ไทยเจ้าภาพประชุมระดับรัฐมนตรีเอเชีย - บูรณาการสร้างเอเชียแปซิฟิกปลอดภัยจากภัยพิบัติยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Wednesday June 25, 2014 09:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วนจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2557 (The 6th Asian Ministerial Conference on Disaster Risk Reduction : AMCDRR) ระหว่างวันที่ 24 – 26 มิถุนายน 2557 ณ ศูนย์ประชุมบางกอก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อร่วมกำหนดทิศทางและกลไกเชิงนโยบายการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่ครอบคลุมทุกมิติ ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกสามารถรู้รับ ปรับตัว และฟื้นกลับจากภัยพิบัติอย่างรวดเร็ว รวมถึงมีความปลอดภัยจากภัยพิบัติอย่างยั่งยืน โดยมีพลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง เป็นประธานเปิดการประชุม AMCDRR ครั้งที่ 6 พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง คสช. ประธานเปิดการประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 6 พ.ศ.2557 (The 6th Asian Ministerial Conference on Disaster Risk Reduction : AMCDRR) เปิดเผยว่า การประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติได้จัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อเป็นเวทีหารือระหว่างประเทศระดับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกตามกรอบการดำเนินงานเฮียวโกะเพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การประชุมครั้งนี้เป็นครั้งที่ ๖ โดยกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับสำนักงานว่าด้วยกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ จัดการประชุมขึ้นในประเทศไทย ระหว่างวันที่ ๒๒ - ๒๖ มิถุนายน ๒๕๕๗ โดยมีผู้แทนรัฐบาลระดับรัฐมนตรี หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ที่รับผิดชอบด้านการจัดการภัยพิบัติจาก ๖๓ ประเทศ และหน่วยงาน ของไทยเข้าร่วมประชุม ในหัวข้อ “การส่งเสริมการลงทุนเพื่อทำให้ประเทศและชุมชนพร้อมรับและฟื้นกลับเร็วจากภัยพิบัติ” ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายก่อนสิ้นสุดตามกรอบความร่วมมือ และจะนำข้อสรุปจากการประชุมครั้งนี้ นำเสนอต่อที่ประชุมระดับโลกเพื่อการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ณ ประเทศญี่ปุ่น ในปี พ.ศ.๒๕๕๘ นอกจากการประชุมแล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้านการบริหารจัดการน้ำ การแสดงนิทรรศการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม เป็นต้น และนับว่าเป็นโอกาสอันดีที่ผู้แทนรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ จะได้หารือ แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็น ก่อให้เกิดความร่วมมือในการบริหารจัดการภัยพิบัติของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้มีความเข้มแข็งและปลอดภัยจากภัยพิบัติอย่างยั่งยืนต่อไป นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า เอเชียและแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดและได้รับผลกระทบ จากภัยพิบัติรุนแรง ซึ่งสร้างความสูญเสียสูงกว่าภูมิภาคอื่นๆ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกจึงได้ประกาศรับรองกรอบการดำเนินงานเฮียวโกะ (HFA) ค.ศ.2005 – 2015 ซึ่งจะสิ้นสุดวาระในปี 2015 การประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2557 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ในครั้งนี้ เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามกรอบการดำเนินงานเฮียวโกะ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการภัยพิบัติทุกระดับในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ทั้งระดับรัฐมนตรี หัวหน้าหน่วยงาน กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ชุมชนและท้องถิ่น จะได้ร่วมกันทบทวนการดำเนินงานกรอบเฮียวโกะ ถอดบทเรียน และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การจัดการภัยพิบัติ เพื่อกำหนดแนวทางในการรับมือภัยพิบัติที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยประเด็นหลักที่ทุกประเทศจะร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรม ได้แก่ การส่งเสริมการลงทุนเพื่อทำให้ประเทศและชุมชนพร้อมรับและฟื้นกลับเร็วจากภัยพิบัติ ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อการป้องกันภัยพิบัติอย่างยั่งยืน โดยเน้นการเสริมสร้างศักยภาพของชุมชน การลงทุนของภาคเอกชน บทบาทของภาครัฐในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการบริหารจัดการ ความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งทุกประเทศจะได้ร่วมลงนามปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการร่วมสร้างภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกให้มีความปลอดภัยจากภัยพิบัติ ที่สำคัญ ผลจากการประชุมในเวทีดังกล่าว จะนำไปเสนอต่อที่ประชุมระดับโลกเพื่อการลด ความเสี่ยงจากภัยพิบัติสมัยที่ 3 ณ เมืองเซนได ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมีนาคม 2558 นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ประเทศไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานกลยุทธ์ระหว่างประเทศเพื่อการลดภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UNISDR) ได้บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการประชุม AMCDRR ครั้งที่ 6 ให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างความปลอดภัยจากภัยพิบัติ เพื่อเป็นกลไกหนึ่ง ที่จะช่วยผลักดันให้เอเชียและแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีความเข้มแข็งในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติได้ด้วยตนเอง สามารถรู้รับ ปรับตัว และฟื้นกลับจาก ภัยพิบัติอย่างรวดเร็ว และก้าวสู่การเป็นภูมิภาคผู้นำด้านการบริหารจัดการภัยพิบัติในเวทีระดับโลก ที่สำคัญ การประชุมฯ ครั้งนี้ เป็นโอกาสสำคัญ ที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพและความพร้อมในการร่วมกับประเทศสมาชิกเอเชียและแปซิฟิก ขับเคลื่อนความร่วมมือในการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เพื่อให้พลเมืองของภูมิภาคสามารถรับมือภัยพิบัติ และมีความปลอดภัยจากภัยพิบัติอย่างยั่งยืน” “....การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติอย่างยั่งยืน ต้องบูรณาการความร่วมมือจาก 3 ส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน โดยรัฐบาลของประเทศต่างๆ ต้องกำหนดให้การจัดการภัยพิบัติบรรจุอยู่ในแผนพัฒนาประเทศ จัดสรรงบประมาณที่ครอบคลุมการดำเนินงานในทุกด้านและ ทุกระดับ รวมถึงส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการจัดการภัยพิบัติ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายที่จะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ในส่วนของภาคเอกชน ควรส่งเสริมให้มีการลงทุนเพื่อการป้องกันภัยพิบัติ โดยเฉพาะการจัดทำแผนการบริหารความต่อเนื่องของธุรกิจในภาวะวิกฤตและการทำประกันภัยพิบัติ สำหรับชุมชนและภาคประชาสังคม ควรส่งเสริมบทบาทของผู้นำชุมชนในการสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ทั้งการคิด วางแผน การกำหนดมาตรการ การจัดการภัยพิบัติ เพื่อให้ชุมชนมีศักยภาพในการจัดการภัยพิบัติเบื้องต้นด้วยตนเอง ที่สำคัญ ทั้ง 3 ส่วนต้องเชื่อมโยงการดำเนินงานอย่างเข้มแข็งและครอบคลุม จึงจะทำให้การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติในระดับภูมิภาคมีประสิทธิภาพในการลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินได้”

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ