กทม.จัดสัมมนา ระดมความคิด ยกระดับการศึกษา พร้อมรับเปิดเทอมปีนี้

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday May 10, 2005 16:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 พ.ค.--กทม.
กทม.ระดมสมอง เพื่อยกระดับการศึกษา ผู้ว่าฯเผย ความพร้อมในการเปิดรับนักเรียน ปี 2548 ให้บริการฟรี 5 อย่างในโรงเรียน เปิดขยายจำนวนห้องเรียน พร้อมนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการจัดการศึกษา 17 พ.ค.นี้ มอบนโยบายด้านการศึกษาผ่านทางสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง
สัมมนาวาระการศึกษากรุงเทพมหานคร (BMA Educational Agenda)
วันที่ 9 พ.ค.48 เวลา 09.00 น. ณ โรงแรมนารายณ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานครโดยกับสำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร จัดการสัมมนา เรื่อง วาระการศึกษากรุงเทพมหานคร (BMA Educational Agenda) เพื่อระดมความคิดเห็น และผนึกกำลังผู้เกี่ยวข้องในการยกระดับพัฒนาการศึกษาของกรุงเทพมหานคร ให้เป็นที่ยอมรับ
โดยมี ดร.วัลลภ สุวรรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการสัมมนา ร่วมกับ ดร.ปรัชญา เวสารัชช์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ดร.เจือจันทร์ จงสถิตอยู่ ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร รศ.วุฒิสาร ตันไชย นักวิชาการด้านบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนายคมทัศน์ ชัยภักดี ประธานคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของโรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมการสัมมนาประกอบด้วย ผู้บริหารโรงเรียน ศึกษาธิการเขต ผู้บริหารระดับสำนักการศึกษา กรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองที่สนใจ จำนวน 650 คน ทั้งนี้ผลสรุปที่ได้รับจากการระดมความคิดเห็นในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษาของกรุงเทพมหานคร
ร.ร.กทม.พร้อมรับนักเรียนปี 48 ให้บริการฟรี 5 อย่าง
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้แถลงข่าวในกิจกรรม “พบกัน จันทร์ละหน คนกับข่าว” เรื่อง “กรุงเทพมหานครกับความพร้อมรับเปิดเทอม” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า สำหรับการรับนักเรียนกรุงเทพมหานครมีแนวทางในการรับนักเรียน โดยยึดหลักความเป็นธรรม ความเสมอภาค มีความถั่วถึง ครบถ้วน และสามารถรับนักเรียนได้ทุกระดับชั้น จำนวน 83,000 คน แบ่งเป็น ระดับชั้นอนุบาล เปิดสอน จำนวน 1,024 ห้องเรียน สามารถรับนักเรียนได้ จำนวน 31,247 คนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เปิดสอน จำนวน 1,270 ห้องเรียน สามารถรับนักเรียนได้ จำนวน 44,069 คน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เปิดสอน จำนวน 192 ห้องเรียน สามารถรับนักเรียนได้ จำนวน 7,593 คน ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เปิดสอน จำนวน 9 ห้องเรียน สามารถรับนักเรียนได้ จำนวน 300 คน
นอกจากนี้ตนมีนโยบายไม่เก็บค่าเล่าเรียน พร้อมทั้งจะจัดบริการฟรีให้ 5 อย่างได้แก่ แบบเรียน เครื่องเขียน เครื่องแบบนักเรียน อาหารกลางวัน และอาหารเสริม(นม) เพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงเปิดภาคการศึกษาในปีการศึกษานี้ได้กำชับให้การจัดเครื่องแบบ และอุปกรณ์การเรียนต้องแจกฟรีให้แก่นักเรียน ให้แล้วเสร็จภายในช่วงสัปดาห์แรกของการเปิดภาคเรียน อีกทั้งขนาดของเครื่องแบบจะต้องเหมาะสมกับขนาดของตัวของนักเรียนเป็นรายบุคคล เพราะได้มีการเก็บข้อมูลขนาดตัวของนักเรียนตั้งแต่เดือนกันยายน 2547การดำเนินการดังกล่าวใช้งบประมาณทั้งสิ้น 1,042 ล้านบาท
ความพร้อมด้านบุคลากร
ด้วยบุคลากรที่ทำหน้าที่ฝึกสอนความรู้และทักษะต่างๆ ให้แก่นักเรียน ก็มีความสำคัญมาก ต้องเป็นผู้มีความรอบรู้ มีความสามารถ ตลอดจนพัฒนาทักษะการเรียนการสอนต่างๆ ให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้นักเรียนนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ กทม.ได้จัดโครงการอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพครู การจัดทำหลักสูตรการศึกษา และการอบรมพัฒนาครูในสาขาขาดแคลน จำนวน 69 โครงการ อาทิ โครงการปฏิรูปการศึกษา และพัฒนาคุณภาพโรงเรียนสังกัด กทม. โครงการส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษาโครงการโรงเรียนคุ้มครองเด็ก โครงการสัมมนาการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ประกอบด้วย ทัศนะศิลปะศึกษา ดนตรี และนาฏศิลป์ เป็นต้น โครงการอบรมความรู้ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) สำหรับผู้บริหาร โครงการ อบรมเชิงปฏิบัติการผลิตบทเรียนด้วยสื่อคอมพิวเตอร์ (CAI MULTIMEDIA) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการครูคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ และคอมพิวเตอร์ โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเทคนิควิธีการตั้งคำถามเพื่อให้นักเรียนมีทักษะในการคิดวิเคราะห์ เป็นต้น
โรงเรียน กทม.เปิดขยายจำนวนห้องเรียน
ในปีการศึกษา 2548 นี้ กทม. ได้เปิดห้องเรียนเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งอยู่ในระดับ ม.1-ม.3 จำนวน 4 โรงเรียน คือ โรงเรียนหนองจอกพิทยานุสรณ์ โรงเรียนสุเหร่าซีรอ โรงเรียนวัดบุณยประดิษฐ์ โรงเรียนคลองปักหลัก และห้องเรียนร่วมหรือการศึกษาพิเศษอีก 8 โรงเรียน คือ โรงเรียนวัดประชาศรัทธาธรรม โรงเรียนสุเหร่าลาดพร้าว โรงเรียนวัดลาดปลาเค้า โรงเรียนจินดาบำรุง โรงเรียนชูสินทองประดิษฐ์อนุสรณ์ โรงเรียนบางไผ่ โรงเรียนวัดสะแกงาม และโรงเรียนวัดทองใน โรงเรียนทั้ง 12 แห่ง มีความพร้อมทั้งด้านอาคารสถานที่และบุคลากรเพื่อรองรับความต้องการของชุมชน ในบริเวณใกล้เคียงได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการ เกี่ยวกับการเรียนการสอน จึงมีการแยกโรงเรียนในระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษา ออกจากกันจำนวน 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนมัธยมนาคนาวาอุปถัมภ์ เขตสวนหลวง และโรงเรียน มัธยมสุวิทย์เสรีอนุสรณ์ เขตประเวศ
ความร่วมมือกับภาครัฐ และเอกชน เพื่อจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพของกทม.
ในการพัฒนาบุคลกรทางการศึกษาของกรุงเทพมหานครนั้น ได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการจัดอบรมต่างๆ อาทิ การอบรมภาษาต่างประเทศ การพัฒนาการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน การส่งเสริมศักยภาพการพัฒนาและการใช้นวัตกรรมทางการศึกษา และการพัฒนาเทคนิคการสอนเป็นต้นให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความต้องการของชุมชนได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการอบรมภาษาต่างประเทศเพื่อการสื่อสาร แก่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เขตใกล้เคียงกับสนามบินสุวรรณภูมิ โดยใช้โรงเรียนในสังกัด กทม. 20 โรงเรียนในพื้นที่ 7 เขตนี้ เป็นสถานที่ฝึกอบรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งเป็นการพัฒนาผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยการนำหลักสูตรที่ได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม สอดคล้องกับความต้องการของโรงเรียนไปใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาของกทม.ให้มีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เน้นการพัฒนาด้านวิชาการ สภาพแวดล้อม แหล่งการเรียนรู้ สื่อและเทคโนโลยี นำร่อง โรงเรียนวัดยางสุทธาวาส เขตบางกอกน้อย การสอน ภาคเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ โครงการบ้านพิน็อกคิโอ ซึ่งเป็นโครงการ จัดทำศูนย์การเรียนรู้ศิลปศึกษา ได้รับความร่วมมือจากประเทศอิตาลีโครงการโรงเรียนเพื่อนเด็ก ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก Unicefโครงการโรงเรียนรักการอ่าน และโครงการค่ายเด็กออทิสติก ซึ่งได้รับความร่วมมือจาก บริษัท ซีพี เซเว่น อีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) ใช้หลักการมีส่วนร่วม โดย กทม. ได้กระจายอำนาจไปยังสำนักงานเขต และโรงเรียน รับนักเรียนได้อย่างเต็มที่ สำหรับในปีนี้
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการจัดการศึกษา
กทม.เน้นการนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับการเรียนการสอน และการบริการของทุกสถานศึกษา เพื่อให้ผู้บริหาร ครู และนักเรียน มีความพร้อม และความสามารถในการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนการสอนในทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศติดตั้ง Hi-speed Internet (ADSL) ขนาด 1024/512 Kbps ใน 433 โรงเรียน จะแล้วเสร็จในวันที่ 10 พ.ค.48 เพื่อเปิดโลกการเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีให้แก่ผู้บริหารการศึกษา คณาจารย์ และนักเรียน โดยได้รับการสนับสนุนจากบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง และวันที่ 17 พ.ค.48 เวลา 14.00 น. ผู้ว่าฯ กทม.จะมอบนโยบายด้านการศึกษาโดยการถ่ายทอดผ่านทางสัญญาณอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ให้แก่ผู้บริหารโรงเรียน คณาจารย์ และนักเรียนในสังกัดกทม. 433 โรงเรียน ในโอกาสเปิดภาคการศึกษาใหม่ และจะเป็นพื้นฐานในการทำโครงการต่างๆ เช่น E-learning E-library ซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
โครงการสอบภาษาต่างประเทศให้กับนักเรียน กทม.
ส่งเสริมการสอนภาษาต่างประเทศให้กับนักเรียน กทม. โดยจัดเป็นโรงเรียนสอนภาษา เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาสเปน และภาษาอาหรับ ซึ่งปัจจุบัน กทม.ได้จัดหลักสูตรการเรียนการสอนปกติควบคู่กับการใช้ภาษาที่ 2 ในการพัฒนาความรู้และทักษะด้านภาษาให้นักเรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการศึกษาต่อและการประกอบอาชีพได้ โดยสอดคล้องกับความต้องการของชุม โดย กทม.ได้จัดโรงเรียนสองภาษา นำร่อง ภาษาอังกฤษ ได้แก่ โรงเรียนวัดมหรรณพ์ และโรงเรียนเบญจมบพิตร ภาษาจีน ได้แก่ โรงเรียนสัมพันธวงศ์ สำหรับ โครงการอบรมภาษาสเปน จะเปิดสอนในภาคเรียนที่ 1 ของปีการศึกษา 2548 โดยจะเปิดนำร่อง 3 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ สำนักงานเขตจตุจักร โรงเรียนบ้านบางกะปิ สำนักงานเขตบางกะปิ โรงเรียนพระยามนธาตุราชศรีพิจิตร์ สำนักงานเขตบางบอน นอกจากนี้ จะได้มีโครงการพัฒนาจัดการเรียนการสอนภาษาจีนที่มีการดำเนินการอยู่แล้ว 137 โรงเรียน และเพิ่มโครงการสอนภาษาญี่ปุ่น อีก 6 โรงเรียน
โครงการพัฒนาโรงเรียนกรุงเทพมหานครสู่ความเป็นเลิศในหลักสูตรเฉพาะทาง
เพื่อให้การจัดการศึกษาของกรุงเทพมหานคร เป็นที่ประจักษ์ และได้รับความเชื่อมั่นจากผู้ปกครองที่มุ่งประสงค์ ให้นักเรียน มีความสามารถพิเศษเฉพาะทาง โดยเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนของกทม.ที่ได้รับความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ในการพัฒนาให้มีความโดดเด่นเฉพาะทาง ได้แก่ หลักสูตรวิชาด้านประติมากรรมที่โรงเรียนวัดกำแพง เขตบางขุนเทียน โดยความร่วมมือจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หลักสูตรหัตถกรรมผ้าทอที่โรงเรียนวัดทุ่งครุ เขตทุ่งครุ โดยความร่วมมือจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒหลักสูตรการดนตรีสากล ที่โรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ เขตจตุจักร โดยความร่วมมือจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล หลักสูตรพิธีกร และการนำเสนอ (Presentation) ที่โรงเรียนพระรามเก้า (กาญจนาภิเษก) เขตห้วยขวาง โดยความร่วมมือจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ หลักสูตรนาฏศิลป์ไทย-สากล และการแสดง ที่โรงเรียนศูนย์รวมน้ำใจ เขตคลองเตย โดยความร่วมมือจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร หลักสูตรการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ระดับสูง ที่โรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ เขตบางเขน โดยความร่วมมือจาก คณะวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยอัชสัมชัญ หลักสูตรการทำขนมอบ (BAKERY) ที่โรงเรียนวิชูทิศ เขตดินแดง โดยความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต
โครงการจัดทำสาระการเรียนรู้ในหลักสูตร “ประชาคมกรุงเทพมหานคร”
การจัดทำหลักสูตร “ประชาคมกรุงเทพมหานคร” โดยการสอดแทรกเนื้อหาของหลักสูตรดังกล่าวไว้ในกลุ่มสาระ การเรียนรู้ต่างๆ เพื่อเสริมสร้างนักเรียนในสังกัด กทม. ให้เป็นพลเมืองที่ทรงคุณค่าของกรุงเทพมหานคร โดยให้นักเรียนทุกคนในสังกัด กทม. ต้องมีความรู้ ความเข้าใจในโครงสร้างการบริหารงานของกทม. ที่ประกอบด้วย ผู้บริหารฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ สมาชิกสภากทม. และสมาชิกสภาเขต สาระสำคัญของบัญญัติต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ปัญหามลภาวะสิ่งแวดล้อม ปัญหาการจราจร การสร้างวินัยในฐานะประชากรของ กทม. ฯลฯ โดยเนื้อหาสาระของการเรียนรู้ต่างๆ ดังกล่าวจะได้รับการกำหนดให้สอดคล้องกับระดับชั้นของการศึกษาในโรงเรียนสังกัดกทม ตั้งแต่ชั้น ป.1-6--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ