พลังสื่อพลเมือง

ข่าวทั่วไป Monday July 14, 2014 12:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.ค.--แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ ศสส. เมื่อ สื่อ คือ ช่องทางในการติดต่อสื่อสาร ที่เป็นสิ่งใดๆ ก็ตามที่เป็นตัวกลางระหว่างแหล่งกำเนิดของสารกับผู้รับสาร เป็นสิ่งที่นำพาสารจากแหล่งกำเนินไปยังผู้รับสาร เพื่อให้เกิดผลใดๆ ตามวัตถุประสงค์ของการสื่อสาร และ พลเมือง คือ หมู่คนที่เป็นของประเทศใดประเทศหนึ่ง คนทั้งหมดซึ่งเป็นกำลังของประเทศ ทั้งในทางเศรษฐกิจ การทหาร และอำนาจต่อรองกับประเทศอื่น โดยนัยของความหมาย คำว่า พลเมือง หมายถึง คนที่สนับสนุนเป็นกำลังอำนาจของผู้ปกครอง เป็นคนที่อยู่ในการควบคุมดูแลของผู้ปกครอง “พลเมืองตื่นรู้” หรือ Active Citizen คือการเป็นพลเมืองที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีความรู้ และแสดงออกถึงความเป็นพลเมืองที่มีความกระตือรือร้น โดยอาศัยคน “รุ่นใหม่” ที่มีจิตสำนึกสาธารณะ หรือ Change Agent เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมในอนาคตให้ดีขึ้น และเพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ ร่วมแสดงความรักความห่วงใยต่อสังคมไทยผ่านการสร้างสรรค์ “สื่อ” เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติ พฤติกรรม อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ‘ชุมชน’ และ ‘สังคม’ ในทิศทางสุขภาวะ พร้อมจุดประกายการเป็น ‘พลเมืองที่มีคุณภาพ’ (Active Citizen) ในหัวใจของคนไทย “โครงการพลังสื่อพลเมืองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง” (Active Citizen and Media for Change) จึงเกิดขึ้นภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำโดยสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม (สำนัก 5) และสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ แผนงานส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่าน แผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน และสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผอ.สำนักรณรงค์สื่อสารสังคมฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า โครงการนี้ต้องการให้คนรุ่นใหม่ที่กำลังเรียนอยู่ในวิชาชีพของการสร้างสรรค์สื่อ ได้รวมตัวศึกษาและหาประเด็นนำเสนอที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคม โดยตั้งอยู่บนความเชื่อมั่นว่า “เราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีพลังสร้างสรรค์อยู่ในตัวเอง” โดยตั้งใจให้โครงการนี้เป็นพื้นที่กับเยาวชนรุ่นใหม่ที่กำลังเรียนในระดับมหาวิทยาลัย สาขาการสร้างสรรค์สื่อ อย่างนิเทศศาสตร์ หรือวารสารศาสตร์ ฯลฯ ร่วมศึกษาและลงพื้นที่ทำงานกับชุมชน สะท้อนประเด็นปัญหาเพื่อสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยนิสิตนักศึกษาสามารถเลือกผลิตและเผยแพร่สื่อได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น สปอตวิทยุ สปอตโฆษณา ภาพยนตร์ แอนิเมชั่น หนังสั้น ศิลปะ หรืองานเขียน ฯลฯ เพราะการสร้างสรรค์ “สื่อ” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง หรือจุดประกายพลังพลเมืองคุณภาพนี้ ไม่ควรจะถูกจำกัดแค่ในวงการของสื่อมืออาชีพที่ทำงานอยู่ในกระแสหลักเท่านั้น แต่เราอยากให้คนรุ่นใหม่เข้ามาสร้างสื่อเพื่อ “สื่อสาร” ในประเด็นของการสร้างสุขภาวะแก่สังคมบ้าง เพราะไม่เพียงแต่เขาจะได้สื่อสารกับสังคมเท่านั้น การทำงานตรงนี้จะทำให้พวกเขาเกิดกระบวนการเรียนรู้ในตัวเองด้วย” “พลังของเยาวชนมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์สื่อ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการปรับเปลี่ยนทัศนคติ พฤติกรรม ตลอดจนความเชื่อของผู้รับสาร นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของชุมชนและสังคมในทิศทางสุขภาวะ และบ่มเพาะพลเมืองคุณภาพ (Active citizen) ดังนั้น เป้าหมายของโครงการนี้ คือ การเปลี่ยนเยาวชนในยุคปัจจุบันที่เป็น “Gen ME” หรือ Me Generation ที่มองตัวเองสำคัญที่สุด และเป็นศูนย์กลาง ให้เป็น “Gen A” หรือ Generation Active/ Active Citizen หรือพลเมืองสร้างสรรค์ พลเมืองตื่นรู้ ที่รู้จักการแบ่งปัน และมีจิตสาธารณะ โดยมีเป้าหมายใน 4 ข้อ คือ 1.เพื่อกระตุ้น/ปลุกให้สังคมเกิดความตื่นตัว เห็นโอกาส และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการสร้างพลเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น 2.เพื่อส่งเสริมให้เกิดกระบวนการสร้างความเป็นพลเมืองสำหรับเยาวชนในระดับอุดมศึกษา 3.เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพและคุณลักษณะของพลเมืองที่สร้างสรรค์ ผ่านกระบวนการเรียนรู้และปฏิบัติจากสังคมจริง 4.เพื่อสนับสนุนกลไกความร่วมมือของภาคีเครือข่าย ให้เกิดการขับเคลื่อนขบวนการสร้างพลเมืองเพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้น่าอยู่ อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน” รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ บอก ซึ่งนายดนัย หวังบุญชัย ผู้จัดการแผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ สสส. บอกว่า โครงการนี้มีการจัดกระบวนสื่อสร้างสรรค์ 6 ประเภท คือ 1.ประเภท ละครและดนตรี 2.ประเภท งานเขียน และการ์ตูน 3.ประเภท กระบวนการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม ,การแบบชุมชนและสถาปัตยกรรมชุมชน การออกแบบสินค้า ออกแบบบรรจุพันธ์ 4.ประเภท หนังสั้น, สารคดี, มิวสิควิดีโอ, รายการ, ถ่ายภาพ, วิทยุ 5.ประเภท โฆษณา, Viralclip, Poster, ป้าย, สื่อรณรงค์, Social Network และ 6.ประเภท การฝึกอบรม, ค่ายอาสา รวมทั้งหมด 72 โครงการ โดยทั้ง 6 กลุ่มนี้ได้มีวิทยากรภายใต้ความร่วมมือจากหลากหลายอาชีพ ทั้งนักวิชาการ นักวิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นสมาคมโฆษณา, สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย, สถาบันการ์ตูนไทย มูลนิธิเด็ก, กลุ่มเครือข่ายละครหน้ากากเปลือย, คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในส่วนของงานวิชาการทางด้านสื่อมีคณะนิเทศศาสตร์จากหลายมหาวิทยาลัย ทั้งหอการค้าไทย, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยศิลปากร กลุ่มมืออาชีพทางด้านสารคดี ทั้ง ทีวีบูรพา, กลุ่มพลังแห่งต้นกล้า กลุ่มวิทยากรต่างๆ เหล่านี้จะใช้โอกาสในการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาผลงานของเยาวชนทั้ง 72 โครงการให้มีพลังและความคมชัดในการเดินหน้าต่อเพื่อพลังในการเปลี่ยนแปลง ทั้งกับตนเอง ชุมชน สังคม ต่อไป “สื่อทั้งหมดนี้เราคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากที่สนับสนุนในช่วงกิจกรรมตลอดทั้ง 3 เดือนตั้งแต่เดือนกรกฏาคม – กันยายน 2557 โดยผลผลิตต่างๆ ของสื่อเหล่านี้เราคาดหวังว่าจะไปสร้างแรงกระเพื่อมในชุมชนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายชุมชนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนทุกฝ่าย ด้วยพลังสือจากเด็ก Gen A ปลุกพลังจิตอาสา เปลี่ยนแปลง สร้างสรรค์สังคมขึ้น” นายดนัย หวังบุญชัย บอก แต่มีคำถามมาว่า.... ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร มองไม่เห็นศักยภาพของตัวเอง ไม่เห็นเป้าหมายของการลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ไม่อยากรู้สึกแปลกแยกแตกต่างในสังคม คุณรู้หรือไม่ว่ามีคนไทยจำนวนมากที่พร้อมลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงประเทศ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องเปลี่ยน Gen ME ให้เป็น “Gen A” หรือ Generation Active/ Active Citizen เพราะ.... ถ้าเราปลุกพลังของคนที่มีใจ ให้เห็น “โอกาส” สร้างการเปลี่ยนแปลง + ให้เห็นศักยภาพในตัวเอง มีเป้าหมายร่วมกัน ลุกขึ้นมาคิด ลุกขึ้นมาทำ เกิดตัวอย่าง เกิดการขยายผล นำไปสู่... การเกิดพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลง เมื่อนั้น “Gen A” ก็จะเกิด... เพื่อให้พลังในการสร้างสรรค์สื่อของเด็กและเยาวชนมีศักยภาพและเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องและน่าสนใจ “โครงการพลังสื่อพลเมืองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง” (Active Citizen and Media for Change) จึงมีวิทยากร นักวิชาการ และผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะด้านที่เกี่ยวกับประเภทสื่อที่เยาวชนสนใจทำมาให้ความรู้ และแนะนำกระบวนการในการสร้างสรรค์งานให้กับเด็กๆ อย่างเจาะลึก โดยนายนินาท บุญโพธิ์ทอง เครือข่ายหน้ากากเปลือย วิทยากรผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสื่อประเภทละครและดนตรี บอกว่า หัวใจพื้นฐานสำคัญของละคร คือการสื่อสารระหว่างผู้เล่า เรื่องราว และผู้ฟัง เราต้องชัดเจนให้ได้ก่อนว่า ตัวเราเองมีอะไร มีพลัง มีสิ่งที่อยากจะเล่าในเรื่องไหน รู้อย่างชัดเจนว่าจะเล่าเรื่องราวนั้นๆ ไปเพื่ออะไร และถ้าเล่าออกไปแล้วจะมีผลอย่างไรกับผู้ฟัง ชมชน หรือกลุ่มเป้าหมายนั้นๆ โดยจุดเริ่มต้นของการทำงานจุดแรกสำคัญที่สุดคือการเริ่มต้นที่ตัวเอง ว่าอะไรที่จะเป็นพลังเปลี่ยนแปลง อะไรที่จะเป็นพลังในเชิงบวก จากนั้นตามด้วยการหาเรื่องราวที่ดีๆ เพราะเรื่องราวที่มีพลังที่จะทำให้ชุมชนนั้นๆ เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ ...เนื่องจากดนตรีและการละครนั้นเป็นสื่อที่จะทำให้คนเรามีพลังและกำลังใจในการต่อสู้และเผชิญหน้า เมื่อมีพลังแล้วกระบวนถัดไปของละครนั้นจะทำให้เราเกิดปัญญาเพื่อหาวิธีและหนทางที่จะฝ่าฟันอุปสรรคเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่ไปในทางที่ดีขึ้นได้ ...แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม...ชุมชนหรือคนดูจะเปลี่ยนแปลงไม่ได้เด็ดขาดถ้าผู้ที่จะใช้สื่อการละครและดนตรีไม่เชื่อว่า “สื่อ” ของตัวเองจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้ เพราะฉะนั้นถ้าผู้ส่งสารเชื่อว่าจะสามารถเปลี่ยนแปลงได้คนดูก็จะเชื่อตามสื่อที่ผู้ส่งสารต้องการส่งถึงผู้รับสาร และเมื่อนั้นการเปลี่ยนแปลงก็จะค่อยๆ ซึมซับและเกิดขึ้นได้ตามมา... ด้านนางชมัยภร แสงกระจ่าง กรรมการและเลขานุการกองทุนศรีบูรพา วิทยากรผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสื่อประเภทงานเขียน และการ์ตูน บอกว่า งานเขียนเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง งานศิลปะเป็นงานที่สร้างด้วยใจและมีอิทธิพลต่อใจ เพราะฉะนั้นงานศิลปะแขนงใดแขนงหนึ่งส่งอิทธิพลเข้าใปอย่างแรง กระทบใจใครคนใดคนหนึ่งก็จะทำให้คนคนนั้นเปลี่ยนแปลงภายในใจได้ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงภายในใจก็จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายนอก ถ้าเป็นกับทุกคนในสังคม สังคมทั้งสังคมก็จะเปลี่ยนแปลงได้ แต่ด้วยลักษณะของงานเขียนที่ต้องเวลาพินิจพิจารณา เป็นงานที่ต้องใช้สายตาอ่านเอาตัวอักษรเข้าไปข้างใน กระบวนการการเรียนรู้นั้นค่อนข้างจะยาวนาน และมีช่องว่างให้เกิดการตีความได้ คนที่จะเขียนหนังสือได้ดีสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมนั้น ต้องสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวเองได้ก่อน ต้องรู้จักตัวเองชัดเจนแจ่มแจ้ง และเรียนรู้กระบวนการเปลี่ยนแปลงนั้นด้วยตัวเอง จึงจะสามารถถ่ายทอดให้คนอื่นรู้จักการเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ถ้าเราเองยังไม่รู้จักตัวเองอย่างแท้จริง ไม่เรียนรู้ตัวเองอย่างแท้จริง โอกาสที่จะไปถ่ายทอดผ่านงานเขียนเพื่อจะไปเปลี่ยนแปลงคนอื่นก็จะยาก เพราะฉะนั้นรู้อะไรควรรู้ให้ลึก รู้อะไรก็ควรรู้ให้ชัดเจน รู้ให้แจ่มแจ้ง และถ่ายทอดไปอย่างชนิดที่เรียกว่าฝึกปรือฝีมือมาอย่างดีแล้ว สำหรับผู้ที่เป็นเยาวชน สิ่งที่ต้องทำเป็นเสมอในการเขียนหนังสือ คือ การลงมือเขียน การอดทน อดทนที่จะลงมือทำเรื่องที่ซ้ำๆ กัน คำว่าซ้ำในที่นี้ไม่ใช่ว่าทำเรื่องเดียวกันซ้ำแต่เป็นการทำทุกวัน ทำบ่อยๆ ทำประจำ อย่างเสมอ การทำอย่างสม่ำเสมอจะทำให้สามารถสร้างงานใหม่ๆ จินตนาการใหม่ๆ ขึ้นมาได้เรื่อยๆ และงานเขียนก็จะมีคุณภาพไปในที่สุด ส่วนงานประเภท กระบวนการพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วม, การแบบชุมชนและสถาปัตยกรรมชุมชน การออกแบบสินค้า ออกแบบบรรจุพันธ์ ผศ.ดรเกศินี จุฑาวิจิตร บอกว่า พลเมืองมีนัยยะของหน้าที่ มีสิทธิ มีบทบาท เพราะฉะนั้นคนที่ทำหน้าที่ในการเป็นพลเมืองที่เข้าไปอยู่ในสื่อพลเมืองได้นั้นจะเป็นคนที่รู้ ตระหนักถึงบทบาทสิทธิของตัวเอง ทำให้มีพลังเพื่อเข้าไปเปลี่ยนแปลงสังคม พัฒนาคนอื่น พัฒนาเด็ก พัฒนาชาวบ้าน พัฒนาชุมชน สามารถสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมได้ว่าจะไปพัฒนาคนอื่นอย่างไร ดังนั้นทักษะที่จะเข้าไปทำงานร่วมกับชุมชน ได้นั้นต้องเริ่มต้นที่ 1.“การฟัง” ว่าจะทำอย่างไรให้รับฟังคนอื่นให้เป็น 2.การจับประเด็น 3.สื่อสารกับคนอื่นได้ และ 4.สามารถโน้มน้าวใจ คิดให้เป็น และสื่ออกมาให้ได้ แค่นี้ก็สามารถพัฒนาชุมชนแบบมีส่วนร่วมได้แล้ว สำหรับงานประเภทหนังสั้น, สารคดี, มิวสิควิดีโอ, รายการ, ถ่ายภาพ, วิทยุ นั้นนายประภาส นวลเนตร วิทยากรผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสื่อในประเด็น บอกว่า การทำสื่อประเภทเหล่านี้ถือว่าเป็นสื่อที่มีการใช้กันมากที่สุด และสามารถเข้าถึงใจคนได้ง่าย สามารถกระจายไปสู่วงกว้างได้อย่างรวดเร็ว ทำหน้าที่โน้มน้าวจิตใจของคน ทำให้คนได้รู้ เกิดความคิดความเข้าใจได้ด้วยภาพและเสียงที่ถูกถ่ายทอดออกไป แต่ผู้ส่งสารนั้นๆ ต้องใส่ใจในรายละเอียด การหาข้อเท็จจริง ผ่านการวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ ซึ่งหัวใจสำคัญในการผลิตสื่อชนิดนี้นั้นต้องไม่มีการบิดเบือนทั้งภาพ และเสียงที่ทำให้เข้าใจผิด เพราะอย่างที่เรารู้ๆ กัน สื่อในประเภทนี้ทำหน้าที่ให้คนที่เป็นผู้รับสารเกิดความเข้าใจ ในขณะเดียวกันก็สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลง อาจจะเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนความเชื่อ เปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างง่ายดาย การทำหน้าที่เป็นพลังสื่อพลังพลเมืองด้วยสื่อนี้จึงต้องอยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ที่เป็นจริง และเลือกใช้สื่อเพื่อเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้รับสารได้รู้อย่างชัดเจนไม่ต้องตีความเพิ่มเติมเพื่อกันการตีความที่ผิดพลาดนั่นเอง ขณะเดียวกันนายชาญ รุ่งเรืองเดชวัฒนา วิทยากรผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับสื่อประเภทโฆษณา, Viralclip, Poster, ป้าย, สื่อรณรงค์, Social Network บอกว่า ความสำคัญในเรื่องของพลังสื่อพลเมือง เราเชื่อในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงก่อนว่า (I change you change everything change) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงในที่นี้คือเปลี่ยนแปลงจากตัวเราเป็นอันดับแรก พอตัวเราเปลี่ยนแปลงเราก็จะสามารถผลิตสื่อเพื่อให้คนรอบข้างเปลี่ยน เมื่อคนรอบข้างเปลี่ยนสังคมทั้งหมดก็จะถูกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ในทางที่สร้างสรรค์ขึ้น ซึ่งการสื่อสารในประเด็นนี้นั้นนอกจากจะสื่อสารออกมาเพื่อให้ตัวเองเปลี่ยนแล้ว การให้ข้อมูล ข่าวสาร ที่เป็นการสื่อสารจูงใจผ่านสื่อโฆษณาประเภทต่างๆ ได้นั้นเราต้องเชื่อว่าจะสามารถจูงใจหรือโน้มน้าวใจกลุ่มผู้รับสารเป้าหมาย มีพฤติกรรมคล้อยตามเนื้อหาสารนั้นได้ด้วยเทคนิคและวิธีการที่น่าสนใจ เพราะสื่อใหม่ประเภทนี้เป็นอะไรที่ต้องเข้าใจได้ง่าย กินใจ โดนใจ คนดูเชื่อตาม แน่นอนการเปลี่ยนแปลงก็จะเกิดขึ้น ส่วนในประเภทการฝึกอบรม, ค่ายอาสา นายธีรพล เต็มอุดม จากธนาคารจิตอาสา บอกว่า กระบวนการจิตอาสานั้นจะเริ่มไม่ได้เลยถ้า “ใจ” ไม่มาก่อน เมื่อเป็นเรื่องของจิตใจ “จิตสำนึก” ต้องมาก่อน ยิ่งเป็นเรื่องของจิตสำนึกยิ่งเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เมื่อใจเราให้ความสำคัญในเรื่องใดเรื่องนั้นจะนำให้เราออกไปสู่การรู้สึกสำนึกเป็นพลเมือง เราเริ่มมากหรือน้อยก็ได้ แค่ได้เริ่ม ตรงนั้นก็เป็นจุดเปลี่ยนตรงนั้นได้แล้ว สิ่งสำคัญ “ยิ่งเรามีความมั่นคงในใจมากเท่าไร มีแรงบันดาลใจมากขึ้นเท่าไหร่ เราต้องลดความคาดหวังว่าคนอื่นจะเป็นอย่างที่เราตั้งใจ ใช้ใจสื่อถึงกัน แค่นั้นก็สามารถสร้างสิ่งดีดีให้เกิดขึ้นได้” กระบวนการจิตอาสาไม่ยากอยู่ที่ใจ เมื่อใจเป็นสาธารณะเมื่อนั้นสังคมก็จะได้ประโยชน์ที่สุด “เราเชื่อว่า...พลังของเยาวชนสามารถสร้างสรรค์สื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชุมชนและสังคมได้” และเมื่อความเชื่อเช่นนี้... เกิดขึ้นการให้โอกาส... การเชื่อมั่น ...การเชื่อใจ... ให้เด็กลุกขึ้นมาเป็นผู้สร้างสรรค์... นั่นคือการเปิดโลก เปิดสังคม เปิดใจ ให้เด็กได้พิสูจน์ตัวเอง ซึ่งนายฤทธิชัย อยู่สูง หรือน้องกิ้ว อายุ 21 ปี จากทีมมุมดำ มหาวิทยาลัยราชภัฏรําไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี เยาวชนผู้ผลิตสื่อประเภทสารคดี บอกว่า การเปลี่ยนแปลงในที่นี้คือเปลี่ยนแปลงจากตัวเราก่อน พอเราเปลี่ยนแปลง เมื่อเราใช้สื่อที่มีทั้งภาพและเสียงอย่างสารคดีไปเปลี่ยนคนรอบข้าง ถ้าทำให้คนรอบข้างเปลี่ยนได้สังคมทั้งหมดจะถูกเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี ในทางที่สร้างสรรค์ขึ้น ฉะนั้นเด็กและเยาวชนอย่างไรต้องลุกขึ้นมาขับเคลื่อน ปลุกพลังของคนในชุมชนให้ลุกขึ้นมาทำประโยชน์ให้กับสังคม ชุมชนของเราให้มีพื้นที่สร้างสรรค์ให้มีพื้นที่กิจกรรมในการทำงานร่วมกัน และถ้าปัญหาในชุมชนเหล่านั้นถูกแก้ไขด้วยสื่อที่เด็กตัวเล็กๆ อย่างเยาวชนเองเชื่อว่าถ้าคนในชุมชนนั้นลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงร่วมด้วยกับเราจะเกิดการกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ และเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับคนในชุมชนแน่นอน ด้านนายอัฐพงษ์ วรพงษ์ หรือน้องบิ๊ก อายุ 17 ปี นักเรียนชั้นมัธยาศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสุรศักด์มนตรี ผู้ทำโครงการเกี่ยวกับเรื่องละคร ภายใต้ชื่อโครงการว่า เยาวชนเพลินจิตสร้างสรรค์ชุมชน บอกว่า รู้สึกดีมากที่มีผู้ใหญ่ใจดีเห็นความสำคัญของเด็กและเยาวชน เมื่อได้มีโอกาสได้เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์งาน สร้างสรรค์สื่อเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ชุมชน ตนก็จะทำให้เต็มที่ เพราะการทำให้สังคมกลายเป็นสังคมบวก เราต้องช่วยกันหลายๆ ฝ่าย ซึ่งในส่วนตัวที่เลือกใช้ละครเป็นสื่อเพราะเชื่อว่าจะเข้าถึงเด็กและเยาวชนและสังคมได้ง่าย เมื่อคนรับสารชมจะได้ทั้งข้อคิดและความสุขกลับไปหลังได้รับชมแน่นอน วันนี้ “โครงการพลังสื่อพลเมืองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง” (Active Citizen and Media for Change) ได้เริ่มเดินหน้าเพื่อสร้างสรรค์สื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชุมชนและสังคมให้เกิดขึ้นแล้ว และอีกไม่นานสื่อทั้งหมดจะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเพื่อทำให้สังคมเรา ประเทศเรา เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น แล้วตัวคุณละ วันนี้ทำอะไรเพื่อสังคมแล้วหรือยัง ติดตามสื่อทั้งหมดเหล่านี้ได้เร็วๆ นี้ที่ www.artculture4health.com แล้วถึงวันนั้นคุณจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สังคมเข้มแข็งไปพร้อมๆ กับเราได้ เราเชื่อ!!...

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ