เกษตรฯ ขานรับนโยบาย มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรหลังคสช.อนุมัติงบช่วยข้าว ยาง ภัยพิบัติ

ข่าวทั่วไป Wednesday June 25, 2014 13:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--กระทรวงเกษตรและสกรณ์ เกษตรฯ ขานรับนโยบาย คสช.เสริมมาตรการลดต้นทุนเกษตรกร เร่งขยายผลโครงการหมู่บ้านต้นแบบลดต้นทุนผลิตข้าวสู่ชาวนาทั่วประเทศ พร้อมเตรียมเรียกประชุมเกษตรจังหวัดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ร่วมถกแผนขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรในกลุ่มสินค้าข้าว ยาง และผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรหลัง คสช. ไฟเขียวงบประมาณ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากนโยบายคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ หรือ คสช. มีหลักการที่ชัดเจนในการช่วยเหลือเกษตรกร โดยมุ่งลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควบคุมการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายอย่างเคร่งครัด ทั้งในด้านการควบคุมราคาและคุณภาพของปัจจัยการผลิต ดังนั้น เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายเกิดความชัดเจนและเข้าถึงเกษตรกรในทุกพื้นที่อย่างจริงจัง กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้ 2 หน่วยงานหลัก ได้แก่ กรมการข้าวและกรมส่งเสริมการเกษตร จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปให้การช่วยเหลือเกษตรกรอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการแนะนำและให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้เมล็ดพันธุ์พืช ปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพผ่านการรับรองของหน่วยงานราชการ โดยให้โครงการหมู่บ้านชุมชนต้นแบบการลดต้นทุนการผลิตข้าว ปี 2557 (ระยะส่งเสริม) เข้ามาเป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างระบบการลดต้นทุนเพื่อขยายผลไปแก่เกษตรกรในชุมชนอื่น ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตข้าวโดยการใช้เทคโนโลยีการผลิตข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ตั้งแต่การเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี การปรับปรุงดินให้สมบูรณ์ การเตรียมดิน การปลูก การใช้ปุ๋ย การใช้สารเคมีจนถึงการเก็บเกี่ยว อันจะนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้สุทธิให้กับเกษตรกร “สำหรับความคืบหน้าการจัดตั้งหมู่บ้านในศูนย์ข้าวชุมชนที่เกษตรกรสนใจและมีความเหมาะสม ส่งเสริมให้เป็นหมู่บ้านลดต้นทุนการผลิตข้าว ขณะนี้ได้ดำเนินการแล้วจำนวน 85 หมู่บ้าน ใน 17 จังหวัดๆ ละ 5 หมู่บ้าน ได้แก่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี นครนายก สุพรรณบุรี เพชรบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ สกลนคร และนครพนม และมีการจัดเวทีชุมชนระหว่างเกษตรกรร่วมกับนักวิชาการเกษตร เพื่อวิเคราะห์พื้นที่และเลือกชุดเทคโนโลยีการผลิตข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ จัดทำแปลงเรียนรู้ จานวน 153 ไร่ จัดทำแปลงส่งเสริมการลดต้นทุน จำนวน 2,400 ไร่ จัดตั้งกลุ่มผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ จำนวน 32 กลุ่ม จัดตั้งกลุ่มผลิตสารชีวภาพและบริหารศัตรูข้าว จำนวน 18 กลุ่ม” นายชวลิต กล่าว ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมส่งเสริมการเกษตรยังได้กำหนดจัดการสัมมนาเกษตรจังหวัดและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศ ในวันที่ 25 มิถุนายน 2557 ณ โรงแรมเอบีน่า เฮ้าส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกรตามนโยบายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ( คสช. ) และทำความเข้าใจให้แก่เกษตรจังหวัดและเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศกว่า 320 คน ให้มีความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกันถึงขั้นตอนการปฏิบัติตามแนวทางการดำเนินงานโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ซึ่งได้รับอนุมัติงบประมาณจาก คสช. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้แก่ โครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบปี 2557 วงเงิน 6,600 ล้านบาท โดยคสช.ได้อนุมัติงบประมาณแล้วจำนวน 6,159 ล้านบาทนั้น กรมส่งเสริมการเกษตรได้ประสาน ธกส.ให้เตรียมการโอนเงินก้อนดังกล่าวให้แก่เกษตรกรที่ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติถูกต้องตามเงื่อนไขของโครงการฯ ได้ทันที ส่วนวงเงินอีก 440 ล้านบาท ที่จะจ่ายให้แก่เกษตรกรที่อยู่ระหว่างพิสูจน์สิทธิ์การถือครองที่ดินที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 31 กรกฎาคมนี้ ก็จะมีการเสนอ คสช.อีกครั้ง ขณะที่โครงการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2557/58 ก็จะมีการชี้แจงทำความเข้าใจถึงกระบวนการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่มีกว่า 3.7 ล้านครัวเรือน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้ รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติ ปี 2555-57 ที่ คสช.ได้อนุมัติงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 5,498 ล้านบาท เพื่อจ่ายให้เกษตรกรจำนวน 584,005 ราย ใน 68 จังหวัด ซึ่งคาดว่าจะโอนเงินให้เกษตรกรได้แล้วเสร็จภายใน 30 วันหลังจากที่สำนักงบประมาณโอนเงินให้กับ ธ.ก.ส. “การสัมมนาดังกล่าวจะมีการเสวนาเรื่อง การดำเนินงานมาตรการลดต้นทุนการผลิต โดยผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการค้าภายใน กรมการปกครอง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ( ธกส.)และกรมการข้าว นอกจากนี้ยังมีการชี้แจงและตอบข้อซักถามเกี่ยวกับโครงการช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อให้ผู้เข้าสัมมนามีความเข้าใจอย่างถ่องแท้ สามารถนำไปขับเคลื่อนงานได้อย่างฉับไว และไม่มีปัญหาในการดำเนินงาน เกษตรกรได้รับประโยชน์สูงสุดจากโครงการดังกล่าว” นายชวลิต กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ