โพลล์สำรวจความรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับการสอนวิชาหน้าที่พลเมืองและประวัติศาสตร์ชาติ

ข่าวทั่วไป Monday July 14, 2014 10:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโส,อาจารย์พรพิสุทธิ์ มงคลวนิช ประธานกรรมการ,ดร.พิสิฐ พฤกษ์สถาพร กรรมการรองผู้อำนวยการ, ดร.กุลธิดา เสาวภาคย์พงศ์ชัย กรรมการรองผู้อำนวยการ และอาจารย์วัฒนา บุญปริตร กรรมการรองผู้อำนวยการ สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ระดับอุดมศึกษาร่วมแถลงผลสำรวจความรับรู้ของคนไทยเกี่ยวกับการนำวิชาหน้าที่พลเมืองและวิชาประวัติศาสตร์กลับมาบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนและการแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาเป็นวิชาหลักในการจัดการเรียนการสอน ศ.ศรีศักดิ์กล่าวว่าจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,123 คน สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านข้อมูลทางประชากรศาสตร์ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 50.93 เป็นเพศหญิง ส่วนร้อยละ 49.07 เป็นเพศชาย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 25 ถึง 34 ปีคิดเป็นร้อยละ 31.52 ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.04 จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี สำหรับอาชีพปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 30.72 เป็นลูกจ้าง/พนักงานในห้างร้านหรือบริษัทเอกชน รองลงมาร้อยละ 24.84 เป็นข้าราชการ/พนักงานรัฐวิสาหกิจ และร้อยละ 20.66 เป็นนักเรียน-นักศึกษา ในด้านความรับรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับการนำเอาวิชาหน้าที่พลเมืองกลับมาบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนอีกครั้งหนึ่งนั้น กลุ่มตัวอย่างประมาณสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 75.24 รับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการนำเอาวิชาหน้าที่พลเมืองกลับมาบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนอีกครั้ง โดยที่กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 77.83 เห็นด้วยกับการนำเอาวิชาหน้าที่พลเมืองกลับมาบรรจุในหลักสูตรการเรียนการสอนอีกครั้ง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่าควรมีการจัดการเรียนการสอนวิชาหน้าที่พลเมืองตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ขึ้นไปคิดเป็นร้อยละ 38.56 รองลงมาร้อยละ 32.68 มีความคิดเห็นว่าควรจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ด้วย นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่ากลุ่มบุคคลที่สมควรต้องเรียนวิชา “หน้าที่พลเมือง” มากที่สุดคือนักการเมืองซึ่งคิดเป็นร้อยละ 28.32 รองลงมาร้อยละ 20.75 ระบุว่าข้าราชการ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 17.72 ระบุว่าประชาชนทุกคน สำหรับประโยชน์สำคัญจากการเรียนวิชาหน้าที่พลเมืองสูงสุด 3 ประการตามความคิดเห็นของกลุ่มตัวอย่างได้แก่ รู้ถึงหน้าที่ที่ควรปฏิบัติในฐานะพลเมืองของประเทศ คิดเป็นร้อยละ 81.48 ลดการกระทำผิดกฎหมายต่าง ๆ คิดเป็นร้อยละ 79.07 และทำให้เกิดความสามัคคีกันระหว่างคนในประเทศ คิดเป็นร้อยละ 76.22 ในด้านความรับรู้และความคิดเห็นต่อการแยกเนื้อหาประวัติศาสตร์ไทยออกมาเป็นวิชาหลักในการจัดการเรียนการสอน กลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.62 ทราบข่าวเกี่ยวกับการแยกเนื้อหาประวัติศาสตร์ไทยออกมาเป็นวิชาหลักในการจัดการเรียนการสอน ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.26 เห็นด้วยกับการแยกเนื้อหาประวัติศาสตร์ไทยออกมาเป็นวิชาหลักในการจัดการเรียนการสอน นอกจากนี้กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 58.50 และร้อยละ 57.88 มีความคิดเห็นว่าการแยกเนื้อหาประวัติศาสตร์ไทยออกมาเป็นวิชาหลักในการจัดการเรียนการสอนจะช่วยให้นักเรียนนักศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยได้มากขึ้นและจะช่วยกระตุ้นให้นักเรียนนักศึกษาให้ความสำคัญกับการเรียนประวัติศาสตร์ไทยมากขึ้นตามลำดับ ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 56.28 มีความคิดเห็นว่าการแยกเนื้อหาประวัติศาสตร์ไทยออกมาเป็นวิชาหลักในการจัดการเรียนการสอนจะส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ไทยมากขึ้น ขณะที่กลุ่มตัวอย่างถึงประมาณหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 33.39 มีความคิดเห็นว่าจะไม่ส่งผล และสำหรับวิธีการจัดการเรียนการสอนที่กลุ่มตัวอย่างคิดว่าจะช่วยให้นักเรียนนักศึกษาเรียนรู้และจดจำเนื้อหาประวัติศาสตร์ไทยได้มากขึ้น 3 วิธี ได้แก่ ให้รับชม/ฟังสื่อ เช่น ภาพยนตร์ ละคร แถบกระจายเสียง คิดเป็นร้อยละ 80.94 พาไปทัศนศึกษายังสถานที่จริง คิดเป็นร้อยละ 78.18 และทำกิจกรรม เช่น แสดงละคร จัดป้ายนิเทศ คิดเป็นร้อยละ 74.44 ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 70.53 ระบุว่าให้วิทยากรจากภายนอกมาบรรยาย/เล่า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ