ชวนน้องนิสิตนักศึกษา พลิกตำราทำความดี กับโครงการ “ปัญญาชน คนทำดี” ปี 2 โดย มูลนิธิเอสซีจี

ข่าวทั่วไป Monday July 7, 2014 13:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ค.--เอสซีจี กลับมาอีกครั้ง กับโครงการ “ปัญญาชน คนทำดี” โดย มูลนิธิเอสซีจี ที่เปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรี หรือประกาศนียบัตรชั้นสูง (ปวส.) รวมตัวกัน 5 คนขึ้นไปมาพลิกตำราทำความดี นำเสนอโครงการเพื่อสังคมโดยมีเงื่อนไขหลักว่าโครงการที่เสนอนั้นจะต้องเป็นโครงการที่น้องๆ นำความรู้ที่สอดคล้องกับสาขาวิชา หรือหลักสูตรที่น้องๆ กำลังศึกษาอยู่มาทำประโยชน์ให้แก่สังคม สำหรับ 20 โครงการที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับงบประมาณสนับสนุนเพื่อดำเนินงานระหว่างเดือน กันยายน – พฤศจิกายน 2557 ด้วยวงเงินสูงสุดโครงการละ 100,000 บาท “การพัฒนา ‘คน’ เป็นพันธกิจของมูลนิธิเอสซีจี เราส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนไทยเป็นทั้งคนเก่งและดี เพราะเด็กๆ คือกุญแจสำคัญในการพัฒนาประเทศ การเป็นคนฉลาด รอบรู้เพียงอย่างเดียว อาจไม่เพียงพอที่จะจรรโลงสังคมให้น่าอยู่ เราจึงชวนนิสิต นักศึกษาให้นำความรู้ที่เรียนบวกกับพลังจิตอาสาไปทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น เพราะในท้ายที่สุดแล้วความรู้ในห้องเรียนจะมีคุณค่ายิ่ง หากสิ่งนั้นสามารถนำมาประยุกต์เพื่อรับใช้สังคม เมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นปีแรกของโครงการ “ปัญญาชน คนทำดี” น้องๆ เยาวชนที่ได้รับการคัดเลือกทั้ง 20 ทีมเดินทางไปทำประโยชน์ทั่วทุกภาคของประเทศ เราปลื้มใจที่ได้เห็นพลังและการตื่นตัวของนิสิตนักศึกษาในเรื่องของจิตสำนึกสาธารณะ และเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีนี้ จะมีน้องๆ เสนอโครงการเพิ่มมากขึ้น” สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าว ไม่เพียงความปลาบปลื้มใจของมูลนิธิเอสซีจีในฐานะผู้ริเริ่มโครงการ “ปัญญาชน คนทำดี” แต่ยังมีเสียงจากน้องนิสิตนักศึกษา ผู้ลงมือทำโครงการปัญญาชนฯ เมื่อปีที่แล้ว อย่างน้องสร้อย นางสาวเพชรรัตน์ มณีนุษย์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ เอกการละคอน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ทำละครเพื่อการศึกษา เรื่องแมงมุมเพื่อนรัก สำหรับเด็กพิการทางสายตา เล่าให้เราฟังอย่างภูมิใจว่า “หนูเคยมีโอกาสได้ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ที่พิการทางสายตาที่จังหวัดลำปาง แม้ว่าจะเป็นกิจกรรมในช่วงสั้นๆ แต่นั้นก็เป็นแรงบันดาลใจให้หนูอยากทำละครที่ครบถ้วนทั้งรูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส เพื่อเด็กผู้ด้อยโอกาสทางการมองเห็นโดยเฉพาะ เพราะพวกเขาเองก็มีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะสัมผัสความงดงามของนิทาน ไม่ต่างจากเด็กที่มีสายตาปกติทั่วไป พอทราบว่ามีโครงการ “ปัญญาชน คนทำดี” หนูจึงสมัครเข้าร่วมทันทีและได้รับคัดเลือก ซึ่งหนูถือว่าเป็นโอกาสที่ดีมากที่มีทุนทรัพย์มาทำเรื่องดีๆ ให้น้องๆ ผู้ด้อยโอกาส” ต่อมาที่น้องแบงค์ ธนพล จัมปามาลา ปัจจุบันกำลังศึกษาอยู่ชั้น ปวส.2 สาขาวิชาช่างอิเล็กทรอนิกส์ วิทยาลัยเทคนิคสารภี จังหวัดเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการ เครื่องแจ้งเตือนอุทกภัย โดยใช้ระบบสมองกลฝังตัว เล่าไว้อย่างน่าสนใจทีเดียว “พวกผมถือว่าเป็นโอกาสดีที่ได้นำความรู้ที่เรียนมาทำให้เกิดเป็นรูปธรรมจริง ทั้งความรู้ด้านวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ความรู้ด้านเซ็นเซอร์ ความรู้ด้านการออกแบบระบบสมองกลฝังตัวที่อินเตอร์เฟสกับอุปกรณ์ภายนอก หรือความรู้ด้านการใช้งานเซลล์พลังงานแสงอาทิตย์ มาบวกรวมกับประสบการณ์ของเพื่อนในทีมที่มีภูมิลำเนาอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัยที่บ้านกึ้ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อคิดค้นเครื่องมือที่ช่วยป้องกันชาวบ้านที่ประสบภัยน้ำหลาก โดยเครื่องเตือนฯ นี้ จะสามารถเตือนเพื่อให้ชาวบ้านอพยพได้ทันท่วงที่ หากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นจนอยู่ในระยะอันตราย จากงบประมาณ 100,000 บาท ที่ได้รับการอนุมัติจากโครงการปัญญาชน คนทำดี โดย มูลนิธิเอสซีจี ทำให้พวกเราสามารถผลิตเครื่องแจ้งเตือนอุทกภัยฯ ทั้งหมด 15 ตัวครับ พวกเรารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือชาวบ้าน แม้บ้านของผมจะไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่ก็รู้ว่าตลอดว่าชาวบ้านเขาเดือดร้อน พวกเราสามารถช่วยอะไรได้ ก็อยากทำให้ได้มากที่สุด" แบงค์ทิ้งท้าย ต่อมา คือคำบอกเล่าจากน้องในโครงการปัญญาชน คนทำดี ปี 2556 อีกคน อย่างนางสาวรูฮาญา เจะซู หัวหน้าโครงการค่าย ปัน ปั่น ปั้น สู่น้องชายแดนใต้ ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จังหวัดปัตตานี เป็นหนึ่งใน 20 ทีมที่ได้รับการคัดเลือก โดยน้องรูฮาญาได้เลือกทำโครงการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดงที่มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน “เราเลือกโรงเรียนบ้านลูโบ๊ะเยาะ ที่อำเภอเจาะไอร้อง จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ในการทำกิจกรรมกับน้องๆ และคนในชุมชนค่ะ เราจัดเป็นฐานกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ผสมผสานหลากหลายวิชา ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ มลายู ไทย กฎหมายอิสลาม นิเทศน์และการแสดง สาขาวิชาด้านการประถมศึกษา ศิลปกรรมศาสตร์ และเกษตรศาสตร์ เพื่อใช้ศาสตร์และศิลป์เหล่านี้เชื่อมโยงคนรุ่นใหม่และเก่า ตลอดจนภูมิปัญญา ความเชื่อท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งนี้เพื่อให้น้องๆ เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Learning by Doing) โดยเสริมทักษะกระบวนการคิด และแก้ปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผล เพื่อหวังปั้นคนรุ่นใหม่ ให้มีแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ และศึกษาต่อในระดับสูงต่อไปแม้ว่าเด็กๆ เหล่านี้ต้องดำเนินชีวิตในพื้นที่สีแดงเข้มก็ตาม ในฐานะที่หนูเรียนอยู่ในคณะศึกษาศาสตร์ และเกิดที่นี่ นราธิวาส หนูจึงอยากนำความรู้ และทักษะครูที่เรียน มาช่วยเหลือชุมชนบ้านเกิดตัวเอง คนจะเป็นครูในวันหน้า ย่อมต้องเรียนรู้ที่จะเข้าใจตนเองและผู้อื่นค่ะ หลังจากกิจกรรมเสร็จสิ้นน้องๆ เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดและพูดคุยสื่อสารกันมากขึ้น ตลอดจนมีแรงบันดาลใจในการศึกษาต่อ สนุกกับการเรียนรู้ และรู้สึกรักและภูมิใจในบ้านเกิดของตนเองมากขึ้น พวกเราขอขอบคุณมูลนิธิเอสซีจีที่ให้โอกาสพวกเราได้คิด ได้นำความรู้มาสร้างสรรค์ ทำกิจกรรมดีๆ เพื่อสังคมค่ะ ” จากคำบอกเล่าที่เจือด้วยรอยยิ้มของน้องๆ ที่เข้าร่วมโครงการ “ปัญญาชน คนทำดี” ปี 2556 ที่ผ่านมา เป็นเสมือนเครื่องยืนยันว่าพวกเขาเหล่านั้นไม่เพียงแต่เรียนรู้อยู่ในตำราเท่านั้น หากแต่จิตอาสาได้นำพานิสิตนักศึกษาสู่โลกกว้าง ด้วยการพกพาความรู้ในห้องเรียน ออกไปทำความดีนอกห้องเรียน นี่คือบทพิสูจน์หนึ่งอันว่าด้วยการประยุกต์ศาสตร์ที่เรียน ผสานกับศิลปะแห่งการแสวงหาความร่วมมือร่วมใจระหว่างนิสิตนักศึกษา ชาวบ้าน และชุมชน ให้เกิดการทำงานร่วมกัน ให้เกิดพลังแห่งการทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคม เพราะ “ปัญญาชน” ต้องการพื้นที่ เพราะ “คนทำดี” มีอยู่ในสังคม สำหรับน้องๆ ที่สนใจเข้าร่วมเสนอโครงการปัญญาชน คนทำดี สามารถเข้าไปดูกติกาเงื่อนไขการสมัครพร้อมดาวน์โหลดใบสมัครที่ www.scgfoundation.org สอบถามเพิ่มเติม โทร. 0 2586 2110 หรือ คลิก www.facebook.com/ปัญญาชนคนทำดี เปิดรับสมัครแล้วตั้งแต่วันนี้ - วันที่ 15 กรกฎาคม 2557

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ