กระทรวงสาธารณสุข มหาวิทยาลัยนเรศวร สสส.และ สปสช. จับมือ กลุ่มทรู ร่วมมอบความสุขสู่ชุมชน ยกระดับบริการสาธารณสุขชุมชน

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday June 24, 2014 16:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 มิ.ย.--ทรู นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้การวางแผนและการจัดการโครงการสร้างเสริมสุขภาพที่มุ่งเน้นนวัตกรรมสังคม ภายใต้“โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอ เพื่อมุ่งสู่อำเภอสร้างเสริมสุขภาพ” หรือ 24 DHS (24 District Health System) จัดโดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และกลุ่มบริษัท ทรู โดยมีผู้เข้าร่วมประกอบด้วยผู้บริหารและทีมงานบริการสุขภาพระดับอำเภอและท้องถิ่น ชุมชน ใน 24 อำเภอ 10 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง จำนวนกว่า 550 คน ณ จ.พิษณุโลก เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งโครงการดังกล่าว กลุ่มทรู ได้นำศักยภาพเทคโนโลยี 3G เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลในพื้นที่ชุมชนห่างไกล โดยสนับสนุนแอร์การ์ด 3G พร้อมแพ็กเกจ ดาต้าแบบไม่อั้น สามารถใช้ได้ทั้งบนความถี่ 850 MHz และ 2100 MHz ตลอดจนโซลูชั่นการจัดการข้อมูลสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วยแท็บเล็ต พร้อมแพ็กเกจ ดาต้า และเซิร์ฟเวอร์สำหรับเก็บฐานข้อมูลของ 24 อำเภอ พร้อมนำนักเรียนโรงเรียนทรูปลูกปัญญาเข้าร่วมเป็นจิตอาสาจัดเก็บข้อมูลในพื้นที่ 24 อำเภออีกด้วย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประธานในพิธีเปิดการประชุม กล่าวว่า สุขภาวะของชุมชนเป็นเป้าหมายสำคัญของการพัฒนาประเทศ การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน การมีการบริหารจัดการรูปแบบใหม่ที่บูรณาการการทำงานของทุกฝ่ายเข้าด้วยกันโดยมีวิสัยทัศน์และเป้าหมายการทำงานร่วมกัน ระบบสุขภาพระดับอำเภอ (District Health System: DHS) นับเป็นหัวใจสำคัญที่จะสามารถทำให้ทุกฝ่ายบูรณาการการทำงานดังกล่าวเพื่อให้ประชาชนมีการสร้างเสริมสุขภาพและสามารถจัดการสุขภาพของตนเองอย่างยั่งยืน โดยจะสามารถช่วยเสริมหนุนการจัดการปัญหาสุขภาพของกลุ่มวัยต่างๆ ในพื้นที่ รวมถึงเป็นจุดเชื่อมต่อและเป็นฐานที่สำคัญของการบริหารงานแบบเขตบริการสุขภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประโยชน์และตอบสนองต่อปัญหาสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ที่มีความจำเป็นที่แตกต่างกันได้อย่างเหมาะสม “ระบบข้อมูลสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ มีความรวดเร็ว ถูกต้อง นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดความสำเร็จ ทำให้ทุกภาคส่วนได้เห็นเป้าหมายร่วมกันและทราบถึงปัญหาสุขภาพ ปัจจัยเสี่ยง รวมถึงสถานะสุขภาพที่สำคัญของพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งน่ายินดีที่เทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้การเข้าถึงข้อมูลสุขภาพเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ผมรู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่มีความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยนเรศวร เขตบริการสุขภาพที่ 2 และ 3 และกลุ่มบริษัท ทรู ที่ได้ร่วมกันสร้างรูปแบบการทำงานแบบพหุภาคี ซึ่งนับเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาระบบสุขภาพไทย ที่ทำให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งผมมั่นใจว่าโครงการฯนี้จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนในพื้นที่ซึ่งจะนำมาซึ่งการมีความสุขของชุมชนมากยิ่งขึ้น” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าว ผศ.ดร.นพ.ภูดิท เตชาติวัฒน์ คณบดี คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และผู้จัดการโครงการ 24 DHS กล่าวว่า โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอเพื่อมุ่งสู่อำเภอสร้างเสริมสุขภาพ” หรือ 24 DHS เป็นโครงการที่ดำเนินงานร่วมกับ สสส. โดยเสริมศักยภาพผู้นำการเปลี่ยนแปลงในทีมสุขภาพระดับอำเภอและภาคประชาชนให้มีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ระดับอำเภอที่มีทักษะการบริหารจัดการและมีภาวะผู้นำแบบใหม่ สามารถร่วมกันแก้ไขปัญหาสุขภาพในพื้นที่ โดยมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับความร่วมมือจากคณะต่างๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพและสังคมศาสตร์ และคณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยร่วมกับผู้บริหาร ทีมงานบริการสุขภาพ และท้องถิ่นชุมชน ใน 24 อำเภอของ 10 จังหวัดในภาคเหนือตอนล่าง เพื่อสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาการจัดการสุขภาพแนวใหม่ที่จะสนับสนุนให้เกิดระบบสุขภาพที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมสุขภาพ “การจัดการระบบข้อมูลสุขภาพที่ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่นับเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับภาคีเครือข่าย มุ่งหวังให้ท้องถิ่น ชุมชน และประชาชน ร่วมเป็นเจ้าของข้อมูลสุขภาพ สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยภาคบริการสาธารณสุขจะได้นำข้อมูลสุขภาพนำไปชักชวนให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาร่วมจัดการวางแผนพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพของชุมชนและการสร้างสรรค์นวัตกรรมในการดุแลสุขภาพที่ทุกภาคส่วนร่วมเป็นเจ้าภาพ ขณะที่ภาคการศึกษาจะได้ประโยชน์คือ การช่วยดำเนินงานวิจัยเพื่อสนับสนุนพื้นที่ในการทำงาน และนำองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นมาสร้างนวัตกรรมทางการศึกษาเพื่อการพัฒนาระบบสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยคาดหวังว่าจะขยายองค์ความรู้นี้สู่ประชาคมอาเซียนและนานาประเทศต่อไปอีกด้วย” ผศ.ดร.นพ.ภูดิท กล่าว ดร. กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการด้านสื่อสารองค์กร กลุ่มบริษัททรู กล่าวว่า “การสนับสนุน “โครงการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอเพื่อมุ่งสู่อำเภอสร้างเสริมสุขภาพ” หรือ 24 DHS สานต่อความตั้งใจของกลุ่มทรู ในการนำศักยภาพความเป็นผู้นำเครือข่าย 3G ที่ใหญ่ที่สุดและครอบคลุมพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย ของทรูมูฟ เอช มาร่วมพัฒนาด้านการศึกษา สาธารณสุข ชุมชน และสังคมอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาโดยตลอด ภายใต้โครงการ โครงการ 3G เพื่อโรงเรียนและชุมชน ซึ่งโครงการ 24 DHS นี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกลซึ่งขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ โดยทรูได้สนับสนุนแอร์การ์ด พร้อมซิม 3G และแพ็กเกจ ดาต้าแบบไม่อั้น สามารถใช้ได้ทั้งบนความถี่ 850 MHz และ 2100 MHz ให้กับเจ้าหน้าที่ของโครงการในการติดต่อสื่อสารระหว่างการดำเนินโครงการ ให้กับโรงพยาบาลประจำอำเภอของจังหวัดในภาคเหนือตอนล่างที่เข้าร่วมทั้งโครงการ 24 DHS นอกจากนี้ เพื่ออำนวยความสะดวก ในการดำเนินโครงการ และทรูยังได้สนับสนุนโซลูชั่นการจัดการข้อมูลสุขภาพในแพ็กเกจพิเศษ ประกอบด้วย เซิร์ฟเวอร์สำหรับเก็บฐานข้อมูลของ 24 อำเภอ และแท็บเล็ต พร้อมแพ็กเกจ ดาต้า ในการเก็บข้อมูล จำนวน 240 ชุด สำหรับเจ้าหน้าที่ใช้ในการเก็บข้อมูลสุขภาวะแบบเรียลไทม์ทั้ง 24 อำเภอ พร้อมนำนักเรียนโรงเรียนโครงการทรูปลูกปัญญาในพื้นที่ 24 อำเภอ กว่า 111 โรงเรียนเข้าร่วมเป็นจิตอาสาในการเก็บข้อมูลอีกด้วย” “โครงการ 3G เพื่อโรงเรียนและชุมชน” เป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการทรูปลูกปัญญา ของกลุ่มบริษัท ทรู ที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2554 ได้สนับสนุนชุดอุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญา 3G+ พร้อมแพ็กเกจใช้งานให้โรงเรียนแล้วกว่า 2,500 แห่ง และ รพ.สต. รวมถึงแพทย์ในโรงพยาบาลที่ดูแล รพ.สต. เครือข่ายอีก 200 แห่งทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการอำเภอสร้างสุข ของ สสส. ประกอบด้วย รพ.อำเภอสว่างอารมณ์ จ.อุทัยธานี รพ.อำเภอวชิรบารมี จ.พิจิตร รพ.อำเภอแม่ละมาด จ.ตาก และ รพ.อำเภอพรหมพิราม จ.พิษณุโลก ส่วนพื้นที่ภาคใต้ เราได้ส่งมอบให้กับ รพ.อำเภอละงู จ.สตูล รพ. อำเภอกระพ้อ จ.ปัตตานี ส่วนภาคอีสาน มี รพ. อำเภอด่านซ้าย จ.เลย เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของโรงพยาบาล ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการรักษาเบื้องต้นมากขึ้น โดยไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายการเดินทาง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ