สถาบันพัฒนาวิชาชีพ ในสังกัด สวทช. ขอเชิญชวนผู้สนใจร่วมส่งผลงานประกวด สิ่งประดิษฐ์คิดค้นด้านความปลอดภัยในการทำงานซึ่งเป็นตัวอย่างได้ (Best Practice) ประจำปี 2548

ข่าวทั่วไป Friday May 13, 2005 15:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 พ.ค.--สวทช.
ในการพัฒนาประเทศไทยทางอุตสาหกรรมและเกษตรต้องพึ่งวัตถุดิบทางเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ทางเคมีในจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ วัตถุดิบ อุปกรณ์ สารเคมี จำนวนมากที่ใช้ในครัวเรือน และในอุตสาหกรรม เกษตร และการแพทย์ เช่น เชื้อเพลิง สารเริ่มต้นที่ใช้ทำพลาสติก ใยสังเคราะห์ แบตเตอรี่ โลหะชุบ ปุ๋ยแอมโมเนียไนเตรต โปแตสเซียมคลอเรต ฯลฯ เป็นวัตถุอันตราย และกระบวนการทำวัตถุหรือสิ่งของบางอย่างอาจทำให้เกิดวัตถุอันตรายได้ ผลิตภัณฑ์ทางเคมีที่มีความเป็นอันตรายเหล่านี้ ไม่ว่าที่ผลิตในประเทศ นำเข้าหรือส่งออกย่อมต้องมีการเก็บ การขนส่ง การบรรจุหีบห่อ การแบกหาม การกำจัด การทำลาย ซึ่งในกิจกรรมเหล่านี้ ต้องมีคนที่เข้ามาสัมผัสด้วย คือ กรรมกร คนขับรถ นักเคมี พนักงานบริษัท และประชาชนทั่วไป การรั่วไหล การแพร่กระจาย การเกิดอุบัติภัย และอัคคีภัยหรือการเจือปนของสารเคมีอันตรายในอากาศ ดินและน้ำ จะมีผลเสียหายต่อคน สัตว์ พืช และสิ่งแวดล้อมทั่วไป
เพื่อให้คนไทยในทศวรรษใหม่นี้มีความเป็นอยู่ที่ดี โดยมีความปลอดภัยจากสารอันตรายและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี คนไทยจึงควรมีความรู้เกี่ยวกับอันตรายของวัตถุเคมีอันตรายให้ดีขึ้น ประชาชนทั่วไปควรมีความตื่นตัวและมีความรู้เกี่ยวกับวัตถุอันตรายที่อยู่รอบๆ ตัว ฝ่ายบริหารของโรงงานควรจะเข้าใจในแง่มุมต่างๆ ของวัตถุอันตรายรวมทั้งกฎหมายวัตถุอันตราย พนักงานและคนงานของโรงงานผลิตสินค้าเคมีและวัตถุอันตราย รวมทั้งผู้ที่ดูแลคลังสินค้าต่างๆ ผู้ขับรถขนส่งสินค้าเคมีอันตราย ผู้ที่ทำหน้าที่บรรจุสินค้าเคมี ควรได้รับการอบรม หรือคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการสินค้าเคมีอย่างเคร่งครัดตามใบแนะนำที่ติดมากับสินค้าเคมีนั้นๆ นักเคมีที่มีหน้าที่ดูแลสารเคมีอันตรายควรจะเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสารเคมีเหล่านั้นอย่างทันสมัยและทันเหตุการณ์ รู้ถึงการสุ่มตัวอย่างสารเคมีตลอดจนถึงวิธีการวิเคราะห์ที่ถูกต้อง รวมทั้งสร้างมาตรการป้องกัน และสามารถแก้ไขอุบัติภัยที่เกิดจากสารเคมีปริมาณมากๆ และผู้ที่มีประสบการณ์ทางวัตถุอันตรายควรจะทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และฝึกฝนให้ผู้อื่น
วิชา “ความเสี่ยงและอันตรายจากวัตถุเคมี” ครอบคลุมความรู้ ด้านคุณสมบัตร วิธีแก้ปัญหาเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย โดยใช้เนื้อหาสากล ประกอบกับปัญหาจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น ไฟไหม้ แก๊สระเบิด สารเร่งดอกลำไยระเบิด การระเบิดของสารเคมีในชุมชน การสัมผัสกับสารกัมมันตรังสีโคบอลต์ 60 สิ่งที่รั่วไหลจากโรงงานอุตสาหกรรม ฯลณ เป็นตัวอย่างของมหันตภัยซึ่งจะเกิดได้อีก ในเมื่อประเทศไทยยังต้องใช้สารเคมีในการพัฒนาประเทศในจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องให้ความรู้ในการจัดการและป้องกันอันตรายจากของเหล่านี้อย่างถูกต้อง ผู้เรียนวิชานี้ จะได้รับประโยชน์จากวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์จริงในวงการมานาน เพื่อการศึกษาต่อเนื่อง สำหรับนักวิชาชีพ บุคลากรตามสายอาชีพ และบุคลากรทั่วไปที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องกับสารเคมีและวัตถุอันตรายทั้งทางตรงและทางอ้อมจากภาครัฐและเอกชน และสำหรับอาจารย์และนักศึกษาในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง และสำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจเกี่ยวกับเคมีในชีวิตประจำวัน
ก่อให้เกิดประโยชน์มากมายหลายทาง อาทิ เป็นการจัดการศึกษาต่อเนื่องในรูปแบบใหม่ สำหรับนักวิชาชีพ บุคลากรตามสายอาชีพ ผู้ปฏิบัติการในโรงงานและผู้บริหารโรงงานระดับต่างๆ และผู้สนใจทั่วไป ,สามารถนำข้อมูลที่ได้จากโครงการนี้ไปใช้เป็นประโยชน์ ในการพัฒนาหลักสูตร และวิธีการสอนสำหรับวิชาอื่นๆ ในระบบผ่านเครือข่าย Internet ได้เป็นอย่างดี , ผู้เรียนจะได้รับความรู้ในแนวกว้าง ในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการและป้องกันอันตรายจากสารเคมีและวัตถุเคมี และจะได้แหล่งข้อมูลที่สามารถไปค้นคว้าเพิ่มเติมได้อีกมาก จนสามารถได้รับประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานในสายอาชีพ ,ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติการและบุคลากรสายอาชีพ สามารถได้รับการพัฒนาตนเอง โดยการได้รับการอบรมเพิ่มเติมในวิทยาการใหม่ๆ ในสาขาที่ตนปฏิบัติงานอยู่
อีกทั้ง ยังเป็นการเผยแพร่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญให้แก่บุคลากรทั่วไป ซึ่งสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งในอาชีพการงานและในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ สถาบันพัฒนาวิชาชีพ ในสังกัด สวทช. ได้จัดให้มีการส่งผลงานสิ่งประดิษฐ์คิดค้นด้านความปลอดภัยในการทำงานซึ่งเป็นตัวอย่างได้ (Best Practice) ประจำปี 2548 ซึ่งจัดโดย สถาบันพัฒนาวิชาชีพ และฝ่ายพัฒนาความปลอดภัย สถาบันความปลอดภัยในการทำงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน การประกวดสิ่งประดิษฐ์คิดค้นด้านความปลอดภัยในการทำงานซึ่งเป็นตัวอย่างได้ (Best Practice) ประจำปี 2548 ที่จะจัดขึ้นแบ่งประเภทผลงานเป็น 3 ประเภท ได้แก่
ประเภทที่1 การออกแบบหรือปรับปรุงเครื่องมือ เครื่องจักร อุปกรณ์ หรือสภาพแวดล้อมในการทำงาน
ประเภทที่2 โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ด้านการบริหารจัดการความปลอดภัย อาชีวอนามัย หรือสภาพแวดล้อมในการทำงาน
ประเภทที่3การเรียนรู้ด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-learning) ซึ่งใช้ชื่อผลงานว่า ความเสี่ยงและอันตรายจากวัตถุเคมี (Risk and Danger of Chemical Products) โดยมี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นเจ้าของผลงาน คณะผู้จัดทำ ได้แก่ ดร.ภิญโญ พานิชพันธ์ , อ.เอื้อนพร ภู่เพ็ชร์, คุณธีรศักดิ์ พงศ์พนาไกร, ดร.พิณทิพ รื่นวงษา ผลงานที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับรางวัล ผลงานดีเด่น (Best Practice) รับโล่รางวัลไปเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2548
ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ฮอลล์ 9 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอิมแพค ในงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 19 โดยมี นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นผู้มอบรางวัลให้แก่ รศ. ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช. ซึ่งได้รับใบประกาศเกียรติคุณ ณ ห้องแกรนด์ไดมอนด์บอลรูม ฮอลล์ 9 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าอิมแพค ในงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ ครั้งที่ 19 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งรับมอบใบประกาศเกียรติคุณ จากนายสุรินทร์ จิรวิศิษฏ์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
สถาบันพัฒนาวิชาชีพ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ได้เริ่มเปิดให้ผู้สนใจลงทะเบียนเรียน วิชา ความเสี่ยงและอันตรายจากวัตถุเคมี ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-learning) มาตั้งแต่ปี 2544 และในปี 2548 หลักสูตรนี้ได้รับรางวัลผลงานดีเด่น (Best Practice) ด้านการเรียนรู้ด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-learning) และจะเปิดรับลงทะเบียนอีกครั้งประมาณเดือนกันยายน 2548 ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ที่ www.learn.in.th หรือสอบถามเพิ่มเติมโทร 02-564-7000 ต่อ 1422-1426--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ