สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปประจำสัปดาห์ที่ 28 ก.ค.-1 ส.ค. 57 และแนวโน้มสัปดาห์ 4-8 ส.ค. 57

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday August 5, 2014 09:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--5 ส.ค.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ลดลง 1.17 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 106.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 3.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 99.79 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 105.33 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 3.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 115.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 118.86 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ - ผลสำรวจข้อมูลการผลิตน้ำดิบโดย Reuters รายงาน OPEC ผลิตน้ำมันดิบในเดือน ก.ค. 57 เพิ่มขึ้น 160,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 30.06 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้ ลิเบียผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น 210,000 บาร์เรลต่อวันมาอยู่ที่ระดับ 430,000 บาร์เรลต่อวัน - สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (Eurostat) โดยรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index – ใช้ชี้วัดอัตราเงินเฟ้อ) ของยูโรโซน เดือน ก.ค. 57 อยู่ที่ +0.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่ำสุดตั้งแต่ครั้งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเมื่อเกือบ 5 ปีก่อน และต่ำกว่า +1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือว่าเป็นเขตอันตรายมา 10 เดือนแล้ว - ธนาคารกลางเยอรมนี (Bundesbank) ชี้ว่า GDP ไตรมาสที่ 2/57 อาจติดลบเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1/57 ซึ่ง GDP อยู่ที่ +0.8% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สะท้อนจากผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ตกต่ำ ประกอบกับที่ผ่านมาสถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก - กองทัพอิสราเอลโจมตีกวาดล้างกลุ่มฮามาสที่ฉนวนกาซาอย่างรุนแรง ใช้อาวุธหนักทุกขนิดโจมตีทั้งโรงเรียนและโรงพยาบาลที่ระบุว่าฮามาสสร้างเครือข่ายอุโมงค์อยู่ใต้ดินด้านล่างตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้ชาวปาเลสไตน์บาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมากและจำต้องอพยพลี้ภัยออกจากฉนวนกาซาไปเกินกว่าแสนราย - กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในช่วงไตรมาสที่ 2/57 อยู่ที่ระดับ 4.0% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าที่ผลสำรวจนักวิเคราะห์โดย Bloomberg คาดการณ์ และปรับเพิ่ม GDP ในช่วงไตรมาสที่ 1/57 จากระดับ -2.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ระดับ -2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน - บริษัทน้ำมันแห่งชาติ (National Oil Corp.) ของลิเบียเปิดเผยว่ายอดผลิตน้ำมันดิบช่วงปลายสัปดาห์ก่อนลดลงเกือบ 20% จาก 2 สัปดาห์ก่อน มาอยู่ที่ 450,000 บาร์เรลต่อวัน หลังความรุนแรงภายในประเทศเริ่มปะทุขึ้นมาอีกครั้ง ส่งผลให้แหล่งผลิตน้ำมันดิบ El Feel (กำลังการผลิต 130,000 บาร์เรลต่อวัน) ต้องหยุดดำเนินการเนื่องจากอยู่ท่ามกลางสมรภูมิรบระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายต่อต้าน โดยกองกำลังติดอาวุธพยายามเข้าควบคุมสนามบิน Tripoli ส่งผลให้ปะทะกับฝ่ายรัฐบาลและเกิดเพลิงไหม้ลุกลาม แนวโน้มราคาน้ำมันดิบ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มผันผวนตามปัจจัยทางการเมืองโดยรัสเซียมีท่าทีจะส่งมอบอาวุธต่อสู้อากาศยานประสิทธิภาพสูงแก่กลุ่มกบฎในยูเครนเพิ่มเติม ด้านการสู้รบในอิรักและลิเบียยังคงร้อนแรง การปะทะระหว่างกลุ่มกำลังติดอาวุธและกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงที่กรุง Tripoli และ Benghazi มีผู้เสียชีวิตแล้วมากกว่า 200 ราย ล่าสุดรัฐบาลอังกฤษประกาศในอพยพชาวอังกฤษกลับประเทศ นอกจากนี้ สถานการณ์ในอิรักยังคงวุ่นวายหลังจากกลุ่ม ISIL เข้ายึดแหล่งน้ำมันดิบ Ain Zala และ Batma ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกว่า 30 KBD และเมือง Wana ทางตอนเหนืออิรักซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของชาว Kurd บ่งชี้สภาวะไร้เสถียรภาพของประเทศ ให้ติดตามอิรักที่เตือนรัฐบาล Kurdish ในพื้นที่กลุ่มปกครองพิเศษ Kurdish ให้หยุดการส่งออกน้ำมันดิบโดยไม่ได้ผ่านรัฐบาลอิรัก โดยรัฐบาลอิรักอยู่ระหว่างยื่นฟ้องการทำเรื่องขึ้นศาลเพื่อยับยั้งการส่งมอบน้ำมันดิบมูลค่ากว่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่รอการ ส่งมอบที่เมืองชายฝั่ง Galveston รัฐ Texas ในสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ต่างคาดการณ์ว่าการส่งออกน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปกว่า 5.5 ล้านบาร์เรลต่อวันของรัสเซียมีความเป็นไปได้น้อยที่จะได้รับผลกระทบจากเหตุดังกล่าว ต่างจากสถานการณ์ในอิรักซึ่งมีความเปราะบางมากกว่าที่จะทำให้ยอดผลิตน้ำมันเกือบ 3 ล้านบาร์เรลต่อวันได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สงครามการเมืองในประเทศ แต่ในระยะยาว นักวิเคราะห์จาก PIRA ให้ความเห็นว่าซาอุดีอาระเบียยังคงมีความสามารถในการสร้างสมดุลตลาดน้ำมัน จึงปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบ Brent ในปี 58 มาอยู่ที่ 108 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากการคาดการณ์ครั้งก่อน และ WTI ในปี 58 มาอยู่ที่ 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลดลง 6 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลจากการคาดการณ์ครั้งก่อน สำหรับในสัปดาห์นี้ทางเทคนิคราคาน้ำมันดิบ Brent มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ 106.8-110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ WTI แนวรับแนวต้านอยู่ที่ 101.7-104.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบ Dubai แนวรับแนวต้านอยู่ที่ 104.1-107.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงโดยได้รับผลกระทบจากโรงกลั่นน้ำมันในสหรัฐฯ หยุดดำเนินการหลายแห่ง อาทิ Coffeyville (115 KBD) ในรัฐ Kansas ขณะที่โรงกลั่นในยุโรปลดอัตราการเดินเครื่อง อย่างไรก็ตาม ฝรั่งเศสมีความต้องการเพิ่มขึ้นเพื่อเก็บปริมาณสำรอง สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 112.7-115.9 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล สัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากล่าสุดปริมาณสำรองดีเซลเชิงพาณิชย์บริเวณ Amsterdam-Antwerp-Rotterdam (ARA) สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 31 ก.ค. 57 ลดลงมาอยู่ที่ 19.62 ล้านบาร์เรลต่อวัน เป็นการหยุดสถิติเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 12 สัปดาห์ นอกจากนี้อียิปต์ออกประมูลซื้อในตลาดจรหลังจากไม่ได้เข้าสู่ตลาดจรมาตั้งแต่ต้นปี สำหรับทางเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 117.1-120.3 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ