงแม้ตนเองได้ประโยชน์ รองลงมาคือ กลุ่มนักเรียน/นักศึกษาเยาวชน ร้อยละ 75.1 และกลุ่มแรงงานรับจ้าง กลุ่มเกษตรกร ร้อยละ 69.4 ในขณะที่ กลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 67.5 และกลุ่มค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 61.1 ต่างก็ไม่ยอมรับรัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น ถึงแม้ตนเองได้ประโยชน์ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 84.7 กังวลว่า ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นจะกลับมาในกลุ่มนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ นายทุน และกลุ่มอาชีพอื่นๆ อีกหลังจากการเลือกตั้ง ดร.นพดล กรรณิกา ประธานชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน กล่าวต่อว่า คสช.กำลังประสบความสำเร็จในการกระชากทัศนคติอันตรายออกไปจากกลุ่มคนสองกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิผลคือ กลุ่มนักเรียน นักศึกษา เด็กและเยาวชน และกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ที่จะปฏิเสธรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่นถึงแม้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย อย่างไรก็ตาม โดยภาพรวมถือได้ว่า คสช. กำลังประสบความสำเร็จที่ทำให้สังคมไทยโดยรวมตื่นตัวในการปฏิเสธรัฐบาลที่ทุจริตคอรัปชั่นถึงแม้ตนเองได้ประโยชน์ก็ตาม แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังกังวลว่า ปัญหาทุจริตคอรัปชั่นจะกลับมาพร้อมกับนักการเมืองภายหลังการเลือกตั้ง คณะผู้วิจัยจึงมีข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์ดังต่อไปนี้ ๑) ปรับปรุงกฎหมายให้ทุกรัฐบาลในอนาคตต้องประกาศต่อสาธารณชนในทุกโครงการลงทุนให้สาธารณชนสามารถแกะรอยทุกเม็ดเงินว่ากระจายไปที่ใดบ้าง ใครกลุ่มใด บริษัทห้างร้านใดได้ประโยชน์เป็นเม็ดเงินเท่าไหร่ ถึงมือประชาชนและชุมชนท้องถิ่นต่างๆ เท่าไหร่ โดยไม่ต้องรอให้สาธารณชนคอยไปขอข้อมูลจากหน่วยงานของรัฐเอง ส่งผลให้รัฐบาลในอนาคตต้องเฟ้นหาคนเก่งและคนดีมีฝีมือมาทำงานรับใช้ประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล คุ้มค่าคุ้มทุนของการใช้ทรัพยากรของประเทศ ๒) ต้องถ่วงดุลอำนาจบริหารของทุกรัฐบาลในอนาคตได้อย่างแท้จริง จากฝ่ายนิติบัญญัติและ ฝ่ายตุลาการ เพราะ ถ้านายกรัฐมนตรีเป็นคนของพรรคการเมืองขนาดใหญ่มีอิทธิพลในสภานิติบัญญัติก็จะง่ายต่อการออกกฎหมายเอื้อผลประโยชน์พวกพ้องของตนเองและพรรคพวก ๓) ต้องเร่งมือทำยุทธศาสตร์ฟื้นฟูประเทศ ปูพื้นเสาหลักของการเป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยคำนึงถึงวัฒนธรรม ความมั่นคงของประเทศและผลประโยชน์ชาติเป็นสำคัญ ในขณะเดียวกันต้องมีกฎหมายคุ้มครองเสียงส่วนน้อยให้สามารถอยู่ในสังคมไทยด้วยความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ในขณะเดียวกัน รศ.ดร. เชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล รองประธานมาสเตอร์โพลล์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน กล่าวว่า เมื่อทำการสอบถามประเมินความพอใจของประชาชนต่อ การจัดระเบียบสังคม เจ้าพ่อ มาเฟีย โดย คสช. ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อคะแนนความพอใจเต็ม 10 คะแนน พบว่า การปราบปรามบ่อนการพนันได้ 9.3 คะแนน การจัดระเบียบรถตู้ ได้ 8.6 คะแนน การจัดระเบียบวินมอเตอร์ไซด์ ได้ 8.1 คะแนน การจัดระเบียบรถแท็กซี่ได้ 7.9 คะแนน และการแก้ปัญหาแรงงานต่างชาติ ปัญหาการค้ามนุษย์ได้ 6.4 คะแนน ตามลำดับ โดยผู้ถูกสัมภาษณ์เจาะลึกระบุว่า การจัดระเบียบสังคมช่วยทำให้มั่นใจในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายลงได้บ้าง ลดการถูกเอารัดเอาเปรียบ และความไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้บริการ แต่อยากให้การจัดระเบียบนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการขับรถที่ปลอดภัย ไม่ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด ไม่ขับรถด้วยความประมาทหวาดเสียว และมีกฎหมายบังคับให้ติดเข็มขัดนิรภัยรถตู้ทุกคัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 85.6 กังวลว่า ปัญหาสังคม เจ้าพ่อ มาเฟียจะกลับมาในกลุ่มนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และอาชีพอื่นๆ อีกหลังการเลือกตั้ง จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 52.7 เป็นหญิง ร้อยละ 47.3 เป็นชาย ตัวอย่างร้อยละ 8.6 อายุน้อยกว่า ปี ร้อยละ 2029.5 อายุระหว่าง 20 – 29 ปี ร้อยละ 34.1อายุระหว่าง 30 – 39 ปี ร้อยละ 19.3 อายุระหว่าง 40–49 ปี และร้อยละ 8.5 อายุ 50 ปีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 65.1 สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าระดับปริญญาตรี ร้อยละ 34.9 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ตัวอย่างร้อยละ 28.7 ระบุอาชีพค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว ร้อยละ 21.6 ระบุเป็นพนักงานเอกชน ร้อยละ 18.3 ระบุอาชีพรับจ้างแรงงาน / เกษตรกร ร้อยละ 14.2 ระบุเป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 8.9 ระบุเป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 6.5 เป็นแม่บ้าน /พ่อบ้าน /เกษียณอายุ ในขณะที่ร้อยละ 1.8 ระบุว่างงาน /ไม่ประกอบอาชีพ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ