กสทช. เตรียมพร้อมการปฏิรูปกติกาโทรคมนาคมไทย โดยร่วมมือ IIC จัดสัมมนาวิชาการ คลื่นความถี่ Allocation of Spectrum – Does one size fit all? เพื่อหาคำตอบวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday July 9, 2014 15:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--สำนักงาน กสทช. กสทช.ร่วมมือ IIC สถาบันที่ไม่แสวงหาผลกำไรชั้นนำของโลกด้านกิจการโทรคมนาคม จัดสัมมนาวิชาการ Allocation of Spectrum – Does one size fit all? ให้ความรู้วิธีการจัดสรรคลื่นความถี่อย่างเหมาะสมระดับนานาชาติ พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็นจากนักวิชาการ สื่อมวลชน ภาคประชาชน หน่วยงานตรวจสอบและผู้ที่สนใจเพื่อนำไปสู่การจัดสรรคลื่นความถี่ได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประเทศไทย ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กรรมการกสทช.) ด้านกฎหมาย และกรรมการ กทค. กล่าวว่า การที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดสัมมนาทางวิชาการ Allocation of Spectrum – Does one size fit all? ขึ้นโดยร่วมมือกับสถาบัน International Institute of Communications (IIC) ซึ่งเป็นสถาบันที่ไม่แสวงหาผลกำไรชั้นนำของโลกด้านกิจการโทรคมนาคมนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างองค์ความรู้และความเข้าใจในการจัดสรรคลื่นความถี่แก่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม และผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมนี้ ได้แก่ นักวิชาการด้านโทรคมนาคม เครือข่ายภาคประชาชน สื่อมวลชน หน่วยงานตรวจสอบ และประชาชนที่สนใจ เพื่อให้ทราบว่าแนวปฏิบัติที่ดีของโลกในการจัดสรรคลื่นความถี่มีอะไรบ้างและมีพัฒนาการอย่างไร โดยในงานสัมมนาวิชาการครั้งนี้ได้เชิญคณะวิทยากรและคณะผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์อย่างสูงในด้านการจัดสรรคลื่นความถี่จากทั้งในยุโรปและนานาชาติ มาให้ความรู้ ความเข้าใจถึงหลักการของการจัดสรรคลื่นความถี่ในปัจจุบันในเชิงลึก ครอบคลุมทุกมิติ เนื่องจากรูปแบบการจัดสรรคลื่นความถี่ มีหลายวิธีการ และมีหลายปัจจัยที่ควรจะนำมาพิจารณาประกอบการเลือกวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ที่เหมาะสมที่สุด และในหลายประเทศมีปัจจัยที่เลือกใช้วิธีการที่แตกต่างกัน “การจัดสัมมนาวิชาการในครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนาจะได้รับทราบประสบการณ์ในการจัดสรรคลื่นความถี่ในระดับนานาชาติ ตลอดจนเข้าใจถึงวิธีการที่เป็นสากลและรูปแบบต่างๆ ของการจัดสรรคลื่นความถี่ ที่มองตรงกันคือต้องทำให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด โดยมิใช่มุ่งหวังรายได้สูงสุดจากการจัดสรรคลื่นความถี่ ซึ่งจะส่งผลเสียแก่ผู้บริโภคในภายหลังได้ นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนายังจะได้ร่วมกันระดมความคิดเห็นว่าวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมที่กฎหมายไทยในปัจจุบันบังคับให้ใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่เท่านั้น เหมาะสมกับบริบทของสังคมไทยหรือไม่ และร่วมกันคิดว่าวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่วิธีใดที่จะเหมาะสม ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนชาวไทย ทั้งนี้ เพื่อจะได้นำแนวคิดและข้อเสนอที่ได้รับไปใช้ในการปฏิรูปกติกาโทรคมนาคมของไทย ซึ่งรวมถึงการเร่งแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ซึ่งผมมองว่าต้นเหตุปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กร กสทช. มีรากเหง้ามาจากกฎหมายที่มีปัญหาไม่ใช่ประเด็นตัวบุคคล การจะไปรื้อองค์กรหรือโละบอร์ดชุดนี้ทั้งหมด แล้วตั้งบอร์ดชุดใหม่เข้ามาก็จะเกิดปัญหาอีก เพราะไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุของปัญหา” ดร.สุทธิพล กล่าว ที่ผ่านมา กสทช. ได้จัดการประมูล 3G ที่คลื่นความถี่ 2100 MHz เป็นผลสำเร็จในปี 2555 แม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนบางกลุ่มในประเทศว่าเงินที่ได้รับจากการประมูลน้อยไป แต่ผลการจัดประมูลคลื่น 3G ของกสทช.กลับได้รับการยอมรับจากประเทศต่างๆทั่วโลก รวมทั้งองค์กรระหว่างประเทศ เช่น สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ชื่นชมในความสำเร็จในการจัดประมูลครั้งนี้ และกล่าวว่าประเทศไทยได้รับเงินที่ได้จากการประมูลสูงกว่าหลายประเทศ เป็นที่ยอมรับในระดับสากล “แม้การจัดสรรคลื่นความถี่ในประเทศไทยเมื่อปี 2555 นั้นได้รับการยอมรับจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และจากนานาชาติ ว่า มีประสิทธิภาพ เป็นธรรมและสอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล แต่ก็เกิดคำถามจากหลายฝ่ายว่าการจัดสรรคลื่นความถี่โดยการประมูลคลื่นความถี่ที่เรานำมาจากชาติตะวันตก จะเป็นวิธีที่เหมาะสมสำหรับบริบทของประเทศไทยหรือไม่ มีวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ในวิธีอื่นที่จะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคหรือไม่ และในพัฒนาการที่จะเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ตลอดจนแนวโน้มในกรอบระหว่างประเทศ มีพัฒนาการในเรื่องนี้อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่เราจะมาหาคำตอบร่วมกันในการสัมมนาครั้งนี้” ดร.สุทธิพล ให้ความเห็น ดังนั้นสำนักงาน กสทช. จึงได้จัดสัมมนาวิชาการครั้งนี้ขึ้น ซึ่งเป็นอีกบทบาทหนึ่งของ กสทช. ที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจในบทบาทและหน้าที่ของ กสทช. ให้กับสังคมยิ่งขึ้น ในฐานะองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระ ทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และเป็นองค์กรอิสระที่กำกับดูแลคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ : กลุ่มงานสื่อสารองค์กร สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) โทรศัพท์ : 0-2271-0151 ต่อ 315 - 317 โทรสาร : 0-2290-5241
แท็ก คมนาคม   กสทช.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ