คนอีสานประเมินผลงาน คสช. เกรดเฉลี่ย 2.5 กรอบเวลาปฏิรูปเหมาะสม สภาปฏิรูปควรมีส่วนผสมจากการเลือกตั้ง แนะปฏิรูปคอรัปชั่น สวัสดิการ และจิตสาธารณะและวินัย ด่วนที่สุด

ข่าวทั่วไป Tuesday June 24, 2014 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--อีสานโพล วันนี้ (23 มิ.ย. 57) อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “คนอีสานเสนอการปฏิรูปประเทศ” ผลสำรวจพบว่า คนอีสานประเมินการทำงานของ คสช. ในรอบ 1 เดือนได้เกรดเฉลี่ย 2.5 หรืออยู่ในเกณฑ์พอใช้ค่อนไปทางดี ชี้กรอบเวลาตั้งรัฐบาลและปฏิรูปประเทศเหมาะสม อยากได้นายกฯเฉพาะกิจที่เป็นบุคคลทั่วไปที่ไม่เป็นทหาร ข้าราชการ หรือนักการเมือง แนะสภาปฏิรูปควรมีส่วนผสมทั้งจากการเลือกตั้งและการคัดเลือกกันเองของสาขาอาชีพต่างๆ เน้นปฏิรูปคอรัปชั่น สวัสดิการ และจิตสาธารณะและวินัยเร่งด่วนที่สุด เชื่อหลังปฏิรูปอาจเหมือนเดิมหรืออาจดีขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น ขณะที่คะแนนความนิยมพรรคเพื่อไทยยังทรงตัวในระดับต่ำ ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานเกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศและประเมินผลการทำงานของ คสช. รวมถึงคะแนนความนิยมของพรรคการเมือง โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 19-22มิถุนายน 2557 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,062 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด เมื่อสอบถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานว่า ท่านประเมินการทำงานของ คสช. ในการเข้ามาแก้วิกฤตบ้านเมืองในรอบ 1 เดือนอย่างไร พบว่าอันดับหนึ่ง ร้อยละ 43.1 ประเมินว่าการทำงานของ คสช.อยู่ในระดับดี รองลงมา ร้อยละ 36.5 ประเมินว่าพอใช้ ร้อยละ 10.5 ประเมินว่าดีมาก ร้อยละ 6.1 ประเมินว่าควรปรับปรุง และร้อยละ 3.8 ประเมินไม่ผ่านหรือสอบตก เมื่อสอบถามถึงท่านคิดอย่างไรกับกรอบเวลาที่จะมีรัฐบาลชั่วคราวและสภานิติบัญญัติภายในเดือนกันยายน 2557 และทำการปฏิรูปประเทศภายใน 1 ปี กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 59.7 เห็นว่าระยะเวลามีความเหมาะสม รองลงมาร้อยละ 28.3 เห็นว่าใช้เวลานานเกินไป ไปและอีกร้อยละ 12.0 เห็นว่าใช้เวลาสั้นไป อีสานโพลได้สอบถามต่อว่าท่านคาดว่าประเทศไทยหลังจากปฏิรูปประเทศและได้รัฐธรรมนูญใหม่แล้วจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร กลุ่มตัวอย่างคาดว่าจะประเทศไทยจะยังเหมือนเดิม ร้อยละ 42.2 ร้อยละ 42.0 คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 8.8 คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมาก ร้อยละ 5.1 คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงเล็กน้อย มีเพียงร้อยละ 1.9 ที่คาดว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทางที่แย่ลงมาก ซึ่งโดยสรุปคือ คาดว่าจะเหมือนเดิมหรือดีขึ้นบ้างเล็กน้อยเท่านั้น เมื่อถามถึงความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน นายกฯเฉพาะกิจควรมาจากคนกลุ่มใดมากที่สุด พบว่ากลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 56.1 ระบุว่านายกฯเฉพาะกิจควรมาจากกลุ่มคนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มทหาร ข้าราชการพลเรือน และนักการเมืองอาชีพ รองลงมาร้อยละ 25.4 เห็นว่าควรมาจากทหาร ร้อยละ 9.4 เห็นว่าควรมาจากนักการเมืองอาชีพ และอีกร้อยละ 9.1 เห็นว่าควรมาจากข้าราชการพลเรือน นอกจากนี้อีสานโพลยังสอบถามต่อว่าสมาชิกสภาปฏิรูปควรมาจากแนวทางใด (สภาปฏิรูปจะเป็นองค์กรที่ศึกษาการปฏิรูปทุกด้าน มีส่วนร่วมในการยกร่างรัฐธรรมนูญและเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 51.4 ระบุว่าสมาชิกสภาปฏิรูปควรมาจากทั้งการเลือกตั้งและตัวแทนสาขาอาชีพ รองลงมาร้อยละ 36.8 เห็นว่าควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และอีกร้อยละ 11.9 เห็นว่าควรมาจากตัวแทนสาขาอาชีพต่างๆ เลือกกันเอง สำหรับการปฏิรูปประเทศไทยในด้านต่าง ๆ ที่ชาวอีสานอยากให้มีการปฏิรูปแบบเร่งด่วนมากที่สุด (โดยให้ผู้ตอบเลือกได้สูงสุด 3 ข้อ) พบว่า อันดับแรก ร้อยละ 28.6 ระบุว่าควรปฏิรูปการคอรัปชั่น อันดับ 2 ร้อยละ 16.6 เรื่องสวัสดิการ อันดับ 3 ร้อยละ 12.5 เรื่องจิตสาธารณะและความมีวินัย ตามมาด้วยร้อยละ 10.4 ปฏิรูปที่ดินทำกินและการเกษตร ร้อยละ 9.1 กระบวนการยุติธรรม ร้อยละ 6.5 โครงสร้างอำนาจและการเมือง ร้อยละ 5.0 ธุรกิจพลังงาน ร้อยละ 5.0 ระบบภาษี และร้อยละ 4.9 การกระจายอำนาจให้จังหวัด/ท้องถิ่น ท้ายสุด เมื่อถามความคิดเห็นว่าหากมีการเลือกตั้งครั้งใหม่โดยทุกพรรคลงแข่ง คนอีสานจะเลือกพรรคการเมืองใด พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 55.8 ตอบว่ายังไม่ตัดสินใจ (เดิมมีร้อยละ 47.5 ในเดือนเมษายน 2557) รองลงมาร้อยละ 28.5 จะเลือกพรรคเพื่อไทย (เดิมได้ร้อยละ 28.1 ในเดือนเมษายน 2557) ร้อยละ 10.9 เลือกพรรคอื่นๆ และโหวตโน และร้อยละ 4.8 จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์ หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลสำรวจ ซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้ว ความคิดเห็นอื่นๆ ในผลสำรวจนี้เป็นความเห็น ของผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการ จัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 99% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 4% ประกอบด้วย เพศชาย ร้อยละ 52.6 เพศหญิง ร้อยละ 47.4 ส่วนใหญ่อายุ 31-40 ปี ร้อยละ 29.9 รองลงมาอายุ 41.50 ปี ร้อยละ 28.3 อายุ 21-30 ปี ร้อยละ 20.8 อายุ 51-60 ปี ร้อยละ 15.2 อายุ 61 ปีขึ้นไป ร้อยละ 4.1 และอายุ 10-20 ปี ร้อยละ 1.6 ส่วนระดับการศึกษาส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 33.5 รองลงมาปริญญาตรี ร้อยละ 25.1 มัธยมปลาย/ระดับปวช. ร้อยละ 17.9 มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ 11.0 อนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ 10.2 ปริญญาโท/ปริญญาเอก ร้อยละ 2.3 ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 39.9 รองลงมาอาชีพรับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 16.1 ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว/งานอิสระ ร้อยละ 12.5 พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 10.5 รับราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 10.2 พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 5.1 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 3.4 และอื่นๆ ร้อยละ 2.4 ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่อยู่ที่ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 29.9 รองลงมามีรายได้ 10,001-15,000 บาท ร้อยละ 21.4, รายได้รายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 20.5, รายได้ 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 16.0, รายได้ 20,001-40,000 ร้อยละ 9.3 และรายได้มากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 2.8

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ